ปัจจุบันร้าน Too Fast To Sleep พื้นที่ที่นิสิต นักศึกษาใช้อ่านหนังสือยามค่ำคืน เพราะว่าเปิด 24 ชั่วโมง มีทั้งหมด 4 สาขา ประกอบด้วย สามย่าน, ศาลายา, เกษตร และสยามสแควร์ แต่มีเพียงสาขา Too Fast To Sleep.SCB ที่เปิดใหม่ที่สยามสแควร์ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับ Too Fast Too Sleep ที่ทำหน้าที่บริหาร เพียงสาขาเดียวเท่านั้น ที่ คุณเอนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้งหวังว่า จะไม่ขาดทุน ที่เหลือ 3 สาขาก่อนหน้านี้นั้น ล้วนแล้วแต่ขาดทุนรวมแล้ว 3-4 แสนบาทต่อเดือน แต่เขากลับรู้สึกภูมิใจและสนุกกับธุรกิจนี้เหลือเกิน
เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าอินไซต์ของตัวเองว่า “ผมมาเรียนหนังสือตอนแก่ ก็เลยเห็นปัญหาของคนไทยว่าไม่มีที่อ่านหนังสือหลัง 4 ทุ่ม เพื่อนบางคนต้องเช่าโรงแรมอ่าน สมัยผมเป็นเด็ก ต้องนอนตอน 3 ทุ่ม ตื่นตี 5 มาอ่านหนังสือ แต่เด็กสมัยนี้อ่านหนังสือถึงตี 5 ตื่นไปเรียนตอน 9 โมงเช้า มีคนบอกผมว่าผมทำแบบนี้เท่ากับส่งเสริมไลฟ์สไตล์แบบนี้ ไม่ต้องส่งเสริมหรอก ผมก็เห็นเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ที่ทำที่แบบนี้ขึ้นมา เด็กๆ จะได้ไม่ต้องไปอ่านหนังสือกันที่อื่น มาอ่านที่นี่สว่างๆ มีกล้องวงจรปิด ผมเห็นเด็กมันดูหนังสือ ผมก็มีความสุข เพราะคิดว่าพวกนี้เหมือนลูกของผม เราช่วยคนทั้งประเทศไม่ได้ เราก็ช่วยเด็กให้มีที่อ่านหนังสือ”
Pain Point ที่เป็นที่มาของธุรกิจนี้เกิดจากนักศึกษาที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ หรือทำรายงานตอนกลางคืน แต่ไม่มีพื้นที่ ห้องสมุดก็ปิดตั้งแต่ 20.00 หรือ 21.00 น. อีกทั้งไม่สามารถคุย, ทานอาหารได้ Too Fast To Sleep จึงถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2554 โดยใช้เวลาแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วในคอมมูนิตี้ของนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมเรื่อยๆ และมีร้านกาแฟหลายร้านเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตามมา
“ผมจำได้ ผมเปิดวันที่ 10 มกราคม แค่ 2 วันเท่านั้นอ่ะ วันที่ 12 นี่เด็กมานั่งที่บันไดเต็มไปหมดแล้วนะ”
ถ้าหากว่าลูกค้าจำนวนมากขนาดนี้ ทำไมเจ้าของถึงบอกว่า “ขาดทุน”?
เหตุผลก็เพราะที่นี่ไม่จำกัดว่าลูกค้าต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ รวมทั้งไม่จำกัดเวลาในการใช้บริการ บางคนกาแฟหรือน้ำขวดเดียวก็นั่งได้ทั้งวัน ในขณะที่ต้นทุนของร้านมีทั้งเรื่องค่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงานที่มี 4 คนต่อกะ ทั้งหมด 3 กะ ต่อวัน ซึ่งต่อให้มีลูกค้ามากกว่านี้ หรือพื้นที่ขนาดต่างกัน คุณเอนกก็บอกว่าจะใช้คนเท่านี้ “ผมก็มีมาตรฐานของผม คนที่มาใช้บริการที่นี่เขาไม่ได้มาแบบคาดหวังว่าจะเสิร์ฟแบบรีบๆ แปบๆ คุณนั่งนานอยู่แล้ว คุณก็รอแปบหนึ่ง พนักงานผมก็ตั้งใจเต็มที่ เราก็มีระบบเรียกลูกค้า เวลาที่กาแฟ หรืออาหารได้แล้ว คุณก็เดินมารับ” นี่คือความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของลูกค้าที่แท้จริง
Too Fast To Sleep.SCB สาขาสยามสแควร์ที่เพิ่งเปิดล่าสุดนี้ เป็นสาขาแรกที่เจ้าของคิดว่าจะไม่ขาดทุน ด้วยที่จอดรถที่กว้างขวาง มีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่ยังมีคนทำงานด้วย ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ที่ผ่านมาแม้แต่สาขาที่เกษตร ซึ่งมีพื้นที่ถึง 5,000 ตารางเมตร แต่เมื่อปิดเทอมก็เงียบกริบ มีผู้มาใช้บริการน้อยมาก กระทั่งเปิดเทอมก็จะกลับมาเต็มอีกครั้ง จนทำให้เมื่อเฉลี่ยทั้งปียังขาดทุนอยู่ดี สำหรับสาขาล่าสุดนี้ทาง Too Fast To Sleep ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องพื้นที่ เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งใจยกพื้นที่ที่ตอนนี้ไม่ได้ใช้งานให้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ตามกฎของแบงก์ ที่ไม่สามารถหารายได้ทางอื่นได้นอกจากบริการทางการเงิน แบงก์จึงเรียกเก็บค่าเช่าโดยตรงไม่ได้ จนเกิดเป็นดีลที่ทางแบงก์ใช้ความร่วมมือในครั้งนี้เพียงแค่หวังสร้างปฏิสัมพันธ์กับประสบการณ์การใช้งานดิจิทัล แบงก์กิ้ง กับการจับจ่ายในรูปแบบ Cashless เท่านั้น ด้วยค่าใช้จ่ายเรื่องที่ที่น้อยลงกับลูกค้าที่ไม่มีเรื่องเวลามาจำกัด Too Fast To Sleep สาขานี้จึงเป็นสาขาแรกที่คุณเอนกเชื่อว่าจะสร้างกำไร โดยหวังกำไรอยู่ที่ “น่าจะมากกว่าฝากธนาคารไว้มั้ง”
“เดิมผมนี่ติดอันดับ Top Spending ของเซ็นทรัลนะ ช็อปปิ้งเดือนละ 7 หลัก บัตรเครดิตวงเงิน 8 หลักปรากฏว่าตั้งแต่มาเปิด Too Fast To Sleep ไม่มีเวลาช็อปปิ้งเลย ดังนั้นสำหรับผมขาดทุนเดือนละ 3-4 แสน เท่ากับได้กำไรตั้ง 6-7 แสน เมียผมชอบมากเลย ประหยัดไปตั้งเยอะ แล้วมันมีเคสที่เด็กบางคนเรียนจบเพราะมานั่งที่นี่ มีเด็กอยู่คนหนึ่งเขาอยู่ในบ้านที่ขนาดแค่ 4×4 เมตร อยู่กัน 5 คน ตอนกลางคืนเขาไม่มีที่นอน เขามาขอกับพนักงานของเรา ขอให้เขามาอ่านหนังสือได้ไหม แต่เขาไม่มีเงินซื้อของนะ พนักงานผมก็ให้ เขามาแบบนี้ทุกวันนั่งจนถึงตีห้าแล้วก็กลับ จนในที่สุดเขาเรียนจบ เขาก็กลับมาขอบคุณพนักงานของผม นี่เป็นเคสที่ผมดีใจมากที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่งั้นตอนกลางคืนเขาต้องไปอยู่ข้างถนน หรือไปทำอะไรไม่ดี”
ธุรกิจส่วนตัวของคุณเอนกนอกเหนือจากร้าน Too Fast To Sleep ประกอบไปด้วย เครื่องมือกสิกรรรม เช่น จอบ เสียม ซึ่งเป็นธุรกิจของคุณพ่อ ส่วนของตัวเขาเองมีทั้ง Wrap ห่ออาหาร แบรนด์ M Wrap (MMP) กับธุรกิจสังกะสี และธุรกิจอะไหล่ ส่วนเรื่องของครอบครัว เขามีลูกสาว 4 คน ทั้งนั้นเมื่อช็อปปิ้งกระเป๋าแบบเหมา Shelf จึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่า เพราะลูกสาวและภรรยาผลัดกันใช้จนคุ้ม
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep นักธุรกิจที่ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ พูดถึงว่า “ประเทศไทยต้องการคนบ้าแบบนี้”