HomeBrand Move !!ถอดบทเรียน “เมโทร มอลล์” ปรับกลยุทธ์ ผนึกแบรนด์ยักษ์ เพิ่มมูลค่าขุมทรัพย์ค้าปลีกใต้ดิน

ถอดบทเรียน “เมโทร มอลล์” ปรับกลยุทธ์ ผนึกแบรนด์ยักษ์ เพิ่มมูลค่าขุมทรัพย์ค้าปลีกใต้ดิน

แชร์ :

ตามสถานีรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ของโลก จะมุ่งบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างรายได้หลากหลายทาง นอกเหนือจากค่าโดยสาร หนึ่งในนั้นคือ “การบริหารพื้นที่ค้าปลีก” ที่เปิดให้แบรนด์สินค้า-บริการน้อยใหญ่เข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้าให้กับคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า และคนที่ใช้ชีวิตอยู่รอบสถานีนั้นๆ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“รถไฟฟ้าใต้ดิน” ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน “บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” (BEM) ได้ตั้งบริษัทลูกคือ “บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส จำกัด” (BMN) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT (สายสีน้ำเงิน) ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อโฆษณา ทั้งบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 18 สถานี และภายในขบวนรถไฟฟ้า 19 ขบวน, บริการให้เช่าพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และ ให้เช่าพื้นที่ร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้า MRT ภายใต้ชื่อ “เมโทร มอลล์” (Metro Mall) ตามแผนจะเปิดให้บริการ 11 สถานี คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 14,000 ตารางเมตร โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 7 สถานี และภายในปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง

ย้อนรอย “เมโทร มอลล์” ค้าปลีกรถไฟใต้ดินแรกของไทย

หากย้อนกลับไป “เมโทร มอลล์” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2548 ขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารโดยบริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ก่อนที่ในปี 2551 ทั้ง 3 บริษัทย่อยในเครือ BMCL ประกอบด้วย “เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเม้นท์” – “บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค” และ “ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์” ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน พร้อมจัดตั้งเป็น “BMN” ในปัจจุบัน

“เมโทร มอลล์” เปิดให้บริการสถานีแรกคือ “สุขุมวิท” จุดประสงค์หลักนอกจากบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า และผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณรอบสถานี เช่น อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียมโดยรอบ ในการหาซื้อของกินของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

เวลานั้น “ค้าปลีกรถไฟใต้ดิน” ถือเป็นมิติใหม่ของวงการค้าปลีกในบ้านเรา โดยขณะนั้นมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมาย ทั้งเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ กลุ่มธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน เชนร้านหนังสือ ร้านอาหาร-เครื่องดื่มชื่อดัง ต่างให้ความสนใจจับจองพื้นที่ใน “เมโทร มอลล์” ด้วยหวังว่าจะได้ฐานลูกค้ามหาศาลที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า MRT และรถไฟฟ้า BTS เนื่องจากสุขุมวิทเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสองระบบ

แต่เมื่อเปิดให้บริการ…ปรากฏว่า “เมโทร มอลล์” กลับไม่ได้การตอบรับจากคนเดินทาง เหตุที่เป็นเช่นนั้น มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ

“เมโทร มอลล์” เปิดตัวหลังจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ดำเนินการเดินรถ 1 ปี ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ MRT จำนวนผู้โดยสารยังน้อย เนื่องจากโดยธรรมชาติของคมนาคมขนส่งมวลชนระบบใหม่ ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคย และสร้างพฤติกรรมการเดินทางระบบใหม่ให้กับผู้บริโภค

– ที่ตั้งของ “เมโทร มอลล์” สถานีสุขุมวิทแยกออกมาเป็นสัดส่วน และอยู่ในมุมหลบ ไม่ใช่ทางผ่านของคนที่เดินทางเข้า-ออกโดยรถไฟฟ้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางรถไฟฟ้าที่เร่งรีบ ไม่มีเวลาเดินเลี้ยวออกไปเพื่อแวะซื้อของ

จุดที่ตั้งของเมโทร มอลล์ แตกต่างจากค้าปลีกรถไฟใต้ดินของเมืองใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่นั่นสถานีรถไฟฟ้า เชื่อมต่อเข้าอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ในขณะที่พื้นที่ค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดิน ร้านค้าต่างๆ ตั้งในจุดทางผ่านที่คนสัญจรไปมา ทำให้สะดวกต่อคนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า หรือคนที่อยู่ในอาคารสำนักงาน หรือมาศูนย์การค้า สามารถซื้อสินค้าได้ทันที

“ตอนที่เปิดสุขุมวิทช่วงแรกๆ เมโทรมอลล์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจำนวนผู้โดยสารยังไม่มาก และจุดที่ตั้งเมโทร มอลล์ สถานีสุขุมวิทอยู่ในพื้นที่หลบ เพราะฉะนั้นการจะทำให้ผู้ที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าเข้ามาใช้บริการเมโทร มอลล์ ต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคย สร้างพฤติกรรม

ส่วนกรณีที่เมโทร มอลล์บางสถานี ติดกับศูนย์การค้าใหญ่ เรามองว่ายิ่งติดศูนย์การค้า ยิ่งดี เพราะเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากจะทำให้ Traffic ของคนใช้รถไฟฟ้าหมุนเวียนต่อวันเพิ่มขึ้น เมื่อคนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ย่อมสร้างโอกาสเพิ่มฐานลูกค้าให้กับเมโทร มอลล์เช่นกัน” คุณณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด เล่าถึงปัญหาเมโทร มอลล์ในเวลานั้น

ลงทุนระยะยาว รองรับการขยายตัวในอนาคต

แม้สถานีแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เพื่อเป็นไปตามแผนการลงทุน ยังคงทยอยเปิด “เมโทร มอลล์” แห่งใหม่ในสถานีต่างๆ ต่อไป ผลปรากฏว่าในปี 2551 ที่ขณะนั้นเปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี คือ สุขุมวิท, พหลโยธิน, จตุจักร ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ มีคนใช้บริการ 8 – 10% ในแต่ละสถานีจากจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินต่อวันเฉลี่ย 200,000 ราย

ประกอบกับเจอปัจจัยร้านค้าหลายรายยกเลิกสัญญาเช่า ส่งผลให้บางสถานีมีพื้นที่ว่าง ขณะเดียวกันร้านค้าที่เหลืออยู่ ก็ไม่ตอบโจทย์ผู้สัญจรไปมา จึงทำให้ไม่ดึงดูดให้คนเข้ามาจับจ่าย

อย่างไรก็ตาม “BMN” ยังคงเดินหน้าเปิด “เมโทร มอลล์” ต่อเนื่อง เพื่อให้ครบ 11 สถานีตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะมองว่าเป็นการลงทุนและพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกสำหรับอนาคต เนื่องจากต่อไปเมืองจะขยายตัว และวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ จะไปในทิศทางเดียวกับคนในเมืองใหญ่ของโลก เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ที่เร่งรีบ และรถไฟฟ้ากลายเป็นระบบคมนาคมหลักของคนเมือง

อย่างทุกวันนี้ระบบคมนาคมขนส่งมวลชน “รถไฟฟ้า” เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตคนเมืองไปแล้ว สะท้อนได้จากจำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ MRT เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติล่าสุดของเดือนมิถุนายน 2560 จำนวนผู้โดยสายรถไฟใต้ดิน MRT เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 287,000 คน โดย 5 อันดับสถานีที่มีคนสัญจรมากสุด คือ

1. สถานีสุขุมวิท อัตราการเข้า-ออกสถานี 80,000 – 90,000 คนต่อวัน
2. สถานีพระราม 9 อัตราการเข้า-ออกสถานี 50,000 คนต่อวัน
3. สถานีเพชรบุรี อัตราการเข้า-ออกสถานี 40,000 คนต่อวัน
4. สถานีจตุจักร อัตราการเข้า-ออกสถานี 40,000 คนต่อวัน
5. สถานีสีลม อัตราการเข้า-ออกสถานี 40,000 คนต่อวัน

ยิ่งปัจจุบันมี “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ที่มีผู้ใช้บริการ 30,000 คนต่อวัน ซึ่งในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ จะเปิดให้บริการสถานีเตาปูน เชื่อมต่อสถานีบางซื่ออย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสายสีม่วงเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตทั้ง “สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 ประกอบกับการมีรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เชื่อมต่อกัน จะยิ่งดึงคนเข้ามาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้า ยังตามมาด้วยการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยรอบ ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรในย่านนั้นๆ ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อมีจำนวนผู้สัญจรโดยระบบรถไฟฟ้าใต้ดินสูงขึ้น และผู้อยู่อาศัยโดยรอบสถานีต่างๆ เพิ่มขึ้น โอกาสที่ “เมโทร มอลล์” จะมีคนใช้บริการมากขึ้นตามมา

ปัจจุบัน “เมโทร มอลล์” เปิดแล้วใน 7 สถานี คือ สุขุมวิท, พระราม 9, จตุจักร, พหลโยธิน, กำแพงเพชร, คลองเตย, ศูนย์วัฒนธรรม

Photo Credit : Facebook Metro Mall Bangkok

และภายในปีนี้จะเปิดอีก 2 สถานี คือ ลาดพร้าว เป็นสถานีที่มีคนเดินทางโดยเฉลี่ย 40,000 คน ซึ่งพื้นที่ค้าปลีกในสถานีนี้ จะเปิดส่วนแรกก่อนที่บริเวณอาคารจอดแล้วจร ขนาด 2,300 ตารางเมตร โดยจับมือกับเดอะมอลล์ กรุ๊ป นำกูร์เมต์ มาร์เก็ต เปิดให้บริการ และอีกแห่ง คือ สถานีเพชรบุรี ขนาด 1,400 ตารางเมตร

“จากที่ทำการศึกษาและสำรวจบริเวณโดยรอบสถานีลาดพร้าว พบว่าด้วยทำเลที่ตั้งของสถานีที่อยู่สี่แยกรัชดา ลาดพร้าว ทำให้มีการเติบโตของแหล่งที่พักอาศัยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งสถานีนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจร รองรับรถยนต์ของผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าได้กว่า 2,000 คัน และในอนาคตจะเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า สายสีเหลือง บริษัทฯ จึงเล็งเห็นศักยภาพของสถานีนี้ในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น และผู้อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบสถานี

ขณะที่การเปิด “เมโทร มอลล์ สถานีเพชรบุรี” เป็นสถานีต่อไป เนื่องด้วยสถานีนี้มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 3 จุดที่ตั้งของสถานีเป็นจุดเชื่อมต่อ Airport Link นับเป็นจุดเริ่มต้นเดินทางไปสู่ New CBD ย่านพระราม 9 และในอนาคตจะทำทำทางเชื่อมต่อไปยังตึกสิงห์ เอสเตท (Singha Estate) และโดยรอบๆ สถานีมีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม แหล่งสถานศึกษามากมาย ร้านค้าที่จะมาเปิดให้บริการที่สถานีนี้ จึงมีทั้งสินค้าและบริการที่หลากหลาย โดยเน้นไปที่อาหาร เครื่องดื่ม และเบเกอรี่เป็นหลัก”

ทั้งนี้โมเดล MRT สถานีพระราม 9 และ เพชรบุรี มีความใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่สถานีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้ากับอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ทำให้การหมุนเวียน Traffic เพิ่มขึ้น และทำให้การเดินสะดวกขึ้น ส่งผลดีต่อค้าปลีกรถไฟใต้ดินสถานีนั้นๆ

นอกจากนี้ “BMN” อยู่ระหว่างศึกษาตลาด เพื่อเปิด “เมโทร มอลล์” อีก 3 แห่งในอนาคต คือ สถานีลาดพร้าว พื้นที่ส่วนที่สองในตัวสถานีรถไฟฟ้า ขนาด 2,000 ตารางเมตร, สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขนาด 2,000 ตารางเมตร และสถานีรัชดาภิเษก 2,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ปีนี้มีการ Renovate เมโทร มอลล์ สถานีสุขุมวิท ให้ทันสมัย เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง และมีฟรี WIFI ซึ่งการตกแต่งของสถานีนี้จะใช้เป็นต้นแบบการตกแต่งสถานีอื่นๆ ที่จะเปิดต่อ และในปีหน้าจะปรับปรุงเมโทร มอลล์ สถานีจตุจักร, สถานีพหลโยธิน เพื่อรองรับการขยายตัวของห้าแยกลาดพร้าว เพราะอนาคตรถไฟฟ้า BTS จะเชื่อมต่อจากสถานีหมอชิต มาที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ทำให้ในในปี 2561 เป็นต้นไป ห้าแยกลาดพร้าวจะเป็นทำเลมาแรง

ผนึกพันธมิตร “กูร์เมต์ มาร์เก็ต – สตาร์บัคส์ – คาเฟ่ อเมซอน – Lawson 108”

เมื่อผลจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า และการเติบโตขึ้นของชุมชนโดยรอบ ที่มีทั้งอาคารสำนักงานเปิดใหม่ โครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมผุดขึ้นมากมาย ผนวกกับอาคารสำนักงานเดิม ที่อยู่อาศัยเดิม สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ทำให้ในย่านที่รถไฟฟ้าไปถึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่โอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของ “เมโทร มอลล์” ย่อมต้องมาพร้อมกับการเข้าใจ Consumer Insight โดยที่ผ่านมา “เมโทร มอลล์” ได้ทำการสำรวจผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT เพื่อทำเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค พบว่าสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด คือ อาหารและเครื่องดื่มในรูปแบบ Grab & Go และ มีบริการห้องน้ำสะอาด

จาก Consumer Insight ดังกล่าว นำมาสู่การปรับ Tenant Mix มุ่งไปที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ในสัดส่วน 70 – 80% เนื่องจากค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้า ต้องตอบโจทย์ Daily Need เพราะค้าปลีกลักษณะนี้ไม่ได้เป็น Destination ที่ผู้บริโภคตั้งใจมาเพื่อช้อปปิ้ง แตกต่างจากศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่เป็น Destination ผู้บริโภคตั้งใจมา เพื่อซื้อสินค้าสำหรับ Weekly และ Monthly

ขณะเดียวกันใน Tenant Mix ต้องดึงแบรนด์ใหญ่เข้ามาเป็นพันธมิตรการค้า เพื่อเป็น “แม่เหล็ก” ในการดึงคนเข้ามาใช้บริการ ทำให้ปัจจุบันยอดลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ ในเมโทร มอลล์ เพิ่มขึ้นเป็น 15% ของจำนวนผู้โดยสารในสถานีนั้นๆ และคาดว่าหลังจากเปิดครบทั้ง 11 สถานีแล้ว ยอดลูกค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของจำนวนผู้โดยสารสถานีนั้นๆ

อย่างขณะนี้ “เมโทร มอลล์” เป็นพันธมิตรการค้ากับ “Lawson 108”, “คาเฟ่ อเมซอน” (Cafe Amazon) พร้อมด้วย “ฮั่ว เซ่ง ฮง ติ่มซำ” ที่ ปตท. ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ เป็นพันธมิตรทางการค้าระยะยาว โดยจะขยายสาขาในทุกๆ สถานีที่มีเมโทร มอลล์

และล่าสุดจับมือกับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” (Gourmet Market) ที่สถานีลาดพร้าว ในพื้นที่อาคารจอดแล้วจร ขนาด 2,300 ตารางเมตร ระยะเวลาสัญญา 12 ปี โดยจะเปิดให้บริการวันที่ 19 กันยายนนี้เป็นต้นไป โครงการนี้ใช้งบลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมของสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ กว่า 35 ล้านบาท เพื่อตอบสนองชีวิตคนเมืองที่ต้องการความรวดเร็ว

กูร์เมต์ มาร์เก็ตสาขานี้ ได้ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับโลเกชั่น และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเดินทางโดยรถไฟฟ้า คนที่ทำงาน และคนที่อยู่อาศัยในย่านลาดพร้าว โดยนอกจากสินค้าอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 25,000 SKUs ใกล้เคียงกับสาขาที่เปิดในศูนย์การค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ สาขานี้มีการเพิ่มกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทาน ที่ให้บริการทั้งในรูปแบบ Take away และ Dine-in มีการเพิ่มพื้นที่เคาน์เตอร์บาร์ และ Common Seats ให้ลูกค้าสามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังมีร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ร้านค้าแบบ Take Home และร้านของฝากที่ระลึกกว่า 20 ร้าน

“การพัฒนากูร์เมต์ มาร์เก็ต ในรูปแบบสแตนอโลน ภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ลาดพร้าว ใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยายการเติบโตของกูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่ตั้งเป้าเปิดปีละ 2 สาขา ไม่รวมการขยายภายใต้การเปิดโครงการใหม่ของห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ด้วยกลยุทธ์ที่ต้องการเข้าถึงลูกค้า ให้สอดคล้องกับตลาดที่มีการขยายตัว โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการสินค้าคุณภาพ โดยคาดการณ์ว่ากูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขา MRT ลาดพร้าว จะสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่าปีละ 350 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ยอดขายกูร์เมต์ มาร์เก็ตโดยรวมเติบโตขึ้นตามลำดับ” คุณชัยรัตน์ เพชรดากูล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

นอกจากนี้ การเปิด “เมโทร มอลล์ สถานีเพชรบุรี” ยังได้จับมือกับ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) พันธมิตรการค้าล่าสุดที่จะมาเปิดสาขาในสถานีนี้ ถือเป็นสตาร์บัคส์สาขาแรกในไทยที่เปิดในสถานีรถไฟฟ้า

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “เมโทร มอลล์” ได้การตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มมีแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา เช่น Lawson 108, คาเฟ่ อเมซอน, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และล่าสุดสตาร์บัคส์ จะมาเปิดที่เมโทร มอลล์ สถานีเพชรบุรี โดยทางสตาร์บัคส์ให้ความสนใจอยากเปิดในทุกสถานีที่มีเมโทร มอลล์ แต่บางจุดต้องรอเวลา เมื่อมีจำนวนผู้โดยสารพร้อมแล้ว ถึงจะทยอยเปิด เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์เมโทร มอลล์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และพัฒนาฟอร์แมตแต่ละสถานี รวมถึงมีร้านค้าต่างๆ ที่เหมาะกับผู้ใช้บริการ” คุณณัฐวุฒิ ขยายความเพิ่มเติม

นอกจากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแล้ว “เมโทร มอลล์” ยังมองไปถึงการเพิ่มร้านค้าประเภท Specialty Store ด้านสุขภาพและความงาม เพราะจากการทำสำรวจพบว่าผู้ที่เดินทางโดยรถไฟฟ้ามีความต้องการบริการดังกล่าว

สำหรับผลประกอบการ BMN ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) รายได้ของบริษัทฯ มีการเติบโตโดยเฉลี่ย 14% มีรายได้หลักมาจากธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจโทรคมนาคม ขณะที่รายได้ของปี 2560 ตั้งเป้าเติบโต 20% หรือประมาณ 600 ล้านบาท รายได้หลักยังมาจากธุรกิจสื่อโฆษณาในสัดส่วน 60% ส่วนธุรกิจโทรคมนาคม อยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ธุรกิจรีเทล จะทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 15% และในปี 2563 คาดว่ารายได้รวมของ BMN จะแตะระดับ 1,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มาจากธุรกิจรีเทล 20%


แชร์ :

You may also like