HomeBrand Move !!“ทิปโก้” แตกเพื่อโต เสริมพอร์ตด้วย “ทิปโก้ บีท” ท้าชน “เมจิ” ในตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีน

“ทิปโก้” แตกเพื่อโต เสริมพอร์ตด้วย “ทิปโก้ บีท” ท้าชน “เมจิ” ในตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีน

แชร์ :

ทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารทั่วโลก ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่ World Mega Trend นั่นคือ การพัฒนาสินค้าตอบโจทย์สุขภาพ เช่นเดียวกับผู้ผลิตในไทย อย่างเวลานี้สองค่ายใหญ่ปักธงในตลาดน้ำผลไม้มานานอย่าง “ทิปโก้” และ “มาลี กรุ๊ป” ต่างเดินหน้ากลยุทธ์แตกเพื่อโต ด้วยการขยายพอร์ตโฟลิโอ ให้สินค้ามีความหลากหลาย โดยกำหนด Direction ชัดเจนมุ่งพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพ และมีคุณค่าด้านโภชนาการ เพื่อให้เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และผลไม้กระป๋องเพื่อส่งออก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กางพอร์ตโฟลิโอ จากน้ำผลไม้ – น้ำแร่ สู่ เครื่องดื่มไฮโปรตีน

ปัจจุบัน “บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)” แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ขาใหญ่ คือ หนึ่ง กลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค (Consumer Product) ประกอบด้วย ธุรกิจเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำผลไม้ ภายใต้แบรนด์ทิปโก้, น้ำแร่ออร่า, เครื่องดื่มเกลือแร่ทิปโก้ เวฟ
ธุรกิจค้าปลีก (ร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ได้แก่ ร้านอาหาร August Organic Eatery เป็นร้านอาหารแนว Organic Fusion, ร้าน Squeeze Juice Bar, ร้าน Homsuwan Pina Pina เป็นร้านขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบคือสับปะรดทิปโก้ หอมสุวรรณ

สอง กลุ่มธุรกิจ B2B (Business Product) ประกอบด้วย ธุรกิจสารสกัด ดำเนินการภายใต้บริษัท ทิปโก้ไบโอเท็ค จำกัด วิจัยและพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติ ทั้งพืช และสมุนไพรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ GMP โดยให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การอบแห้ง บดเป็นผง และผลิตเป็นสารสกัด ขณะที่อีกหนึ่งธุรกิจคือ ธุรกิจเกษตร ส่งออกผลไม้บรรจุกระป๋องไปยังตลาดต่างประเทศ

เมื่อปีที่แล้วรายได้รวมของทิปโก้ฟูดส์ อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 40% มาจากธุรกิจเกษตร (ผลไม้กระป๋องส่งออก) และอีก 40% มาจากธุรกิจเครื่องดื่ม โดยหลักยังคงเป็นน้ำผลไม้ทิปโก้ และน้ำแร่ออร่า

ยุทธศาสตร์การดำเนินของทั้งขาธุรกิจสินค้าสำหรับผู้บริโภค และธุรกิจ B2B มุ่งพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ World Mega Trend นั่นคือ เรื่องสุขภาพ นี่จึงเป็นที่มาของการคลอดโปรดักต์น้องใหม่ “ทิปโก้ บีท” (Tipco Beat) เครื่องดื่มไฮโปรตีน สกัดจากถั่วเหลือพีสีเหลือง

เครื่องดื่มไฮโปรตีน เริ่มต้นยังน้อยนิด แต่โอกาสมหาศาล

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในตลาดโลก เข้าสู่ยุค Fragment มากขึ้น ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ในตลาด โดยเฉพาะที่ตอบรับแนวโน้ม Healthy Lifestyle อย่างเวลานี้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม “ไฮโปรตีน” (High Protein) ขยายตัวทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2017 – 2021 สินค้าในหมวดนี้จะเติบโต 10.56%

ขณะที่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มไฮโปรตีนในไทย กำลังเป็นเทรนด์มาแรงเช่นกัน และเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันสูงขึ้น เป็นผลมาจากผู้เล่น ทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการ SME ทยอยตบเท้าเข้าสู่ตลาด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ไฮโปรตีนเติบโตทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วยนั้น เนื่องจากคนหันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นฟิตเนส โยคะ วิ่ง หรือออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ไฮโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ไฮโปรตีน ในหมู่คนออกกำลังกายคุ้นเคยในรูปแบบ Whey Protein เป็นโปรตีนแบบผงที่สกัดจากนมวัว กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว “ซีพี-เมจิ” มองเห็นโอกาสธุรกิจจากการเติบโตของเทรนด์ออกกำลังกาย และการพิถีพิถันเลือกอาหารการกิน ที่มุ่ง Lean & Clean จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ โปรตีนสูง “เมจิ ไฮโปรตีน” เพื่อเจาะกลุ่มคนออกกำลังกาย

ล่าสุด “ทิปโก้” หลังจากเมื่อไม่นานนี้เปิดตัวเครื่องดื่มเกลือแร่ทิปโก้ เวฟ เกาะเทรนด์การออกกำลังกาย ในที่สุดได้คลอดโปรดักต์น้องใหม่ “ทิปโก้ บีท” เป็นเครื่องดื่มไฮโปรตีน ที่สกัดจากถั่วพีสีเหลือง (ถั่วลันเตา) เข้ามาชิงชัยในตลาด ซึ่งขณะนี้ยังมี “กลุ่มดัชมิลล์” ที่ส่ง 2 แบรนด์ลุยตลาดพร้อมกัน คือ “ดัชมิลล์ เวย์โปรตีน” และ “ดีน่า แบล็ค ไฮโปรตีน นมถั่วเหลือง”

ส่งผลให้การแข่งขันเครื่องดื่มกลุ่มไฮโปรตีน ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวม 360 ล้านบาทดุเดือดขึ้นทันที! โดยปัจจุบัน “เมจิ” ครองบัลลังค์ผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 90% และแม้มูลค่าตลาดในขณะนี้ยังน้อยอยู่ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น แต่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเฉลี่ย 15 – 20% ต่อปี และคาดว่าในปี 2560 ตลาดรวมจะขยับเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท ขณะที่ภายใน 3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มขยับแตะระดับไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

“ทิปโก้ บีท” สร้างความต่างด้วย “ถั่วพีสีเหลือง”

เมื่อตลาดมีการแข่งขันสูง และมีแบรนด์ใหญ่อยู่ในตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง “ความแตกต่าง” ให้กับผลิตภัณฑ์ และแบรนด์
การเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มไฮโปรตีนของทิปโก้ บีท จึงเลือกแตกต่างด้วยการเป็น Plat Protein หรือโปรตีนที่มาจากพืช โดยสกัดจากถั่วลันเตา หรือถั่วพีสีเหลือง ปลูกที่ประเทศแคนาดา โดยวางกลุ่มเป้าหมายอายุ 20 – 45 ปี ที่รักสุขภาพ รักการออกกำลังกาย เลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตัวเอง และมองหาเครื่องดื่มที่เหมาะกับการออกกำลังกาย

โดยในปีแรกของการทำตลาด เน้นสร้างความรู้-ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ และคุณประโยชน์ของถั่วพีสีเหลือง นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว “น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์” พรีเซนเตอร์ทิปโก้ บีท เพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่มี Attitude สตรอง มั่นใจ ต้องการสู้เพื่อเอาชนะตัวเองให้ได้มาเพื่อสิ่งที่ตนเองต้องการ

พร้อมทั้งสื่อสารครบ 360 องศาในทุกสื่อ ทั้ง Above the line, Online และ Below the line พร้อมทั้งจัดกิจกรรมโรดโชว์ และ Sampling ตามสถานที่ออกกำลังกาย อีกทั้งร่วมสนับสนุน ส่งเสริมด้านกีฬาในการทำกิจกรรมกับกลุ่มนักออกกำลังกายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค

ส่วนช่องทางจำหน่าย ในช่วง 3 เดือนแรกที่วางตลาด มีจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่น ราคา 35 บาท ขนาด 250 มล. และหลังจากนั้น จะปูพรมเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต และเชนร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั่วประเทศ

โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีนับจากนี้ มียอดขาย 250 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาด 30%

“ภายใน 3 ปีข้างหน้า เราจะมีเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกายมากขึ้น รวมทั้งในอนาคต จะทำสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้น จากปัจจุบันเราทำเพื่อส่งออกให้กับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ญี่ปุ่น แต่ต่อไปเรามีแผนต่อยอด โดยนำสารสกัดที่วิจัยและพัฒนาได้ มาเพิ่ม Value ให้กับสินค้าใหม่ๆ ที่จะพัฒนาเป็น Functional Food – Functional Drink” คุณเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายถึงยุทธศาสตร์ธุรกิจในอนาคต

การต่อยอด และขยายพอร์ตโฟลิโอ ทำให้นับจากนี้ “ทิปโก้” ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่การเป็นแบรนด์น้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋องเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ได้สร้าง Value Chain ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การวิจัย-พัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติ ต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่างๆ และมีหน้าร้านของตนเอง ผนวกกับพาร์ทเนอร์ช่องทางค้าปลีก เพื่อส่งมอบ “คุณค่าจากธรรมชาติและสุขภาพ” ให้กับผู้บริโภค


แชร์ :

You may also like