HomeBrand Move !!“ทิปโก้ – มาลี” รุกธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพ ก้าวใหญ่ที่เป็นมากกว่าน้ำผลไม้

“ทิปโก้ – มาลี” รุกธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพ ก้าวใหญ่ที่เป็นมากกว่าน้ำผลไม้

แชร์ :

ความน่าสนใจของตลาดน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋องในประเทศไทย คือ มี Local Player แข็งแกร่ง โดยมีสองแบรนด์ไทยผู้นำในตลาด คือ “ทิปโก้” และ “มาลี” ที่จุดเริ่มต้นของทั้งคู่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว มาจากการเป็นผู้ผลิตผลไม้กระป๋อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ฝั่ง “ทิปโก้” ดำเนินธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดคั้น น้ำสับปะรดเข้มข้น ในขณะที่ “มาลี” เริ่มจากทำธุรกิจส่งออกผลไม้ แต่ด้วยปัญหาผลผลิตมากเกินความต้องการ จึงผันมาทำธุรกิจผลไม้กระป๋อง ก่อนทั้งสองแบรนด์จะขยายเข้าสู่ธุรกิจน้ำผลไม้

กระทั่งทุกวันนี้กลายเป็น Major Player ในตลาดน้ำผลไม้ โดยเฉพาะเซ็กเมนต์พรีเมียม (น้ำผลไม้ 100%) แม้ที่ผ่านมามีแบรนด์ต่างประเทศ ทั้งในแถบเอเชียด้วยกันเอง หรือแบรนด์ระดับโลก เข้ามาท้าชิง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่อาจตีตลาดได้สำเร็จ

ทว่าน้ำผลไม้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ตลาดรวมในไทยมูลค่ากว่า 13,000 – 14,000 ล้านบาท ยังคงเติบโต Single Digit หรือประมาณ 7 – 8% ต่อปี ยิ่งในปีที่แล้ว ตลาดรวมอยู่ในสถานการณ์ทรงตัว ขณะที่ปีนี้ ตลาดรวมติดลบ 7% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยรวมในไทยที่ติดลบ 2% เนื่องจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ Consumption ของเครื่องดื่มกลุ่มต่างๆ ร่วงกันระนาว

นั่นเท่ากับว่า ถ้า “ทิปโก้” และ “มาลี” ตีกรอบตัวเองอยู่เฉพาะแค่ตลาดน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง มองในระยะยาวแล้วโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศก็คงจำกัดอยู่แค่นี้ ทั้งยังไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้มากกว่าไปกว่านี้

เพราะฉะนั้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในระยะยาวได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน แผนยุทธศาสตร์ของทั้ง “ทิปโก้” และ “มาลี” กำหนดชัดเจนว่าจะไม่ตีกรอบองค์กร และแบรนด์อยู่เฉพาะตลาดน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋องอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องการ Diversify องค์กรให้เป็นมากกว่าธุรกิจน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง ด้วยการขยาย Brand-Product Portfolio ไปยังกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ Core Business เดิมของบริษัท และเป็น World Mega Trend ของทั้งฝั่งผู้ผลิต ที่เวลานี้บรรดายักษ์ใหญ่ระดับโลกชิงปักธงในธุรกิจเพื่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการมหาศาลของฝั่งผู้บริโภค ที่นับวันแนวโน้มสุขภาพ ยิ่งทวีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

มาดูอาณาจักรของทั้ง 2 ผู้ผลิตน้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องกันว่า ปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมยกระดับไปสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกันอย่างไร

ผ่าอาณาจักร “ทิปโก้”

ภายใต้อาณาจักร “บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่ปัจจุบันนอกจากดำเนินธุรกิจส่งออกผลไม้กระป๋องแล้ว ยังมี 2 กลุ่มธุรกิจใหญ่ คือ ส่วนธุรกิจสำหรับผู้บริโภค (Consumer Product) ประกอบด้วย 1. “บริษัท ทิปโก้ เอฟ แอนด์ บี จำกัด” เป็นบริษัทย่อยร่วมทุนกับบริษัท Suntory Beverage & Foods Asia ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้-น้ำผักทิปโก้ น้ำแร่ออร่า ชาพร้อมดื่มซันโทรี่ เครื่องดื่มเกลือแร่ทิปโก้ เวฟ และสินค้าน้องใหม่ล่าสุดเครื่องดื่มไฮโปรตีนทิปโก้ บีท

2. ธุรกิจค้าปลีก ดำเนินการโดย “บริษัท ทิปโก้ รีเทล จำกัด” เป็นบริษัทย่อยร่วมทุนระหว่าง บมจ. ทิปโก้ฟูดส์ และ บจก. ทิปโก้ เอฟแอนด์บี ปัจจุบันทำธุรกิจร้านค้าปลีก 3 เชน ได้แก่ Squeeze Juice Bar by Tipco, ร้านอาหาร August Urban Organic Eatery และ ร้าน Homsuwan Pina Pina ที่ใช้วัตถุดิบหลักอย่างสับปะรดทิปโก้ หอมสุวรรณ

ส่วนธุรกิจ B2B ประกอบด้วย 1. ธุรกิจสารสกัดจากพืชและสมุนไพรธรรมชาติ ดำเนินการภายใต้ “บริษัท ทิปโก้ ไบโอเท็ค จำกัด” โดยปัจจุบันยังเป็นการรับจ้างสกัดสารสกัดจากพืชและสมุนไพรตามความต้องการของลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และยา

2. ธุรกิจการเกษตร ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และการเพาะปลูก โดยผลิตภัณฑ์หลักคือ สับปะระพันธุ์หอมสุวรรณ ที่นำมาแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น น้ำสับปะรดคั้น เพื่อส่งออกต่างประเทศ และป้อนให้กับร้านค้าปลีกในเครือทิปโก้

สำหรับผลประกอบการปี 2559 มีรายได้จากการขายกว่า 5,273 ล้านบาท (ส่วนรายได้รวม 5,366 ล้านบาท) ถ้าจำแนกตามส่วนธุรกิจ รายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจเครื่องดื่ม ทำได้ 2,788 ล้านบาท ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์จากพืช ผัก ผลไม้กระป๋อง 2,394 ล้านบาท และอื่นๆ 91 ล้านบาท

แต่ถ้าจำแนกตามภูมิศาสตร์ พบว่ารายได้จากตลาดในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2,625 ล้านบาท ส่วนรายได้จากต่างประเทศ สูงกว่าธุรกิจในประเทศ โดยทำได้ 2,648 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 765 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 2/2560 มีรายได้จากการขาย 1,285 ล้านบาท กำไรสุทธิ 182 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ทำได้ 2,552 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 569 ล้านบาท

“ภายใน 3 ปีข้างหน้า เราจะมีเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกายมากขึ้น รวมทั้งในอนาคต จะทำสารสกัดจากธรรมชาติมากขึ้น จากปัจจุบันเราทำเพื่อส่งออกให้กับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ญี่ปุ่น แต่ต่อไปเรามีแผนต่อยอด โดยนำสารสกัดที่วิจัยและพัฒนาได้ มาเพิ่ม Value ให้กับสินค้าใหม่ๆ ที่จะพัฒนาเป็น Functional Food – Functional Drink” คุณเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

เปิดหลังบ้าน “มาลีกรุ๊ป”

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา “บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” หรือชื่อเดิม “มาลีสามพราน” ได้ปรับองค์กรภายใน และวางยุทธศาสตร์ขยายอาณาจักรแห่งนี้ พร้อมกำหนดเป้าหมายชัดเจนต้องการเป็น “ผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก” ภายในปี 2564

ปัจจุบันอาณาจักร “มาลีกรุ๊ป” เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แบ่งธุรกิจออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ 1. ธุรกิจภายใต้แบรนด์สินค้าของมาลีกรุ๊ป เช่น เครื่องดื่มน้ำผัก-น้ำผลไม้ ภายใต้แบรนด์มาลี ที่ขยายโปรดักต์ไลน์ในหลายเซ็กเมนต์, นมยูเอชที และพาสเจอร์ไรส์ตราฟาร์มโชคชัย, ธุรกิจผลไม้กระป๋อง มีทั้งแบรนด์มาลี, เฟริสช้อยส์ และชาวสวน

2. ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญา และรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing หรือ CMG) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นอกจากนี้มี “บริษัท มาลีเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด” เป็นบริษัทย่อยดูแลด้านการตลาดและจัดจำหน่ายภายในประเทศทั้งหมด อีกทั้งยังร่วมทุนกับ Monde Nissin Corporation ประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งบริษัท “Monde Malee Beverage Corporation” เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ ปัจจุบันมีสินค้าออกมาแล้ว 2 ผลิตภัณฑ์ คือ กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม และเจลลี่ ซึ่งผลิตในไทย และส่งไปจำหน่ายในฟิลิปปินส์

รวมถึงการร่วมทุนกับ บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) เปิด “บริษัท เมก้า มาลี จำกัด” พัฒนาธุรกิจใหม่ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งจัดตั้ง “บริษัท มาลี แอพพลาย ไซเอ็นซ์ จำกัด” ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ

ล่าสุดได้ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์มาลี น้ำผลไม้ 100% จากในอดีตดีไซน์ สำหรับตลาดไทย แต่ดีไซน์ใหม่นี้ ได้จับมือกับ World-class Designer ทำวิจัยและพัฒนาดีไซน์บรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด Grow With Love เป็นการออกแบบเพื่อรองรับตลาดทั่วโลก รวมทั้งได้ปรับลด SKU ที่ได้รับความนิยมน้อยลง 20% ช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการได้ง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนคนรู้จักเรา ในนามน้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง ทำให้การออกสินค้าจำกัดอยู่แค่สินค้าสองกลุ่ม แต่ขณะนี้เราวางตัวเองเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยแบรนด์มาลี เป็น Corporate Brand ขณะเดียวกันเราจะมี Product Brand ทยอยออกมา โดยภายในปีนี้ จะเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่ม Nutrient” คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับผลประกอบการปี 2559 “มาลีกรุ๊ป” ทำรายได้จากการขาย 6,542 ล้านบาท (รายได้รวม 6,578 ล้านบาท) กำไรสุทธิ 530 ล้านบาท ถ้าจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ กว่า 3,578 ล้านบาท มาจากธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญา และรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing หรือ CMG) และรายได้อีก 2,964 ล้านบาท มาจากแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง แต่ถ้าจำแนกตามภูมิศาสตร์ มูลค่าการจำหน่ายในประเทศ อยู่ที่ 3,978 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61% และมูลค่าการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ อยู่ที่ 2,563 ล้านบาท คิดเป็น 39%

ส่วนไตรมาส 2/2560 มียอดขายรวม 1,370 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ทำได้ 2,885 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายตามประเภทธุรกิจ 1,308 ล้านบาท มาจากแบรนด์สินค้าของบริษัทฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% และอีก 1,577 ล้านบาท มาจากธุรกิจ CMG คิดเป็นสัดส่วน 55%

ถ้าแบ่งยอดขายตามภูมิศาสตร์ของไตรมาส 2/2560 พบว่ายอดขายในประเทศ 1,672 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58% ขณะที่ยอดขายจากต่างประเทศ 1,213 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42%

จากแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจ และตัวเลขผลประกอบการดังกล่าว สะท้อนได้ว่าต่อไปนอกจากตลาดในประเทศแล้ว การขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ นับว่ามีความสำคัญสำหรับ “ทิปโก้” และ “มาลี” ซึ่งต่อไปตลาดต่างประเทศ จะกลายเป็นฐานใหญ่กว่าในประเทศ และที่สำคัญการยกระดับสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นั่นหมายความว่าในอนาคตเราจะได้เห็นสองบริษัทสัญชาติไทย ก้าวขึ้นไปปักธงแบรนด์ และสินค้าไทยบนเวทีโลก

 

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like