HomeBrand Move !!เปิดกลยุทธ์กรุงศรี สู้ศึก Mobile Banking ส่งแอพฯ KMA โฉมใหม่เหนือและครบกว่าทุกค่าย 

เปิดกลยุทธ์กรุงศรี สู้ศึก Mobile Banking ส่งแอพฯ KMA โฉมใหม่เหนือและครบกว่าทุกค่าย 

แชร์ :

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงการเงินการธนาคาร มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนา Mobile Banking Application อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับนวัตกรรม และฟีเจอร์ต่างๆ ในการใช้งาน เพื่อสามารถเติมเต็มความต้องการและเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งกว่าเดิม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เผยโฉมใหม่ของ Krungsri Mobile Application (KMA) ที่ทุ่มทุนหลายร้อยล้านบาท พัฒนา Mobile Application ให้เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะมาตอกย้ำแนวคิดใหญ่ที่ธนาคารวางไว้ คือ “เรื่องเงิน เรื่อง่าย” หลังศึกษาพฤติกรรมการใช้งาน ความต้องการต่างๆ รวมทั้งการติดตาม Customer Journey มาโดยตลอด ทำให้มีความพร้อมในการนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาต่อยอด สอดคล้องกับโรดแมพในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารกรุงศรีได้วางไว้

คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Pain Point จากการใช้งาน Mobile Banking ของลูกค้าที่ผ่านมา มี 3 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องของความง่ายในการใช้งาน ความเร็ว รวมทั้งความครบถ้วนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากทางธนาคารที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ของธนาคารเฉลี่ย 5-6 รายการ จึงต้องการเข้าถึงทุกบริการได้ภายในจุดเดียว เป็นแนวทางในการพัฒนาแอพฯ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เข้ามาลบปัญหาดังกล่าว คือ ง่ายกว่า เร็วกว่า ครบกว่า

ซึ่งภายหลังการเปิดตัว KMA โฉมใหม่ในวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้อัพเดทภายในวันแรกถึง 5 หมื่นราย และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านรายแล้วในปัจจุบัน  ขณะที่ทางธนาคารตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ใช้งานในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 1.5 ล้านราย เติบโตจากปีที่ผ่านมากกว่าเท่าตัวที่มีจำนวนผู้ใช้งานประมาณ 7 แสนราย  พร้อมตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้งานได้ถึง 2.5 ล้านรายในปีต่อไป

“การพัฒนาแอพฯ KMA ครั้งนี้ เน้นการพัฒนาระบบให้มีความเสถียร ปลอดภัย รองรับปริมาณการเข้าใช้งานที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาระบบให้สามารถทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะพัฒนาเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ อาทิ AI, Robo Advisor, Digital Lending และMobile Payment ที่เตรียมนำเสนอตามมาภายในสิ้นปีนี้”

ขณะที่จำนวนธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้งานพบว่ามีแนวโน้มเติบโตเกือบเท่าตัวอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณ Transaction โดยรวมปีที่ผ่านมา 176 ล้านรายการ และคาดจะเพิ่มเป็น 350  ล้านรายการในปีนี้ และ 650 ล้านรายการในปีหน้า โดยเฉพาะการเช็คยอด ที่มีการเข้าใช้งานสูงถึง 120 ล้านครั้ง  โดยคาดจะเพิ่มได้ถึง 250 ล้านครั้ง เพราะลูกค้าจะทำการเช็คยอดทุกครั้งก่อนทำรายการอื่นๆ ทำให้ KMA จะโชว์ยอดคงเหลือให้เห็นทันที เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้ายิ่งขึ้น

นอกจากธุรกรรมทางด้าน Banking ยังมีพฤติกรรมการใช้งานด้านอื่นๆ ที่ล้วนเติบโตเช่นกัน ทั้งธุรกรรมของบัตรเครดิต ซึ่งเติบโตสูงถึง 183%  สินเชื่อรถยนต์เติบโต 61% กองทุนรวมเติบโต 60% และสินเชื่อส่วนบุคคล เติบโต 41%  จึงเป็นแนวทางในการพัฒนา KMA ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เร็ว และมีบริการอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งตอบโจทย์การใช้งานแบบ Personalization  เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้ตามต้องการ โดยที่ทุกเมนูจะอยู่ภายในหน้าเดียวกัน รวมทั้งความสะดวกที่มากกว่า เพราะสามารถเรียกดูรายการเดินบัญชีทุกประเภทที่มีอยู่รวมกันภายในแอพเดียว

“กรุงศรีจะเพิ่มความเหนือกว่าด้วยบริการต่างๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning  มาใช้เป็น Chatbot เพื่อช่วยตอบคำถามผู้ใช้งานได้ทั้งแบบ Text และ Voice รวมทั้งการให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนให้แก่ลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในมิติของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้าน Digital Lending เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถยื่นสมัครสินเชื่อและบัตรเครดิต ทั้งการส่งใบสมัคร ยื่นหลักฐาน ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร และทราบผลการอนุมัติได้ทันทีภายในแอพ ซึ่งจะเป็นบริการที่จะเสริมเข้ามาภายในสิ้นปีนี้”

ขณะที่การพัฒนา QR Code เพื่อรองรับ E-Payment สอดคล้องกับนโยบายในการผลักดันไปสู่ Cashless Society ซึ่งมีอยู่ในเมนูหลักของ KMA เรียบร้อยแล้ว และเตรียมพัฒนาฟีเจอร์สำหรับร้านค้าให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ขณะที่เทคโนโลยี Cardless ATM จะเพิ่มระบบความปลอดภัยเป็นแบบ Double Layer ด้วยการแสดงตัวตนผ่านการยืนยันจาก QR Code ที่หน้าตู้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้งานให้ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

การปรับตัวในธนาคารกรุงศรีในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในการแข่งขัน ที่รุนแรงและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ Landscape ทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมาสู่การเป็น Mobile Platform  ขณะทีเม็ดเงินในการลงทุนจะย้ายจาก Physical ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสาขาหรือตู้เอทีเอ็ม มาเป็นการใส่เม็ดเงินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทดแทน โดยเฉพาะหากไปถึงจุดที่เป็น Cashless ได้สำเร็จ จะทำให้ต้นทุนทั้งระบบลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับค่าธรรมเนียมทางด้านการเงินต่างๆ ที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ในขณะนี้ลดลงได้เช่นเดียวกัน


แชร์ :

You may also like