เอสซีจีเดินหน้ากิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ที่จังหวัดกาญจนบุรี มุ่งสนับสนุนชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรียนรู้ต้นแบบฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ พร้อมขยายผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม พลิกฟื้นป่าแห้งแล้งให้กลับชุ่มชื้น สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน
กิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ระยะที่ 2 เป็นการสืบสานพระราชปณิธานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากที่ได้นำตัวแทนชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำที่จังหวัดลำปาง และแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีความรู้แล้วนำกลับมาดำเนินการต่อในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ชุมชนบ้านเขามุสิ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ร่วมกันพลิกพื้นที่ป่าชุมชนที่เคยแห้งแล้งเพราะการตัดไม้ รวมถึงปัญหาน้ำท่วม ด้วยการเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม เพื่อช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของป่าชุมชน
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า “ชุมชนบ้านเขามุสิเป็นชุมชนที่มีจิตใจหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างสูง ชุมชนร่วมกันปิดป่าเพื่อให้ลูกไม้โต ตั้งแต่ผู้นำรุ่นก่อน และส่งต่อมาถึงผู้นำคนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังใฝ่เรียนรู้เพื่อมาพัฒนาการดูแลทรัพยากรในชุมชนตนเอง และได้เชิญชวนให้เอสซีจีเข้ามาแนะนำเรื่องฝายชะลอน้ำ และได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำมาตั้งแต่ปี 2553 จนสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ฟื้นคืนสมดุลป่า เป็นแหล่งอาหารที่สร้างรายได้ให้ชุมชน และยังส่งต่อการดำเนินงานไปสู่กลุ่มเยาวชนในชุมชนเพื่อสานงานต่อไป ทั้งยังมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดขยายผลต่อให้ชุมชนข้างเคียงที่สนใจ สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองต่อไป”
นายเดือน คงมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขามุสิ เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขามุสิถูกรุกล้ำ ตัดไม้ ไปทำถ่าน จนกลายเป็นเขาหัวโล้นแห้งแล้ง ด้วยความกลัวว่าจะไม่มีป่าไว้ให้ลูกหลาน ผู้นำชุมชนจึงเริ่มรักษาป่าที่เหลืออยู่ ต่อมากรมป่าไม้จึงเข้ามาช่วยดูแล เมื่อไม่ตัดต้นไม้ ธรรมชาติก็เริ่มฟื้นตัว เมื่อตนได้มารับหน้าที่ดูแลต่อ จึงตั้งใจสืบทอดภารกิจพลิกฟื้นป่าชุมชน กว่า 2,860 ไร่ ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์รวมถึงคืนความชุ่มชื้นให้กับป่า
“ตอนทำฝายชะลอน้ำแรกๆ เราก็ทำตามที่เข้าใจ ลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเมื่อเอสซีจีเข้ามาให้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เรื่องการปรับระยะและความสูงของฝายให้เหมาะสมกับพื้นที่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ไปดูงานสร้างฝายชะลอน้ำกับเอสซีจีที่ลำปาง ก็ฉุกคิดตอนที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายว่า “ต้องสร้างฝายจากบนลงล่าง” เลยนำมาปรับใช้ เพราะเดิมฝายเราทำจากล่างขึ้นบน พอน้ำไหลลงมากระทบฝาย ฝายก็พัง ตอนนี้ฝายชะลอน้ำ เมื่อฝนตก ข้างล่างไม่เป็นไร ข้างบนก็อยู่ดี เพราะน้ำมันจะล้นจากข้างบนลงมา”
“ชุมชนเราสมบูรณ์ขึ้นมาก ชีวิตป่าคืนกลับมา ป่ามีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตจากป่า ชาวบ้านก็มีรายได้เสริมจากการเก็บหน่อไม้ เห็ดโคน ผักหวาน ไปขายตามฤดูกาล หรือกินกันในครัวเรือน ผลคือสามารถลดรายจ่ายลงได้ จากเคยยากจนไม่พอกินไม่พอใช้ ตอนนี้ชาวบ้านก็ออมมากขึ้น เราพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคง” ผู้ใหญ่เดือนเล่าทิ้งท้าย ด้วยความภาคภูมิใจ
ไม่เพียงแต่กลุ่มผู้นำและผู้ใหญ่ในชุมชนที่ร่วมมือร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ แต่เมล็ดพันธุ์นี้ได้ถูกปลูกลงไปในใจของยุวชนที่มาร่วมสร้างฝาย ได้เรียนรู้ สำนึกรักธรรมชาติ และถ่ายทอดชักชวนเด็กรุ่นใหม่ต่อไป
นางสาวโยทกา ไหวไว เครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่บ้านเขามุสิ เล่าว่า ตอนแรกไปร่วมสร้างฝายชะลอน้ำเพราะสนุก จึงชวนเพื่อนๆ ไปร่วมกันสร้างฝาย จากนั้นจึงค่อยๆ เรียนรู้ เห็นประโยชน์ของการสร้างฝาย ที่ส่งผลกับเรื่องใกล้ตัว อย่างปัญหาน้ำท่วมที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ป่าไม้สมบูรณ์ชุ่มชื้นมากขึ้น เธอจึงตั้งใจว่าจะช่วยสานต่องานเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อช่วยให้ชุมชนยั่งยืนสืบไป “ทำฝายก็เหมือนได้ช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็อยากอนุรักษ์ ตอบแทนป่าด้วยค่ะ เราอาศัยป่า ป่าอาศัยเรา” โยทกาเสริม
การสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชน ไม่เพียงคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ แต่เป็นการร่วมสืบสานความยั่งยืนให้กับชุมชนรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับเอสซีจีที่มุ่งมั่น “สานต่อที่พ่อทำ” น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไปเผยแพร่ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในชุมชนต่างๆ ต่อไป