HomeInsight‘เกาหลีใต้’ ไม่ได้มีดีแค่ K-pop! “อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ” ล้ำสุดในโลกแซงหน้าอเมริกา-จีน

‘เกาหลีใต้’ ไม่ได้มีดีแค่ K-pop! “อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ” ล้ำสุดในโลกแซงหน้าอเมริกา-จีน

แชร์ :

แม้จะเกิดทีหลังช่องทางซื้อขายแบบ Brick-and-mortar แต่ “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce) มีพัฒนาการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และนับวันยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้ว่าการซื้อขายสินค้าในหลายประเทศทั่วโลก เกิดขึ้นบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล” ทำวิจัยช่องทางการค้าออนไลน์ สำหรับสินค้า FMCG กว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยพบว่าพัฒนาการช่องทางออนไลน์ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

1. Early Adopter เป็นเฟสแรกที่เริ่มมีการซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ความถี่และยอดการใช้จ่ายยังไม่สูงมาก ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ เช่น เยอรมนี, สเปน, โปรตุเกส, อิตาลี

2. Mature Market มีจำนวนผู้ใช้และความถี่ในการซื้อเพิ่มขึ้นจากเฟสแรก ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ เช่น สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และจีน

3. Fully Digital เป็นเฟสที่อีคอมเมิร์ซพัฒนาไปไกลสูงสุด ประเทศที่จัดอยู่ในเฟสนี้ คือ เกาหลีใต้

“เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีการซื้อสินค้า FMCG ผ่านช่องทางออนไลน์สูงที่สุดในโลก ทั้ง Penetration อยู่ที่ 66.9% ของจำนวนครัวเรือนในประเทศ นั่นเท่ากับว่าคนที่อยู่ในเมืองทุกคน ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ขณะที่ความถี่ในการซื้ออยู่ที่ 14 ครั้งต่อคนต่อปี

ตัวเลข Penetration และความถี่การซื้อสินค้าผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง จะชี้ให้เห็นว่าคนในประเทศนั้นๆ คุ้นเคยและเชื่อมั่นกับช่องทางนั้นๆ มากเพียงใด เพราะฉะนั้นในช่องทางออนไลน์ ถ้า Penetration สูง และมีความถี่การซื้อสูง สะท้อนได้ว่าผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ มีความคุ้นเคย และเชื่อมั่นช่องทางซื้อขายดังกล่าว

จากกราฟิกภาพรวมอีคอมเมิร์ซทั่วโลกดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียมีพัฒนาการที่ไปไกลกว่าอเมริกา และยุโรป ซึ่งยังอยู่ในเฟสแรก และสองมากกว่า เพราะนอกจากเกาหลีใต้ที่ก้าวล้ำไปไกลแล้ว ประเทศญี่ปุ่น และจีนกำลังตามมาติดๆ

7 ปัจจัย ดัน “ออนไลน์ ช้อปปิ้ง” ในเกาหลีใต้พัฒนาไปไกล

สาเหตุทำให้ “เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีพัฒนาการช่องทางออนไลน์ ช้อปปิ้งล้ำหน้าไปไกล มาจาก 7 ปัจจัยหลัก คือ

1. การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization)
2. จัดส่งฟรี เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัว เพราะการจัดส่งฟรีกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น
3. ความหลากหลายของสินค้า และการทำโปรโมชั่น ในเกาหลีใต้สินค้าทุกอย่างมีขายในออนไลน์หมด
4. Internet และ Wi-Fi ขยายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านกาแฟเปิด Free Wi-
Fi นี่จึงทำให้คนเกาหลีใต้สามารถเชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
5. การขยายตัวของสมาร์ทโฟน เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากสุดแห่งหนึ่งของโลก
6. Digital Creativity มีการใส่ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ในช่องทางดิจิทัล เช่น แสง สี เสียง สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค
7. ระบบชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้การซื้อสินค้าบนออนไลน์ขยายตัว เพราะการมีระบบชำระเงินที่ดี และมีความปลอดภัยสูง จะสร้างความสะดวกให้กับทั้งผู้ซื้อและร้านค้า

จาก 7 ปัจจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซให้เติบโตทั้งหมด ไม่ใช่มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเกิดการทุกองคาพยพของประเทศ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน

สำรวจ “อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย” แค่ระดับเริ่มต้น แต่โตเร็ว

สำหรับ “ประเทศไทย” เวลานี้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ (เก็บข้อมูลเฉพาะในตลาด FMCG) จัดอยู่ในเฟส Early Adopter แต่พบว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้ง Penetration และมูลค่าตลาด

ในปี 2012 ประเทศไทยมี Penetration ออนไลน์ ช้อปปิ้งแค่เพียง 0.4% ของจำนวนครัวเรือนในไทย ในปีถัดมาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% กระทั่งไตรมาส 2/2017 เพิ่มขึ้นเป็น 9.4% ของครัวเรือนในไทยที่มีกว่า 22.2 ล้านครัวเรือน

ขณะที่ความถี่ในการซื้อสินค้า FMCG ผ่านออนไลน์ โดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อคนต่อปี ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่องทางค้าปลีกเซ็กเมนต์อื่นๆ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ความถี่การซื้ออยู่ที่ 16 ครั้งต่อคนต่อปี เชนซูเปอร์มาร์เก็ต ความถี่อยู่ที่ 10 ครั้งต่อคนต่อปี และร้านสะดวกซื้อ ความถี่ในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้อยู่ที่ 37.5 ครั้งต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตามถึงแม้ความถี่ในการซื้อสินค้าจากออนไลน์ ยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูง แต่พบว่าการซื้อในแต่ละครั้ง มียอดใช้จ่ายสูง โดยในไตรมาส 2/2017 ยอดใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 602 บาทต่อครั้ง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมของอีคอมเมิร์ซ (FMCG) พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

สังเกตได้จาก นับตั้งแต่ปี 2012 ที่มีมูลค่าแค่เพียง 67 ล้านบาท จากนั้นปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 323 ล้านบาท ปีต่อมาอยู่ที่ 660 ล้านบาท และไตรมาส 2/2017 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 3,897 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสินค้าที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากสุด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น ผ้าอ้อม, นมผงเด็ก เนื่องจากคุณแม่ลูกอ่อน ต้องเลี้ยงลูกที่บ้านทั้งวัน จึงไม่มีเวลาออกไปซื้อสินค้าเข้ามา ประกอบกับสินค้าเด็กเหล่านี้ กลุ่มคุณแม่จะมี Loyalty สูง ไม่ค่อยเปลี่ยนยี่ห้อ จึงสั่งซื้อแบรนด์ที่ซื้อเป็นประจำ

คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าถ้าตลาดออนไลน์ ช้อปปิ้งในไทย จะเติบโตมากกว่านี้ และดึงให้ผู้บริโภคไทยหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกควรกระตุ้นด้วยการจัดกิจกรรมการตลาด เช่น เทศกาลช้อปปิ้งสำหรับออนไลน์โดยเฉพาะ เช่น ในประเทศจีน มีวัน Single Day หรือวันคนโสด ที่จัดขึ้นทุกปีของวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันที่มีกิจกรรมความบันเทิงมากมายจัดขึ้นให้กับบรรดาคนโสดทั้งหลาย และยักษ์อีคอมเมิร์ซในจีน “Alibaba” ก็ได้เกาะกระแส Single Day จัดเทศกาลช้อปปิ้งบนออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยขนสินค้าและแบรนด์มากมาย พร้อมด้วยอัดโปรโมชั่นส่วนลดเต็มที่ เพื่อกระตุ้นให้คนช้อปปิ้งบนออนไลน์

หรือในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีวัน White Day ทุกวันที่ 14 มีนาคม เป็นวันที่ผู้ชายจะมอบของขวัญ เพื่อตอบแทนความรักให้กับผู้หญิง ซึ่งผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงทำโปรโมชั่นช้อปปิ้งบนออนไลน์ในวันดังกล่าวเช่นกัน เพื่อดึงให้ผู้บริโภคมาซื้อสินค้าบนออนไลน์

ขณะเดียวกันประเภทสินค้าที่วางขายบน “ออนไลน์” กับ “สโตร์” ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความแตกต่างของสินค้าระหว่างสองช่องทางการขายนี้ เพราะฉะนั้นสินค้าที่มีขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น จะดึงให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อที่ออนไลน์

คาดปี 2025 ออนไลน์ FMCG ทั่วโลกทะลุ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ได้คาดการณ์กันว่าในปี 2025 การซื้อขายสินค้า FMCG บนออนไลน์ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยประเทศที่มีพัฒนาการอีคอมเมิร์ซไปไกลอย่าง “เกาหลีใต้” จะมีมูลค่าค้าปลีก FMCG บนออนไลน์อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่งตลาด 25% ของตลาดรวม FMCG ในประเทศ

ขณะที่ จีน” กลายเป็นประเทศที่มีมูลค่าค้าปลีก FMCG บนออนไลน์สูงที่สุด อยู่ที่ 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่งตลาด 15% ของตลาดรวม FMCG ในจีน

ส่วน ”สหรัฐอเมริกา” มูลค่าค้าปลีก FMCG บนออนไลน์จะอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่ง 6% ของตลาด FMCG รวมในสหรัฐฯ และสำหรับตลาด FMCG ออนไลน์ในสหราชอาณาจักร จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จะเห็นได้ว่าการซื้อขายบนออนไลน์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อยู่ในทิศทางเติบโต เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ผลิตแบรนด์สินค้า FMCG ต้องหันมาให้ความสำคัญกับออนไลน์ ที่จะเป็นช่องทางการขายที่สร้างรายได้ให้กับแบรนด์สินค้าได้ไม่น้อย พร้อมทั้งผสานเข้ากับ Physical Store เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งได้แบบ Seamless ทุกช่องทางการให้บริการ


แชร์ :

You may also like