Homeไม่มีหมวดหมู่เผยโฉมออฟฟิศแห่งใหม่ของ Uniqlo ปรับการทำงานแบบญี่ปุ่นให้เก๋ไก๋ ด้วยการใส่ความเป็น Silicon Valley

เผยโฉมออฟฟิศแห่งใหม่ของ Uniqlo ปรับการทำงานแบบญี่ปุ่นให้เก๋ไก๋ ด้วยการใส่ความเป็น Silicon Valley

แชร์ :

Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo เปิดตัวสำนักงานใหม่ออกแบบโดยมี Allied Works Architecture เป็นออฟฟิศแบบเปิดโล่ง มีเลานจ์กลางแจ้งที่ก่อตัวขึ้นจากต้นไม้ มีห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือและนิตยสารจากทั่วโลก รวมถึงห้องสเตเดียมที่สามารถจุพนักงาน 1,200 คนได้เพื่อประชุมร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติหากเห็นเรื่องพวกนี้ในครีเอทีฟออฟฟิศฝั่งตะวันตก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับบริษัทในญี่ปุ่น

ออฟฟิศสไตล์ Silicon Valley ที่มีอาหารพร้อมให้กินเสมอ มีพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในหลายอุตสาหกรรม กระจายตัวทั่วหลายประเทศโลกตะวันตก เนื่องจากบริษัทต่างๆ เชื่อว่าการออกแบบออฟฟิศประเภทนี้ส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ในขณะที่ญี่ปุ่นชอบที่จะรักษาวัฒนธรรมการทำงานแบบดั้งเดิมไว้มากกว่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งสำคัญในบริษัทที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในตะวันตก ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก พนักงานควรมีโอกาสได้สนุกกับความเสี่ยงและมีความเป็นอิสระ วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นลำดับชั้นและค่อนข้างเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่า กล่าวคือมีความเคารพต่อผู้อาวุโส ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า Fast Retailing ต้องการลดความแข็งกร้าวบางส่วน แต่ก็ต้องการรักษาองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้พนักงานมีความเข้มแข็งเอาไว้ อย่างความใส่ใจในรายละเอียด ระเบียบวินัย และความเคารพ

เมื่อ Fast Retailing ตัดสินใจที่จะสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัท ก็เอารูปแบบ Silicon Valley มาปรับใช้ ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้กับพนักงานมากขึ้น และในทางกลับกันก็ทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันที่มากขึ้นด้วย โดยออฟฟิศใหม่นี้จะเปิดภายในปีนี้ มันจะได้ผลอย่างที่ต้องการมั้ยนะ?

ในปี 2013 Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้ง Fast Retailing และเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของญี่ปุ่นได้จ้าง Allied Works Architecture ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลด้านอาร์ตอยู่เบื้องหลังออฟฟิศของ Wieden + Kennedy และ Clyfford Still Museum เพื่อดูแลงานออกแบบ Brad Cloepfil หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Allied Works เล่าให้ฟังว่า “เขาไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานของบริษัท แต่เขาสนใจไปถึงวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นในเวลาเดียวกัน และมันเป็นความท้าทายมากกับคำถามที่ว่า เราจะสามารถพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กันในคราวเดียวได้ยังไง?”

ออฟฟิศใหม่นี้ตั้งอยู่ใน Ariake ริมน้ำในกรุงโตเกียว อาคารสูง 6 ชั้นที่มีขนาดใหญ่เท่ากับตึกในนิวยอร์กซิตี้ ภายในมีศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ โชว์รูมสินค้าต้นแบบเต็มรูปแบบสำหรับ Uniqlo และพื้นที่สำนักงานที่รวมกันอยู่ในชั้นเดียว มีขนาดพื้นที่ 200,000 ตารางฟุต มีพื้นที่สำหรับทำงานที่ต่างกัน 30 แบบสำหรับให้พนักงานใช้ทำงาน ซึ่งแตกต่างจากในสำนักงานใหญ่เดิมที่กระจายอยู่หลายชั้นของอาคาร และมีบรรยากาศเพียงสองแบบให้นั่งทำงานคือ โต๊ะมาตรฐานและห้องประชุมกระจก

เมื่อ Allied Works เริ่มงาน พวกเขาไม่ได้ต้องการเพียงแค่จับความเป็น Silicon Valley โยนเข้าไปในอาคาร แต่สถาปนิกให้ความสำคัญกับสิ่งที่ออฟฟิศนี้ต้องการมอบให้พนักงาน คือความเป็นอิสระ “เรารู้จากประสบการณ์ของเรากับบริษัทตะวันตก โลกนี้มีทั้งคนที่ต้องการทำงานนอกออฟฟิศ ในออฟฟิศ ที่บ้านและในบาร์” Cloepfil กล่าว “ในวัฒนธรรมของเราวันนี้ เมืองทั้งเมืองต้องเป็นพื้นที่ทำงานได้ทั้งหมด”

คำว่าเมืองในที่นี้เป็นคำอุปมาสำหรับสิ่งที่ออฟฟิศดีๆ ควรรวบรวมไว้ในที่เดียว Allied Works คิดอยากให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นการรวมกันของพื้นที่สาธารณะและเอกชน ถนนและจตุรัสเมือง ทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานและการเจอหน้ากัน ซึ่งเป็นจุดที่สร้างให้นวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้น ใน Silicon Valley


Cloepfil กล่าวว่า “มันคือความเชื่อตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ว่าเมื่อถูกปลดปล่อยมากขึ้น พวกเขาจะมีพื้นที่ว่างในการมันเพาะปลูกความคิดมากยิ่งขึ้น”

ในออฟฟิศเก่าพนักงานต้องออกไปซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มเอง แต่ในออฟฟิศใหม่นี้มีบริการเสริมเข้ามาเป็นทางเลือก เช่น เครื่องเวนดิ้งแมชชีนในห้องโถง (แบบเดียวกับที่เราเจอได้ทั่วไปตามถนนในกรุงโตเกียว) สำหรับตอบรับความต้องการในด้านอาหารและเครื่อ่งดื่มที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยระยะทางจากโถงทำงานมายังส่วนกลางนี้ พนักงานจะผ่านประตูที่ออกแบบเลียนแบบซุ้มประตูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านสไตล์ญี่ปุ่น

Yanai ต้องการทำให้พนักงานรู้สึกสบายและเหมือนอยู่บ้าน สถาปนิกจึงใช้แนวคิดเหมือนการออกแบบที่อยู่อาศัย ทั้งโต๊ะทำงาน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ทั้งเก้าอี้เลานจ์ โซฟา โต๊ะไม้ เน้นการอยู่ร่วมกับนธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับปรัชญาของ Silicon Valley: ไม่มีความแตกต่างระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา


เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความแตกต่างของออฟฟิศใหม่กับเก่า Allied Works จึงสงสัยว่าการทดลองจะได้ผลหรือไม่ พนักงานจะใช้พื้นที่ตามที่สถาปนิกออกแบบมารึเปล่า? Fast Retailing จัดประชุมฝึกอบรมภายในกับผู้บริหารเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจว่าพื้นที่ใดสร้างมาเพื่ออะไร และมั่นใจว่าพนักงานทุกคนรู้ว่าพวกเขามีหน่วยที่คอยดูแลและได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ทุกที่และทุกแบบที่พวกเขาต้องการ


สำนักงานแห่งใหม่เปิดในปีนี้ และแน่นอนว่าพนักงานทุกคนใช้พื้นที่ที่ออกแบบมาอย่างเต็มที่ ไม่นั่งติดแค่ที่โต๊ะทำงานและรู้สึกตื่นเต้นกับดีไซน์ใหม่นี้ แม้ว่าพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็ต้องรับมือกับความหงุดหงิดเล็กน้อยของการเป็นออฟฟิศเปิดโล่ง เช่นเสียงและความเป็นส่วนตัวเล็กน้อย เวลาจะบอกเราได้ว่าความพอใจของพนักงานจะลดลงหรือไม่หลังจากความเห่อได้หายไปแล้ว

สำนักงานใหญ่และรูปแบบการทำงานของ Uniqlo เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและกลยุทธ์ด้านความคิดที่กว้างขึ้น ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อ H&M และ Zara จัดแสดงสินค้าแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุด ในขณะที่ Uniqlo เป็นที่รู้จักกันดีในด้านนวัตกรรมต่างๆ เช่น ผ้าแบบใหม่ ความใส่ใจในรายละเอียด และคุณภาพเสื้อผ้าที่มากับราคาที่ไม่แพง แต่ก็ไม่ได้ถูกสื่อสารไปยังผู้บริโภคเท่าที่ควร ในปี 2014 หุ้นของบริษัทลดลงเกือบ 8% และกลยุทธ์การเปิดสาขาใหม่ๆ ในต่างประเทศในขณะนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่


ในปีเดียวกันนั้นแบรนด์เลือก Wieden + Kennedy ภายใต้การนำของ John Jay, Creative Director สู่การปฏิวัติความคิดสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ สิ่งที่ Jay ทำคือเปลี่ยนวิธีที่บริษัทมองเกี่ยวกับการออกแบบ โดยไม่ใช่แค่การนำปรัชญาของ Uniqlo ไปสู่โลกเท่านั้น เป็นการนำโลกเข้าสู่ Uniqlo และใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าและเป็นที่ต้องการมากขึ้น ตัวอย่างเช่นบริษัทมีศูนย์การวิจัยและการออกแบบในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะปารีส นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส เซี่ยงไฮ้ และโตเกียวซึ่งนักออกแบบสามารถเรียนรู้อินไซต์ของคนในพื้นที่นั้นๆ และเก็บเป็นข้อมูลสำหรับคอลเล็กชันทั้งหมด

การออกแบบใหม่ของ Fast Retailing เป็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทางกายภาพไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงาน โครงสร้างทางธุรกิจ และยุทธศาสตร์การกระจายสินค้า (ซึ่งมุ่งไปที่การจัดส่งสินค้าในวันถัดไปในตลาดที่กว้างขึ้น ) ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโต Yanai มีเป้าหมายระยะยาว ที่จะทำยอดให้ถึง 4 หมื่น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 แต่หลังจากผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง เขาปรับลดเป้าลงในปี 2016 เหลือเพียง 2 หมื่น 9 พันล้านเหรียญในปี 2020 แทน


Yanai มีความทะเยอทะยานในแบบของ Silicon Valley และขณะนี้เขามีออฟฟิศที่ตอบโจทย์ความต้องการนั้น Fast Retailing ยังคงมีเส้นทางให้ไปต่ออีกยาวๆ เป้าหมายของ Yanai คือการแซงหน้า Inditex บริษัทแม่ของ Zara ซึ่งมียอดขายเกินกว่า 2 หมื่น 7 พันล้านเหรียญในปี 2016 เทียบกับ 1 หมื่น 7 พันล้านเหรียญของ Fast Retailing

บริษัท ยังคงมองหาฐานการผลิตที่สหรัฐอเมริกาเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของญี่ปุ่นและเช่นเดียวกับที่ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งกำลังทดลองใช้กลยุทธ์การขายใหม่ๆ ทั้งแบบมีหน้าร้านและทางออนไลน์ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่อาจไม่เพียงพอที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว Yanai และทีมของเขาก็จะหาแผนการที่ยอดเยี่ยมแผนต่อๆ ไปได้อยู่ดี

Source

แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM


แชร์ :

You may also like