สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) (DAAT) ร่วมกับ กันตาร์ ทีเอ็นเอส (ไทยแลนด์) เปิดเผยตัวเลขมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2560 ในงานสัมมนาประจำปีของสมาคมฯ หรือ DAAT DAY Digital 4.0 โดยการเก็บข้อมูลจาก 22 มีเดียเอเยนซี่ชั้นนำของประเทศไทย พบว่า
ครึ่งปีแรกมีการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท และตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2560 น่าจะสูงถึง 12,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 29% เมื่อเทียบกับปี 2559 ทั้งนี้เป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อดิจิทัลที่แปรผันตามพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ที่เติบโตสูงเช่นกัน
อุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงเป็น 2 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสินค้าประเภทโทรคมนาคมและการสื่อสาร และกลุ่มยานยนต์
สำหรับ “กลุ่มสินค้าประเภทโทรคมนาคมและการสื่อสาร” มีการลงโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด โดยคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2560 จะมีเม็ดเงินสะพัดถึง 1,300 ล้านบาท การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มสินค้านี้เป็นผลจากพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงการแข่งขันอย่างเข้มข้นของค่ายโทรศัพท์ต่างๆ ที่หันมาสื่อสารกับผู้บริโภคบนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
“กลุ่มยานยนต์” ในอันดับที่สอง มีการใช้งบประมาณโฆษณาทางดิจิทัลราวๆ 1,280 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงถึง 72% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเน้นกระตุ้นยอดขายของค่ายรถผ่านทางสื่อดิจิทัลแล้ว สื่อดิจิทัลเองได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการหาข้อมูลและเชื่อมต่อกับแบรนด์ เนื่องจากยานยนต์จัดเป็นหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีข้อมูลที่มากพอในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ (High Involvement Category)
กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคแม้โดยรวมจะยังคงมีงบโฆษณาสื่อดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวม แต่การลดลงของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประทินผิวและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นที่คาดเดาได้ว่าเป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
กลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตของงบโฆษณาทางด้านดิจิทัลที่น่าจับตามองคือ กลุ่มสินค้าประเภทบัตรเครดิตและเดบิต กลุ่มประกันภัย ซึ่งโดยทั่วไปเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมหันมาใช้ Online/Mobile Banking กันมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการตลาดที่เน้นการเติบโตของยอดขาย เช่น Lead generation ของกลุ่มธนาคาร
Facebook – YouTube – Display Ad แพลตฟอร์มหลักบนออนไลน์
ขณะที่ 3 แพลตฟอร์มหลักที่ยังคงครองแชมป์งบโฆษณาสูงสุด ได้แก่ Facebook, YouTube และ สื่อโฆษณาแบนเนอร์ (Display) โดยงบโฆษณาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้รวมกันแล้วสูงถึง 50% ของงบโฆษณาดิจิทัลทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่า Facebook และ YouTube ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะ Facebook ที่สูงขึ้นกว่า 26% จากปีที่ผ่านมา แต่ในส่วนของสื่อโฆษณาแบนเนอร์ (Display) นั้นพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากแพลตฟอร์มระดับโลกมีการออกผลิตภัณฑ์ทางด้านสื่อใหม่ๆ และการวัดผลที่ชัดเจนมากกว่า รวมถึงความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปชื่นชอบรูปแบบของโฆษณาเคลื่อนไหว แบบวีดิโอหรือ GIF
ในขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียมีงบโฆษณาตามขึ้นมาเป็นอันดับ 4 เนื่องจากได้รับความนิยมจากแบรนด์ผ่านการโฆษณาเชิญชวนและการรีวิวสินค้าของผู้นำในโลกโซเชียล (Influencer) และเน็ตไอดอลต่างๆ ทำให้ ณ เวลานี้โซเชียลกลายเป็นที่สนใจของนักการตลาดมากกว่า Search และ Creative
การเติบโตของเม็ดเงินมูลค่าโฆษณาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้เรามีโอกาสได้เห็นวงการสื่อโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจของเอเยนซี่และแบรนด์ในการใช้สื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างคุ้มค่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีด้าน data management เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาด
“สื่อสิ่งพิมพ์” ดิ่งลงหนักสุด!!
ขณะที่ “สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย” รายงานผลงบประมาณการใช้สื่อครึ่งปีแรกพบว่าอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนทั้งอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่า GDP จะเติบโตถึง 3.3% แต่การใช้สื่อโดยรวมยัง -5%
เมื่อวิเคราะห์ตามสื่อแล้วพบว่า สื่อโทรทัศน์ (ดิจิตอลทีวี เคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) -10% วิทยุ -18% หนังสือพิมพ์ -19% นิตยสาร -37%
แต่สื่อที่สวนกระแสคือสื่อในห้าง (In-store) เติบโตเพิ่มขึ้น 38% สื่อในการเดินทาง (Transit) เพิ่มขึ้น 27% สื่อโรงภาพยนตร์ เพิ่มขึ้น 25% สื่ออินเตอร์เน็ต 24% และสื่อนอกบ้าน 16%
จากข้อมูลการใช้สื่อจะเห็นว่านักการตลาดเลือกใช้สื่อที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อทันที ทำให้สื่อ ณ จุดขาย (In-store) และสื่อที่ผู้บริโภคต้องรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สื่อ Transit สื่อโรงภาพยนตร์ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตเติบโตเพิ่มขึ้น
ถ้ามองการใช้สื่อโดยรวมทั้งปี 2560 “สมาคมมีเดียฯ” คาดการณ์ว่ายังลดลง -11% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 โดยสื่อหลักที่ยังคงลดลง คือ สื่อโทรทัศน์ทั้งหมดรวมดิจิตอลทีวี เคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม -15% วิทยุ -25% หนังสือพิมพ์ -25% นิตยสาร -34%
ขณะที่สื่อที่มีแนวโน้มการใช้สื่อมากขึ้น คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ 5% สื่อนอกบ้าน 9% สื่อในการเดินทาง (Transit) 14% สื่อในห้าง (In-store) 29% และสื่ออินเตอร์เน็ต 24%
ส่วนในครึ่งปีหลังของปีนี้ก็ยังไม่ใช่ปีที่สดใสของวงการเท่าที่ควร สื่อต่างๆ ก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเพื่อดูสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์
Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand