วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ Samsung Galaxy Note 8 วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แต่ยอดจองซึ่งคุณวิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผย ก็นับว่านี่คือโทรศัพท์ที่มียอดจองสูงสุดนับตั้งแต่ซัมซุงเปิดจองสมาร์ทโฟนในประเทศไทย โดยมียอดสูงกว่า Note 7 เท่าตัว และสูงกว่า Samsung Galaxy S8 ถึง 50% ทะลุเป้าหมาย 20,000 เครื่องที่ทางบริษัทตั้งไว้ในตอนแรกแบบถล่มทะลาย โดยสถานการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับ ยอดจอง Samsung Galaxy Note 8 ที่เกาหลีใต้ ซึ่งภายใน วันที่ 7-14 กันยายน ที่เปิดจองก็มียอดสูงถึง 850,000 เครื่อง ก่อนจะวางขายจริงในวันที่ 15 กันยายน
Samsung Galaxy Note 7 ล้มเหลวเพื่อเรียนรู้
ถือว่าเป็นการกลับมาของ Samsung Galaxy Note อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากที่สะดุดกับ Samsung Galaxy Note 7 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวในระดับโลก หรือในประเทศไทย “ซัมซุง” ไม่เคยหลีกเลี่ยงการพูดถึงความล้มเหลวของตัวเองสักครั้ง แต่กลับหยิบยกมาพูดถึง และเล่าโดยละเอียดว่าแบรนด์แก้ไข ปรับปรุงอะไรไปแล้วบ้าง
คุณวิชัย อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ถ้าไม่มีเรื่องก็ไม่รู้ว่า Note มีแฟนใหญ่แค่ไหน ดังนั้นเราจึงกลับมาพร้อมกับสโลแกนที่บอกว่า “ทำให้ใหญ่กว่าที่ใจคิด” (Do Bigger Things) ตอนที่มีเรื่อง มีแฟนของซัมซุงเข้ามาบอกผมว่า ผิดพลาดก็ไม่เป็นไร พลาดก็ช่างมัน นวัตกรรมอาจมีเรื่องผิดพลาด แต่พลาดแล้วห้ามหยุด เอาไปปรับปรุงแล้วกลับมาให้ได้ มันทำให้ผมไม่ท้อ คนที่เป็นคนคิด Note เขาก็รักโทรศัพท์รุ่นนี้มาก รัหเหมือนลูกเลย เขาก็พยายามอย่างหนัก ที่จะทำให้มันกลับมาให้ได้”
สเปกของ Samsung Galaxy Note 8 ก็เลยจัดเต็ม จัดหนัก เพื่อกู้หน้าและศรัทธาของแฟนๆ ไม่ว่าจะเป็น S Pen ที่มีฟีเจอร์ใหม่ฉลาดล้ำมากขึ้นกว่าเดิม เช่น Live Message สามารถแชร์ข้อความในรูปแบบแอนนิเมชั่น หรือใช้แชร์รูปวาดพร้อมข้อความสั้นๆ บนแพลตฟอร์มต่างๆ ในรูปแบบไฟล์ Animated GIF (AGIF) เพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้ การแชทและสื่อสารกับเพื่อนๆ อย่างไม่น่าเบื่อ และยังปฏิวัติวงการกล้องด้วยสุดยอดกล้องที่มาพร้อม 4 คุณสมบัติสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็น Dual Camera กล้องคู่ความละเอียด 12MP สองตัวที่ดีที่สุดของซัมซุง Dual OIS ระบบป้องกันการสั่นสะเทือน OIS (Optical Image Stabilization) ทั้งสองเลนส์ คือ เลนส์มุมกว้าง (Wide-Angle Lens) และเลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) ซึ่งสามารถซูมแบบ Optical ได้ถึง 2 เท่า Dual Capture สามารถแชะภาพทีเดียวแต่ได้ถึงสองรูป โดยกล้องหลังทั้งสองเลนส์จะเก็บภาพพร้อมกันและบันทึกไว้ทั้งสองภาพภายในช็อตเดียว ทั้งภาพแบบ Portrait ที่ปรับให้หน้าชัดหลังละลายได้แบบเรียลไทม์ และภาพมุมกว้างช่วยเก็บรายละเอียดวิวได้อย่างครบถ้วน Dual Pixel พร้อมระบบออโต้โฟกัสแบบทันที ทำให้เก็บภาพที่คมชัดมากขึ้นแม้ในสภาพแสงน้อย และ จอภาพไร้กรอบในสไตล์ “อินฟินิตี้ ดิสเพลย์” (Infinity Display) ขนาด 6.3 นิ้วที่ตอบโจทย์เทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนของโลก
เมื่อรวมกับฐานแฟนที่มีอยู่เป็นทุนเดิม และซีรี่ส์ Galaxy Note ก็เป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีปากกา S Pen เป็นจุดเด่นหลักที่โทรศัพท์รุ่นอื่นทดแทนไม่ได้ ก็ทำให้แฟนๆ ที่รอคอยการกลับมาถึง 2 ปี จน Samsung Galaxy Note 8 ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายอย่างมาก
จากดีไวซ์ สู่การเป็น “Life Companion”
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Samsung Galaxy Note 8 จะมาพร้อมกับลูกเล่นมากมาย ผสานเรื่องกล้องกับฟีเจอร์ด้านการถ่ายภาพที่มีตัวช่วยมากมาย ให้การเก็บภาพเป็นเรื่องง่าย และโดดเด่นที่สุด สมกับเป็นปัจจัยการเลือกซื้ออันดับ 1 ของผู้บริโภค แต่ผู้บริหารระดับสูงของซัมซุง กลับชี้ให้เห็นว่า ชั่วโมงนี้การแข่งขันของสมาร์ทโฟนไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์อีกต่อไปแล้ว ผู้พัฒนาแต่ละรายต้องคิดและทำงานหนักกว่าที่เคย
“ผมเข้ามาที่ซัมซุงในยุคที่โจทย์ตอนนั้นเป็นการเปลี่ยนจาก Feature Phone เป็น Smartphone จากพฤติกรรมที่คนใช้โทรเข้า-โทรออก มาเป็นเล่น Angry Bird ตอนนั้นยิง เล็งกันกระจาย แล้วก็ขยับมาที่ใช้โทรศัพท์มาเล่น Social Network” เขาไล่เรียงแต่ละยุคสมัยของการแข่งขัน ก่อนจะอธิบายถึง Eco-System ของโลกการสื่อสาร ต่อว่า
“การพัฒนาในธุรกิจผู้ผลิตโทรศัพท์และเทเลคอมฯ มันจะขยับหมุนขึ้นไปพร้อมๆ กัน บางครั้งดีไวซ์คุณสมบัติเท่าเดิม เพราะมันพัฒนาไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่ผู้ใช้งานใช้งานได้ดีขึ้นมากขึ้น เพราะเน็ตเวิร์คมันพัฒนาขึ้น พอเน็ตเวิร์คพัฒนา คอนเทนท์ก็เปลี่ยนไป คนก็สร้างคอนเทนท์รูปแบบใหม่ๆ พอเน็ตเวิร์คดี คอนเทนท์แบบใหม่ ดีไวซ์ก็ผลักดันตัวเองขึ้นไปอีกเพื่อรองรับให้ผู้ใช้งานสามารถเสพคอนเทนท์นั้น ทั้ง 3 อย่างนี้ คือ ดีไวซ์, เน็ตเวิร์ค และคอนเทนท์ มันเป็นวงจรที่หมุนแล้วดันกันไปเรื่อยๆ วนลูปกันอยู่แบบนี้ แต่สิ่งทีไ่ด้มาก็คือผู้บริโภคจะได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”
“การแข่งขันทุกวันนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่อง Hardware อีกต่อไป มันเป็นเรื่องของการเติมเต็มชีวิตคน เราไม่พูดกันเรื่องสเปคอีกแล้ว Forget It สิ่งที่ซัมซุงมองทุกวันนี้ ก็คือการเป็น Life Companion (คู่หูของชีวิต-ผู้เขียน) เราต้องคิดเยอะขึ้น ถ้าคุณจะออกกกำลังกาย เราต้องทำอย่างไรให้คุณออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น หรือถ้าคุณอยากช็อปปิ้ง เราต้องคิดว่าเราจะทำยังไงให้คุณช็อปปิ้งสะดวกขึ้น อย่างตอนนี้เรากำลังพูดกันถึงเรื่อง Mobile Banking หรือทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือถูกใช้เป็น E-Money เราก็ต้องตั้งคำถามว่า Security มันดีพอไหม โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้กลายเป็นอวัยวะที่อยู่กับเราตลอดวัน ยกเว้นตอนนอน”
จากวิสัยทัศน์แบบนี้ นี่เองที่ทำให้ในระยะหลัง ซัมซุง นำเสนอบริการต่างๆ นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือ หรือ Wearable Device ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Samsung Pay, Galaxy Gift, Bixby ระบบสั่งงานด้วยเสียงที่เป็น Deep Learning เรียนรู้และพัฒนาขึ้นตามการใช้งานของผู้คน
ไม่ใช่แค่ซัมซุงเท่านั้น ทิศทางการแข่งขันของผู้นำในวงการเทคโนโลยีดูเหมือนว่าจะเดินไปในแนวทางเดียวกัน Apple เองก็ประกาศว่าจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจบริการ ในระยะหลังจึงเน้นไปที่การสร้างคอนเทนท์บันเทิง โดยลงทุนกับผู้ผลิตคอนเทนท์หลายรายในฮอลลีวู้ด หรือจริงจังกับ Apple Music ตลอดจนระบบจ่ายเงิน Apple Pay มากขึ้น รวมทั้ง Google ที่เพิ่งประกาศเข้าซื้อแผนก R&D ของ HTC ด้วยมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ ก็น่าจะมีแผนเชื่อมโยงบริการของ Google ซึ่งมีลูกเล่นเพียบ เข้ากับแบรนด์สมาร์ทโฟน Pixel ในเครือกูเกิ้ลเอง
ซัมซุง แนะนำ Samsung Galaxy Note มาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และเป็นผู้นำสมาร์ทโฟนที่สามารถเขียนได้ ขณะที่ Apple ก็เปิดตัว iPhone โทรศัพท์มือถือซึ่งรองรับการใช้งาน Multi-Touch จนกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทำให้โทรศัพท์มือถือสมัยนี้ไร้ปุ่ม เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นี่อาจถึงจุดที่เป็นทางตันของเทคโนโลยีแล้ว กล่าวคือ ไม่มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ที่พลิกโลกเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี่ โทรศัพท์รุ่นหใม่ๆ มีเพียงแค่การพัฒนาให้แนวคิดเดิมๆ ดีขึ้น เช่น กล้อง, แบตเตอรี่ ดีขึ้นตามลำดับเท่านั้น (ซึ่งปัจจุบันกล้องในสมาร์ทโฟนก็เข้าขั้นเทพเกินความคาดหมายไปแล้ว) การมุ่งเน้นไปที่บริการที่เชื่อมโยงให้การใช้ชีวิตของผู้คนเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย น่าจะเป็นโจทย์ลำดับต่อไป ที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน บริษัทโทรคมนาคม รวมทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องผลักดันตัวเองให้ตอบสนองความต้องการนั้นของผู้บริโภคให้ได้ และแนวโน้มการแข่งขันของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็จะคาบเกี่ยวกันเพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายนี้