ofo (โอโฟ่) ผู้นำบริการจักรยานสาธารณะแบบไร้สถานีอันดับหนึ่งของโลก ขานรับนโยบาย Smart City ประกาศความพร้อมเปิดให้บริการจักรยานสาธารณะแบบไร้สถานีเป็นรายแรกในเมืองไทย ล่าสุดเปิดให้บริการแล้วที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก พร้อมเปิดตัวจักรยานโมเดลล่าสุดที่นำมาใช้ในประเทศไทยที่มาพร้อมนวัตกรรม Smart Lock ที่จะเพิ่มความสะดวกและคล่องตัวในการใช้งาน พร้อมเอาใจสายปั่นกับช่วงเวลาพิเศษทดลองใช้ฟรี 1 เดือนเต็มในภูเก็ต และทดลองใช้ฟรี 3 เดือนในกรุงเทพ เริ่ม 1 ตุลาคมนี้
นายนพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป ofo ประเทศไทย เปิดเผยว่า ofo ได้เริ่มเข้ามาเปิดทดลองให้บริการในประเทศไทยแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่่านมา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นำรถจักรยานเข้าไปให้บริการในมหาวิทยาลัยรวมกว่า 1,000 คัน ผลการตอบรับน่าพอใจมากโดยมีผู้ใช้งานแต่ละวันสูงเกินคาด และล่าสุดได้เริ่มเปิดให้บริการในจังหวัดภูเก็ตแล้ว โดยมีจักรยานให้บริการในภูเก็ตรวมกว่า 1,000 คัน ซึ่งภูเก็ตถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดเป้าหมายสำคัญที่นอกจากจะมีศักยภาพในด้านของพื้นที่ ประชากร และนักท่องเที่ยวแล้ว ภูเก็ตยังเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดสำคัญที่จะนำร่องโครงการ Smart City ของประเทศไทยอีกด้วย
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ ofo ในการขยายการบริการในอาเซียน ด้วยศักยภาพของประเทศที่มีหัวเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง และมีจำนวนประชากรสูงกว่า 70 ล้านคน และมีนักศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีกกว่า 700,000 คน รวมถึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในบ้านเราปีละไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน สิ่งเหล่านี้คือโอกาสสำคัญในการขยายการบริการของ ofo ในประเทศไทย โดยวางแนวทางการขยายการบริการผ่าน 2 กลยุทธ์สำคัญ คือ Smart Campus และ Smart City โดยเน้นการเจาะมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความจำเป็นในการใช้จักรยานเพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีการสัญจรภายในมหาวิทยาลัยที่สะดวกกว่าการใช้รถยนต์หรือการเดินเท้า และการขยายการบริการมาในเขตเมืองเพื่อช่วยให้การเดินทางระยะสั้นสะดวกสบายคล่องตัวมากขึ้น ตอบโจทย์คนชอบ ปั่นจักรยานให้สามารถหาจักรยานปั่นได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นหนึ่งทางเลือกการสัญจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และราคาไม่แพงสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่ม” นายนพพล กล่าวเสริม
ofo ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการเดินทาง Point to Point ในรัศมีการเดินทาง 1 – 5 กิโลเมตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและแก้ไขปัญหาที่จอดรถในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัดโดย Bike Sharing เป็นบริการเช่ารถจักยานที่นำเทคโนโลยีมาประสานกันผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ สามารถค้นหาจักรยานได้บนแอปพลิเคชั่น เมื่อเจอจักรยานก็เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด ( QR Code ) เพื่อปลดล็อคจักรยาน เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถแชร์จักรยานกันได้ทุกคัน ส่วนการจอดก็สะดวกเพียงหาจุดจอดในสถานที่ที่กำหนดไว้ โดยจุดจอดจะแสดงบนหน้าจอแอปพลิเคชั่นเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของจุดจอดและจุดให้บริการ โดยค่าบริการปกติของจักรยาน ofo จะคิดราคา 5 บาท ต่อการใช้ 30 นาที โดยมีค่ามัดจำ 99 บาทในครั้งแรก ซึ่งสามารถชำระเงินผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกง่ายดาย และพิเศษสำหรับช่วงเปิดตัว ofo เอาใจสายปั่นกับช่วงเวลาพิเศษทดลองใช้ฟรี 1 เดือนในภูเก็ต และทดลองใช้ฟรี 3 เดือนในกรุงเทพ เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ โดยไม่เสียทั้งค่าบริการและค่ามัดจำอีกด้วย
ofo ถือเป็นผู้นำบริการจักรยานสาธารณะแบบไร้สถานีอันดับหนึ่งของโลก ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันเปิดให้บริการครอบคลุมกว่า 170 เมือง อาทิ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย คาซัคสถาน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ด้วยจำนวนจักรยานมากกว่า 10 ล้านคัน และมีการใช้บริการสูงกว่า 25 ล้านครั้งต่อวัน โดยล่าสุดคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครอบคลุม 200 เมือง ใน 20 ประเทศภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ นายนพพล ได้กล่าวถึงความน่าสนใจของจักรยาน ofo ที่เตรียมนำมาเปิดตัวในเมืองไทยครั้งนี้ว่า “ปัจจุบัน ofo มีจักรยานที่เตรียมพร้อมให้บริการในประเทศไทยแล้วกว่า 10,000 คัน โดยเป็นจักรยานรุ่นใหม่ล่าสุดในชื่อรุ่น Smart Lock ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในประเทศไทยโดยเฉพาะ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นพิเศษ คือ ระบบล็อคอัจฉริยะ ที่ทำงานผ่านแอปด้วยระบบบลูทูธ เพียงสแกน QR Code บนจักรยานก็สามารถปลดล็อคได้ทันที และระบบ GPS ที่ติดตั้งในจักรยาน ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาและจอดจักรยานได้อย่างสะดวกและง่ายดาย พร้อมด้วยไฟหน้าจักรยานที่จะสว่างทันทีเมื่อปั่นจักรยาน และไฟท้ายพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะสว่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในที่มืด และยางล้อแบบตันเพื่อให้หมดความกังวลเรื่องยางรั่วเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจในการปั่นจักรยานอีกด้วย”
โดยแนวทางการขยายการให้บริการในอนาคต ofo ได้วางแนวทางในการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การเตรียมการ และการวางระเบียบการใช้งาน เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเครือข่ายสาธารณูปโภคที่แข็งแรง และเอื้อประโยชน์ให้เกิดระบบการขนส่งในชุมชน เมือง และประเทศที่ยั่งยืน