เมื่อพูดถึงนิเทศศาสตร์ เป็นสาขาวิขาสำคัญที่ต้องผลิตบุคลากรออกไปสู่วงการโฆษณาและสื่อสารการตลาด แต่ในยุคของสื่อดิจิตอลบูมและการสื่อสารการตลาดที่แปลี่ยงแปลง ทำให้องค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ที่ถูกสอนกันมาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในนิเทศศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทย จึงเตรียมปรับกลยุทธ์ปั้นเด็ก “นิเทศสายพันธุ์ใหม่” เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ “นับเป็น Creative University ของประเทศไทย” โดยล่าสุดคณะนิเทศศาสตร์ยังล้ำหน้าไปอีกขั้นเมื่อเปิดสาขาวิชาใหม่ Innovative Media Production หรือ การผลิตสื่อนวัตกรรม หลักสูตรอินเตอร์ เรียนและสอนเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับคนทำงานในวงการบันเทิงและการผลิตสื่อใหม่รับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
การขยับตัวครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพกำลังปั้นคนเข้าสู่สายงานนิเทศศาสตร์(พันธุ์ใหม่) ที่ต้องรู้และเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องของ “สื่อใหม่” ซึ่งเป็นช่องทาง หรือ Channel ในการส่งสาร (message) ออกไป เมื่อสื่อเปลี่ยนโฉมกันฉับไว งานภาพยนตร์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ก็จำต้องเปลี่ยนรูปแบบไปตามการเปลี่ยนไปของสื่อ แพลตฟอร์มมากมายของสื่อยุคใหม่มีโซเชียลมีเดียรวมอยู่ด้วย อย่างฮิตที่สุดก็ ยูทูป เฟสบุ๊ค ไลน์ และอินสตราแกรม ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ที่คนในหลายสายงานโดยเฉพาะสายนิเทศศาสตร์ต้องเรียนรู้และเข้าใจอย่างรวดเร็วเพราะถือเป็นสายงานที่ต้องทำงานร่วมกับสื่อเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
อีกประเด็นสำคัญคือ “เนื้อหาสาระ” (Content) แม้ดูเหมือนว่าผู้คนอ่านหนังสือน้อยลง แต่ใช่ว่าจะไม่อยากอ่านหรือชม สาระ ดีๆ ทุกคนดูจะเร่งรีบและใช้เวลาน้อยในการรับ สาร ดังนั้น การผลิต Content รูปแบบใหม่ต้องเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมนั้นด้วย สาระ และ สื่อ ต้องจับคู่เดินไปด้วยกันเสมอ แต่การจับคู่ที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะเกิดประสิทธิผลในการสื่อสารออกไป และนั่นคือหน้าที่ของนิเทศศาสตร์พันธุ์ใหม่
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้การเรียนการสอนที่มุ่งเน้น Content Based นิเทศศาสตร์พันธุ์ใหม่จึงต้องสามารถสร้าง Content ที่เข้าถึงและโดนใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในสื่อทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อดั้งเดิม อย่างวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมทั้งแพลตฟอร์มของสื่อใหม่และโซเชียลมีเดีย การสอนจึงเน้นการปฏิบัติ เรียนรู้วิธีใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทั้งเรื่องจำนวนคนที่เห็นและเข้าถึงสื่อ ช่วงเวลา เพศ อายุ พฤติกรรมการรับชม รสนิยม และเทรนด์ต่างๆ เพื่อใช้ในการออกแบบเนื้อหาและเลือกแพลตฟอร์มได้ตรงเป้าหมายและวัดผลได้
ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การเปิดสาขาใหม่นี้ต้องการปั้นคนเข้าสู่การทำงานในวงการบันเทิง และรวมถึงงานสื่อสารการตลาดยุคใหม่ เราต้องยอมรับเทรนด์ว่าในอนาคตสื่อบางแพลตฟอร์มอาจไม่ได้รับความนิยมเหมือนเดิม เราจึงพลิกโฉมนิเทศศาสตร์ด้วยการให้เรียนรู้โฟกัสที่คอนเทนต์ที่นักศึกษาอยากนำเสนอ โดยเขาจะต้องผลิตคอนเทนต์ได้อย่างสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ดึงดูดใจ และมีประสิทธิภาพ จากนั้นจึงมาดูว่าแพลตฟอร์มไหนจะเหมาะสมกับคอนเทนต์นั้น
ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนจะกระตุ้นความคิดนักศึกษาให้รู้ว่า จะเล่าเรื่องอะไร ด้วยรูปแบบไหน แล้วจึงมาดูว่าควรใช้เครื่องมืออะไรในการผลิตงานที่เหมาะสม อาจเป็นกล้องโทรทัศน์ กล้องภาพยนตร์ หรือแค่กล้องในมือถือก็ได้ การเรียนรูปแบบนี้จะทำให้นักศึกษาเป็นเสมือนน้ำที่สามารถไหลไปได้ทุกทิศทาง ไม่มีวันตกยุค ไม่ว่าจะมีสื่อแพลตฟอร์มอะไรเกิดขึ้นมาก็ตาม
สาขาการผลิตสื่อนวัตกรรม เป็นการหลอมรวมความรู้ของศาสตร์และศิลปะทุกแขนง มีบรอดแคสติ้ง วารสารศาสตร์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารแบรนด์ แล้วเพิ่มความรู้การสร้าง Business Model เข้าไปด้วย เพื่อให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์งานได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รู้วิธีการหาแหล่งทุน วิธีการผลิต ไปจนถึงการทำการตลาด และมองเห็นภาพในอนาคตว่าจะสามารถต่อยอดงานไปสู่ธุรกิจใดได้บ้าง
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงมุ่งสร้างบุคลากรเพื่อโลก (Global Player) การเปิดสาขาวิชาใหม่ถูกออกแบบการเรียนการสอนให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อและวิทยากรพิเศษที่เป็นศิษย์เก่าจากภาคเอกชนชั้นนำทั้งระดับประเทศและนานาชาติ เช่น Ogilvy, Dentsu, Y&R, เวิร์คพอยท์, ไทยรัฐทีวี, GMM, BBC-UK รวมถึง Google, YouTube, Facebook ที่พร้อมให้ทดลองฟีเจอร์ใหม่ๆ เป็นกลุ่มแรกๆ และมีโอกาสรับนักศึกษาทุกคน ไปฝึกงาน รวมทั้งร่วมกิจกรรมเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นความพิเศษเฉพาะที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปั้นนิเทศพันธุ์ใหม่ด้วย Skill Set ชุดทักษะ 7 ด้าน ที่มหาวิทยาลัยจะเติมเต็มให้นักศึกษาทุกคน คือ 1. ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 2. การเล่าเรื่องและการสร้างสรรค์เนื้อหา 3. การวิเคราะห์ข้อมูล Big Data 4. การผลิตและถ่ายทำ 5. การสื่อสารและนำเสนองาน 6. ความรู้ความเข้าใจบริบทโลก และ 7. การคิดแบบเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพเท่านั้น www.bu.ac.th