ที่ผ่านมา “TCDC” อยู่ภายใต้ “สำนักงานบริหารและพัฒนาความรู้ (องค์การมหาชน)” หรือ Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) – OKMD ซึ่งดูแล 3 เสาหลัก คือ TCDC ดูแลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ TK Park เป็นแหล่งความรู้ด้านเทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ Museum Siam พิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีมติให้ “TCDC” แยกออกมาจาก OKMD พร้อมจัดตั้งเป็น “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)” หรือ “Creative Economy Agency” (CEA)
คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ขั้นตอนการจัดตั้ง TCDC เป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในธันวาคมปีนี้ – มกราคมปีหน้า ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ขั้นกฤษฎีกา และหลังจากนั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย
เมื่อ TCDC เป็นองค์การมหาชนแล้ว บทบาทหน้าที่ต่อไปนอกเหนือจากการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว ยังมี 2 พันธกิจเพิ่มขึ้นมา คือ 1. การทำงานเชิงนโยบาย สร้างนโยบายทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในอดีตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีหลายหน่วยงานภาครัฐทำในเรื่องการสนับสนุน แต่ยังไม่มีใครทำในเรื่องนโยบาย เพราะฉะนั้นต่อไป “TCDC” จะมีหน้าที่รับผิดชอบการทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2. การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ โดยมีย่านเจริญกรุงเป็นที่แรก และต่อจากนี้จะขยายไปทำในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยในอนาคต โดยจะเริ่มจากพื้นที่ที่มี TCDC ตั้งอยู่ เช่น เชียงใหม่และขอนแก่น (เตรียมเปิดสาขาขอนแก่นในปีหน้าช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน)
“เพราะฉะนั้นภารกิจของ TCDC ในปี 2561 จะจัดงาน “Bangkok Design Week” ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ เพื่อแปลงพื้นที่ย่านเจริญกรุง และครอบคลุมไปถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสุขุมวิท ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ นอกจากนี้จะเปิดองค์กรไปสู่การเป็น Creative Economy Agency และจากนั้นจะเปิด TCDC ขอนแก่น พร้อมทั้งวางแผนจะเปิดสาขาใหญ่ในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้กำลังดูอยู่ว่าเป็นจังหวัดไหน นอกจากนี้จะสมัคร World Design Capital เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในปี 2022 ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ของทั้ง TCDC และกรุงเทพมหานคร”
ผลักดัน “กรุงเทพฯ” เป็น “เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก”
ในทุกๆ สองปี “The World Design Organization™ (WDO)” หรือสมาพันธ์การออกแบบโลก (ชื่อเดิมคือ The International Council of Societies of Industrial Design : Icsid) จะประกาศเมืองที่ได้เป็น “World Design Capital” หรือ “เมืองหลวงแห่งการออกแบบของโลก” โดยคัดเลือกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เสนอชื่อเมืองร่วมแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จากทั่วโลก
เมืองที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “World Design Capital” ในปีนั้นๆ ยังได้จัดกิจกรรมด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ตลอดทั้งปี ซึ่งเท่ากับว่าตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ จะเป็นการประกาศก้องในโลกรู้ว่า เมืองนั้นให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
“World Design Capital” จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2008 โดยเมืองแรกที่ได้ตำแหน่งเมืองแห่งการออกแบบโลก คือ ตูริน (Torino) อิตาลี ต่อมาในปี 2010 เมืองที่ได้ตำแหน่ง คือ โซล เกาหลีใต้ ตามมาด้วย เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ ในปี 2012 ขณะที่ในปี 2016 เป็นเมืองไทเป ไต้หวัน และในปีหน้าที่จะถึงนี้ เมืองที่ได้เป็นเมืองแห่งการออกแบบโลก และเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว คือ เม็กซิโก ซิตี้
ขณะที่กรุงเทพฯ ภายในปีหน้า “TCDC” และ “กรุงเทพมหานคร” จะร่วมกันจัดทำ Proposal เพื่อร่วมสมัครเข้าประกวดเป็นผู้จัดงาน World Design Capital ของปี 2022
“TCDC มีแนวความคิดว่าจะเข้าร่วมสมัคร World Design Capital โดยเราตั้งเป้า “กรุงเทพฯ” จะเป็นเจ้าภาพจัด World Design Capital ในปี 2022 โดยล่าสุดเราได้คุยกับท่านรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการเสนอชื่อเมืองเพื่อ Bidding การเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ทาง กทม. ยินดีเข้าร่วมกับ TDCC
ถ้า “กรุงเทพฯ” ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Design Capital นั่นเท่ากับว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียที่ได้เป็นเมืองแห่งการออกแบบโลก ต่อจากโซล เกาหลีใต้ และไทเป ไต้หวัน ซึ่งเมืองไหนที่ได้เป็นเจ้าภาพ จะมีการจัดงานด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ตลอดทั้งปี โดยมีโปรแกรมทั้ง Local Event และ International Event ถูกดึงเข้ามาจัด เพราะฉะนั้นถ้ากรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือก เมื่อถึงเวลานั้น ต้องมีพาร์ทเนอร์จากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานตลอดทั้งปี โดยมี กทม. เป็นเจ้าภาพ”
ตัวอย่างความสำเร็จของเมืองที่ได้เป็น World Design Capital เช่น กรุงโซล เกาหลีใต้ ในครั้งนั้นทำให้เกาหลีใต้สามารถผลักดันให้เกิด 3 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ออกแบบ และพิพิธภัณฑ์การแสดง หรือเมื่อครั้งที่เมืองไทเป ไต้หวันได้ตำแหน่ง และเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Design Capital ได้พลิกโฉมพื้นที่โรงงานยาสูบ ให้กลายเป็น Design and Innovation Center ขึ้นมา สร้างประโยชน์ให้กับคนไต้หวัน
“การเป็น World Design Capital เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่หลังจากนั้นเมื่อประเทศไทยถูกกระตุ้นด้านความคิดสร้างสรรค์ออกมามากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์จะอยู่กับประเทศไทย และคนไทยต่อไปในระยะยาว”
9 ปัจจัยหนุนไทยแจ้งเกิด “Creative District” และ “Creative Hub”
จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจประเทศ หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญ คือ การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลักดันให้เกิดระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ – ภาคเอกชน – ภาคประชาชน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นยุทธศาสตร์ “ย่านสร้างสรรค์ของไทย” (Creative District) และกลายเป็น “ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” (Creative Hub) ในระดับภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของย่านสร้างสรรค์ คือ การผสานความคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิตของผู้คนย่านที่รวมตั้งแต่ผู้อยู่อาศัยเดิม ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่สนใจในย่านนั้นๆ ให้มีความเข้าใจ ความคิดเห็น และเป้าหมายในการพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถหาเอกลักษณ์ ความถนัดเฉพาะทางที่มีร่วมกัน และต่อยอดให้เกิดเป็นความเข้มแข็งของย่านต่อไป
โดยจากงานวิจัยพบว่า มี 9 ปัจจัยที่จะผลักดันให้เกิดย่านความคิดสร้างสรรค์ และต่อยอดไปสู่การเกิด Creative Hub ที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย
1. เครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน
2. องค์กร หรือสถาบันทางวัฒนธรรมในพื้นที่ให้การสนับสนุน
3. มีโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ของย่าน การให้ประโยชน์ทางระบบภาษี และการสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ย่านประวัติศาสตร์
4. ในย่านสร้างสรรค์นั้นๆ มีทั้งที่อยู่อาศัย และที่ทำงานสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ และบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
5. เกิดเครือข่าย และการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ – บุคลากรสร้างสรรค์
6. สร้างระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ภายในพื้นที่ เช่น มีแหล่งเรียนรู้ มี Co-working space และ Co-maker Space ในย่านนั้นๆ
7. มีโครงการ และสถานที่เพื่อการบ่มเพาะทักษะ
8. มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระดับย่าน
9. มีกลไกสนับสนุนทางการเงิน และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงคน และภาคธุรกิจเข้ามาทำงานในย่านสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
Credit Photo (รูป 1, 3) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand