กันตาร์ ทีเอ็นเอส เผยผลวิจัยจากโครงการ คอนเนคเต็ด ไลฟ์ (Connected Life) ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคกว่า 70,000 คน จาก 56 ประเทศ รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกจาก 104 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเกี่ยวกับความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จาก 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ เทคโนโลยี คอนเทนต์ ข้อมูล และอีคอมเมิร์ซ
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยยังคงมีทัศนคติเชิงบวกอย่างมากกับการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ โดยไม่ตระหนักถึงผลที่ตามมาหรือสิ่งที่ต้องแลกกับการแชร์ไลฟ์สไตล์ตัวเองผ่านโลกออนไลน์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มไม่ไว้วางใจและมีข้อกังขาเกี่ยวกับการใช้งานข้อมูลส่วนตัวของตนแก่บริษัทต่างๆ
ข้อมูลพบว่ามีเพียง 20% ของผู้บริโภคไทย ที่กังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวหรือสิ่งที่แชร์ออกไปบนโลกโซเชียลที่แบรนด์ต่างๆ จะได้ข้อมูลไป ขณะที่ทั่วโลกแสดงความกังวลถึง 40% โดยเฉพาะออสเตรเลียที่แสดงความกังวลสูงถึง 56%
นอกจากนี้ยังพบว่า มีเพียง 22% ของผู้บริโภคไทยที่ต่อต้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตามกิจกรรมของพวกเขาบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ถ้าสิ่งเหล่านั้นทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น เทียบกับผู้บริโภคในเกาหลี 56% และในนิวซีแลนด์ 62% ที่ไม่เห็นด้วยกับเครื่องมือติดตามหรืออุปกรณ์ดังกล่าว
โดยเฉพาะในยุคที่มักพบข่าวปลอมแพร่ระบาดบนโลกโซเชียล พบว่าคนไทยถึง 40% กลับเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากประเทศอื่นถึง 35% และสูงกว่าตลาดอื่นๆ ที่มีการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ มายาวนานกว่า เช่น มากกว่าญี่ปุ่น 18% และมากกว่าเกาหลี 17%
ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยังมองว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือในการรับข้อความจากแบรนด์ โดยยอมรับว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะถ้าแบรนด์เหล่านั้นแสดงออกถึงความเข้าใจเกี่ยววัฒนธรรมและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของไทยซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ
ทัศนคตินี้สะท้อนความรู้สึกของคนไทยเกี่ยวกับแบรนด์ ซึ่งผลวิจัยระบุ ผู้บริโภค 39% เชื่อมั่นในแบรนด์ใหญ่ระดับโลก โดยข้อมูลระหว่างตลาดเกิดใหม่และตลาดพัฒนาแล้วในเอเชีย ระดับความเชื่อมั่นในแบรนด์ของทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างมาก โดยในเวียดนามและเมียนมาร์ ผู้บริโภคเกินครึ่ง (54% ในทั้งสองประเทศ) ให้ความไว้วางใจแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำอย่างเห็นได้ชัดในตลาดพัฒนาแล้ว เช่น มีผู้บริโภคในออสเตรเลียเพียง 19% และนิวซีแลนด์ 21% ที่ให้ความเชื่อใจกับแบรนด์เหล่านั้น
ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กันตาร์ อินไซท์ ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า
“เมื่อเทียบกับต่างชาติ คนไทยเปิดรับการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ผ่านออนไลน์มากกว่า เพราะส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัว โดยไม่ได้รู้สึกไม่ดีจากการถูกติดตามโดยอุปกรณ์เชื่อมต่อ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เพื่อนำเสนอคอนเทนต์แบบ Personalize ผ่านช่องทางออนไลน์และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อแบรนด์ แต่ต้องระวังว่าแคมเปญที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือการล่วงล้ำผู้บริโภค อาจจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์และสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้บริโภคได้”
Mobile First หนุนธุรกรรมออนไลน์พุ่ง
สภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรกของไทย ยังส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ในรูปแบบใหม่ๆ โดย 41% ของผู้บริโภคไทยรู้สึกพอใจกับการโต้ตอบออนไลน์กับแชทบอท ขณะที่เพียง 28% ต้องการให้แบรนด์สื่อสารผ่านออฟไลน์ เพราะความไม่เพียงพอของช่องทางบริการลูกค้าแบบเดิมในพื้นที่ต่างจังหวัดบางส่วน รวมถึงการเติบโตของโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของบริการออนไลน์ต่างๆ จึงเห็นได้ว่าแชทบอทใน Instant Messaging สามารถดำเนินการในประเทศไทยได้ยาวนานกว่าที่อื่น และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยยอมรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ในออสเตรเลีย มีผู้บริโภคเพียง 22% ที่ยอมรับการสื่อสารของแบรนด์ผ่านแชทบอท
ข้อมูลยังระบุว่า ผู้บริโภคไทย 1 ใน 4 หรือ 25% ยินดีชำระเงินซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ แม้ตัวเลขจะยังไม่สูงเท่าตลาดที่ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับแรกอย่างกัมพูชา (38%) และเมียนมาร์ (36%) แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่น่าสนใจ เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านธนาคาร การมีโซลูชั่นส์รูปแบบใหม่และความเข้าใจทางการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นต่อรูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ มากขึ้น
ไมเคิล นิโคลัส Global Lead คอนเนคเต็ด โซลูชั่นส์ บริษัท กันตาร์ ที่เอ็นเอส กล่าวเสริมว่า “ความไว้วางใจเป็นสิ่งเปราะบาง แม้ว่าปัจจุบันแบรนด์ในตลาดเกิดใหม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่ควรละเลยที่จะให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจแรงจูงใจของลูกค้า จังหวะที่เหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การเห็นค่าในเวลาของลูกค้า และความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการและช่วงเวลาที่รวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า”
Photo Credit ภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand