ทุกวันนี้ธุรกิจร้านอาหาร ในกลุ่มขนมหวานและเครื่องดื่ม ทยอยเปิดตัวกันมากมาย ทั้งเชนใหญ่จากต่างประเทศ และแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งเกิดในไทย หลากหลายประเภท ทั้งไอศกรีม เค้ก-เบเกอรี่ แพนเค้ก และที่มาแรงข้ามปี ต้องยกให้กับ “บิงซู” น้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี ทำให้สถานการณ์ธุรกิจร้านขนมหวาน-เครื่องดื่มในไทย ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ
ปัจจุบันร้านน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี รวมถึง “คากิโกริ” เป็นน้ำแข็งไสสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของเกาหลี มีหลายแบรนด์ให้เลือก เช่น ซอลบิง, Hollys Coffee หรือแม้แต่ร้าน After You ได้แตกแบรนด์น้องออกมา “Maygori” เป็นคากิโกริ หรือน้ำแข็งไสสไตล์ญี่ปุ่น ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบิงซู และเมื่อช่วงปีที่แล้ว เชนไอศกรีมพรีเมียมระดับโลกอย่าง “Haagen-Dazs” สาขาในไทย ยังต้องเสิร์ฟเมนูน้ำแข็งไสเกาหลีด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายเล็ก หันมาเกาะเทรนด์นี้เช่นกัน ทำให้เวลานี้เไม่ว่าจะเดินไปไหน จะเห็นร้านบิงซูมากมาย
“THOTH ZOCIAL” บริษัทวิจัยข้อมูลบน Social Media ครบวงจร ได้ทำวิจัย “Retail Foods” บนสื่อสังคมออนไลน์ 5 แพลตฟอร์มสำคัญ คือ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube และเว็บบอร์ด Pantip.com โดยเก็บข้อมูล Search Trends ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมเพื่อดูว่าคนอยากกินอะไรมากที่สุด พบว่าในหมวดขนมหวานและเครื่องดื่ม “บิงซู” เป็นเสิร์ชที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
เมื่อเชนร้านไอศกรีมเมริกัน ขอแชร์ตลาด “บิงซู”
จากกระแสความแรงของ “บิงซู” ทำให้ล่าสุดแบรนด์ไอศกรีมสัญชาติอเมริกัน “สเวนเซ่นส์” (Swensen’s) ในประเทศไทย ไม่อาจต้านทานกระแสไหว ในที่สุดต้องทำเมนู “ไอศกรีม บิงซู” ด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองตลาด จึงมีให้บริการ 2 สาขา คือ ร้านสเวนเซ่นส์ สาขา The Market Place คอมมูนิตี้มอลล์ ถนนนางลิ้นจี่ และเซ็นทรัล พระราม 9 ราคาตั้งแต่ 199 – 319 บาท
ทั้งนี้ “สเวนเซ่นส์ ในประเทศไทย” อยู่ภายใต้การบริหารโดย “บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ในเครือไมเนอร์ ได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากสเวนเซ่นส์ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังได้รับในการให้แฟรนไชส์แก่ผู้ประกอบการใน 32 ประเทศทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง โดยได้เปิดสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศแห่งแรกในปี 2547
“สเวนเซ่นส์” ในไทย เมื่อครั้งอดีตกว่า 20 ปีที่แล้ว เป็นร้านไอศกรีมแทบจะไม่มีคู่แข่ง และในยุคนั้นทางเลือกการรับประทานขนมหวานจากต่างประเทศยังมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้ ทำให้สเวนเซ่นส์ กลายเป็นตัวเลือกร้านขนมหวานอันดับต้นๆ ของคนไทยเวลาไปเดินศูนย์การค้า แต่ขณะนี้ “สเวนเซ่นส์” กำลังเผชิญกับการแข่งขันของธุรกิจร้านขนมหวานที่ดุเดือดขึ้น ทำให้ฐานลูกค้าถูกแชร์ไป ทั้งคู่แข่งโดยตรงอย่างกลุ่มร้านไอศกรีมด้วยกันเอง และคู่แข่งทางอ้อมที่เป็นร้านขนมหวานประเภทอื่นๆ
เห็นได้จากโซนอาหาร ในศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์ เต็มไปด้วยร้านอาหารมากมาย สิ่งที่ตามมาคือ การแข่งกันดึงลูกค้าเข้าร้าน และเมื่อผู้บริโภครับประทานอาหารมื้อหนักเสร็จแล้ว ออกจากร้านก็จะเจอร้านขนมหวานน้อยใหญ่มากมาย ซึ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกอยากตบท้ายมื้อนั้นๆ ด้วยขนมหวาน แต่ท่ามกลางร้านมากมาย ผู้บริโภคต้องเลือกมา 1 ร้าน นี่จึงทำให้การนำเสนอเมนูขนมหวาน โดยเฉพาะที่กำลังอยู่ในกระแส บวกกับโปรโมชั่น และการเชื้อเชิญจากพนักงานขายหน้าร้าน มีผลต่อการดึงความสนใจผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการ
จากสภาวะการแข่งขันดังกล่าว บวกกับสถานการณ์ภายในประเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อยอดขาย “สเวนเซ่นส์” ลดลง โดยรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2559 ของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในส่วนกลุ่มธุรกิจอาหาร “ไมเนอร์ ฟู้ด” ระบุว่าแบรนด์ “สเวนเซ่นส์” มี 330 สาขาในไทย แบ่งเป็นสาขาที่ไมเนอร์ ฟู้ด ลงทุนเอง 144 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 186 สาขา นอกจากนี้มีสาขาในต่างประเทศอีก 6 ประเทศ
ปรากฏว่าในภาพรวมยอดขายของ “สเวนเซ่นส์” มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง…
ปี 2557 ยอดขาย 4,043 ล้านบาท
ปี 2558 ยอดขาย 3,956 ล้านบาท
ปี 2559 ยอดขาย 3,896 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2560 ฉายภาพสถานการณ์ “สเวนเซ่นส์” ว่าหลังจากปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการนำเสนอสินค้า ประกอบกับแผนการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานพลิกฟื้นกลับมา โดยมีการเติบโตต่อร้านเดิมเป็นบวกตลอดทั้งไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ความได้เปรียบของ “สเวนเซ่นส์” ในตลาดบิงซู
หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดและการขายของสเวนเซ่นส์ ในประเทศไทย คือ ใช้กลยุทธ์ “Seasonal Marketing” ที่สร้างสรรค์เมนูเฉพาะช่วงเวลา เช่น ไอศกรีมมะม่วงในช่วงหน้าร้อน หรือช่วงหน้าทุเรียน ก็ออกไอศกรีมทุเรียน รวมถึงการครีเอทเทศกาลไอศกรีมรสชาติต่างๆ เช่น สตรอเบอร์รี่ ช็อกโกแลต เพื่อโปรโมทรสชาตินั้นๆ
แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันในสถานการณ์เช่นนี้ !!
ดังนั้น ออกเมนูการทำเมนูบิงซูของ “สเวนเซ่นส์” ในครั้งนี้ จึงเป็นการเกาะเทรนด์บิงซูที่กำลังเติบโต เพื่อดึงความสนใจผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ และเพิ่มโอกาสการขาย และการบริโภคในร้านมากขึ้น
แม้ “สเวนเซ่นส์” จะทำเมนูบิงซูทีหลังแบรนด์อื่น หากทว่าต้องอย่าลืมว่า “สเวนเซ่นส์” มีความได้เปรียบในด้านการบริหารจัดการ Supply Chain เพราะด้วยความที่อยู่ภายใต้ “ไมเนอร์ ฟู้ด” ซึ่งมี Brand Portfolio ร้านอาหารมากมาย จึงสามารถใช้กลยุทธ์ “Cost Leadership” ทำให้การผลิต รวมถึงการสั่งซื้อวัตถุดิบ และการใช้วัตถุดิบต่างๆ สามารถใช้ร่วมกันกับแบรนด์อื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจได้ ส่งผลให้ควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า
อย่างกรณี “บิงซู” เป็นการต่อยอดจาก Core Business นั่นคือ “ไอศกรีม” ที่ผลิตจากโรงงานในเครือ “ไมเนอร์ แดรี่” ป้อนวัตถุดิบให้กับทั้งร้านสเวนเซ่นส์ และร้านแดรี่ ควีน ขณะเดียวกันในเมนูบิงซู นอกจากน้ำแข็งไส และไอศกรีมที่เป็นวัตถุดิบหลักแล้ว ยังมีผลไม้ เช่น มะม่วง สตรอเบอร์รี่ และท็อปปี้อื่นๆ อีกมากมาย วัตถุดิบเหล่านี้ใช้อยู่แล้วกับเมนูไอศกรีมของสเวนเซ่นส์ รวมทั้งเชนร้านอาหารต่างๆ ในเครือไมเนอร์ ฟู้ด
เพราะฉะนั้นแม้ “สเวนเซ่นส์” จะทำเมนูบิงซูทีหลัง แต่ความเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจร้านอาหาร จึงสามารถใช้กลยุทธ์ Cost Leadership ทำให้มีการบริหารจัดการ Supply Chain ที่ดีกว่า และนี่คือความได้เปรียบทางการแข่งขันของ “สเวนเซ่นส์” ในตลาดบิงซู
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ ยังอยู่ในช่วงทดลองตลาด คาดว่าถ้าได้การตอบรับที่ดี “สเวนเซ่นส์” ขยายเมนูบิงซู ไปให้บริการสาขาต่างๆ อย่างแน่นอน…