ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ของแผนแม่บทอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มดีมานด์ในการจัดงานและเพิ่มจำนวนการจัดงานกลุ่มไมซ์ในประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างและดึงดูดให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาในประเทศ ตลอดจนผู้จัดงานต้องมีองค์ความรู้และมีข้อมูลสถิติที่ช่วยวางแผนและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่า World Class Standard เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการจัดงานธุรกิจไมซ์ของภูมิภาค
และเพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนได้ตามยุทธศาสตร์ข้างต้น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย ได้เพิ่มบทบาทการสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยบริหารการจัดงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้สะดวกและจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดงานเป็นหลัก
คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือผลักดันและขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐาน World Class และก้าวสู่ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy และ Thailand 4.0 ด้วยการปรับโครงสร้างพร้อมตั้งหน่วยงานดูแลการตลาดออนไลน์เพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2557 รวมทั้งการพัฒนาด้าน Innovation & Intelligence โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือการทำตลาด เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
“ภาพรวมธุรกิจไมซ์ปีที่ผ่านมาเติบโตได้เกือบ 2% โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่เติบโตจากปีก่อนถึง 15% ขณะที่การใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ก็เพิ่มเป็น 82,000 บาทต่อคนต่อครั้ง สะท้อนถึงผลสำเร็จในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดงานภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ขณะที่การขับเคลื่อนงานด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของทีเส็บในปี 2560 ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีหลายเรื่อง ทั้งการพัฒนาเว็บไซต์ www.businesseventsthailand.com การจัดทำสื่อการตลาดและการขายแบบดิจิทัล รวมทั้งการจัดกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง”
– ด้านการพัฒนาเว็บไซต์ ที่จากเดิมเคยใช้เพื่อประชาสัมพันธ์แบบ One Way Communication ได้เพิ่มให้เกิดการ Engage จากผู้ใช้งานมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์ Content Marketing ผ่านการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งผู้จัดงาน (Organizer) และผู้เข้าร่วมงาน (Visitor) โดยรองรับได้ถึง 8 ภาษา ทำให้มีจำนวนการเข้าชม (Pageviews) มากกว่า 2.7 ล้านครั้ง แบ่งเป็นจากต่างประเทศ 1 ล้านครั้ง และในประเทศ 1.7 ล้านครั้ง
“เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรม Mobile First ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทีเส็บต่อยอดจากเว็บไซต์มาสู่แอปพลิเคชัน Biz Thailand เพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น พร้อมรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศ สถานที่จัดประชุมทั้ง กทม. และจังหวัดใหญ่ๆ รวมทั้งอัพเดทข่าวสาร โปรโมชั่นและกิจกรรมพิเศษแบบ Real time ตามตำแหน่งผู้ใช้ (Location-based service) พร้อมเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียเพื่อให้แชร์ข้อมูลต่อได้ โดยแอปฯ นี้รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และมียอดดาวน์โหลดการใช้งานแล้วกว่า 6 พันครั้ง”
– การจัดทำสื่อการตลาดและการขาย ทีเส็บได้ผลิตสื่อ Virtual Reality (VR) 360 องศา เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่จัดประชุมและแสดงสินค้าของไทยให้ผู้ประกอบการไมซ์เข้าชมผ่านเว็บไซต์ ตลอดจนมีสื่อการขายที่เป็นภาพถ่ายแบบ VR 360 องศาด้วย โดยมียอดเข้าชมทะลุ 1.6 ล้านวิว ภายใน 2 เดือน
– ด้านกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์ มีการทำแคมเปญ Spice Up Thailand 2017 ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว ด้วยการมอบสิทธิพิเศษจากสินค้าและบริการให้นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ โดยมีการแลกรับคูปอง (Redeem) ประมาณ 7 หมื่นครั้ง และช่วยสร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้กว่า 14 ล้านวิว
“กลุ่มสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวนิยมแลก Privilege สูงสุด 5 กลุ่ม ได้แก่ ชอปปิง ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และสปา จาก 10 ประเทศสูงสุด ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เกาหลี และไทย ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมของจำนวนประเทศที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงที่สุด”
เปิดแพลตฟอร์มใหม่ Smart Biz Event Application
เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยขับเคลื่อนอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ ทีเส็บได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ล่าสุด Smart Biz Event Application ซึ่งประกอบด้วย สมาร์ท บิซ อีเว้นท์ (Smart Biz Event) และสมาร์ท บิซ ออร์แกไนเซอร์ (Smart BIZ Organizer) เพื่อสร้างมิติใหม่สำหรับการเป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางทั้งของผู้จัดงานและผู้ต้องการเข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศไทย โดยรวบรวมทุก Process ของงานตั้งแต่ก่อนจัดงาน ระหว่างการจัดงาน และหลังการจัดงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงานและช่วยให้ผู้จัดงานสามารถบริหารจัดการและดูแลภาพรวมของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในแอปพลิเคชันเดียว
คุณสริตา จินตกานนท์ ผู้ชำนาญการ ทีเส็บ กล่าวว่า แอปพลิเคชั่นนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์ทั้ง Visitor และ Organizer โดย Smart Biz Event สำหรับผู้ต้องการเข้าร่วมงาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ การเช็คอินเข้างาน การติดตามข้อมูลต่างๆ ตลอดการจัดงาน ดูปฏิทินและกำหนดการ แผนผังพื้นที่จัดงาน ข้อมูลวิทยากร รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ ได้โดยอัตโดยโนมัติ พร้อมแสดงความคิดเห็นหลังการจัดงานผ่านทางออนไลน์
ขณะที่ Smart Biz Organizer สำหรับผู้จัดงาน มีฟีเจอร์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ระบบรับลงทะเบียนผ่านออนไลน์ การอัพเดทข้อมูลอีเว้นท์ได้อย่างครบถ้วน รองรับและตรวจสอบผู้ที่เข้าร่วมงานจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานผ่านการรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ร่วมงาน พร้อมการรายงานและสถิติแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้จัดงานรับรู้และประเมินการจัดงานเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนางานตามสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างทันท่วงที โดยออร์แกไนเซอร์ที่สนใจสามารถใช้แอปพลิเคชั่นนี้ได้ที่ contact.smartbizevent.com โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“การพัฒนา Smart Biz Organizer เพื่อช่วยให้ผู้จัดงานมีแพลตฟอร์มดิจิทัลไปใช้ในการจัดงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้จัดงานขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีต้นทุนมากพอที่จะสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองได้เหมือนผู้จัดงานรายใหญ่ รวมทั้งยังมีส่วนในการช่วยลดต้นทุนในการจัดงานได้อย่างน้อย 10% จากต้นทุนด้านเอกสาร ต้นทุนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์การจัดงาน รวมทั้งลดจำนวนบุคลากรลงได้บางส่วน และยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถเข้าถึงการจัดงานได้อย่างสะดวก ซึ่งขณะนี้มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 2 พันครั้ง โดย 90% เป็นกลุ่ม Visitor และ 10% จากกลุ่ม Organizer ที่มีทั้งบริษัทจัดงานเอกชน หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาที่มีการจัดงานสัมมนาอยู่บ่อยครั้ง พร้อมตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดอย่างน้อย 1 หมื่นครั้ง ภายในสิ้นปี 2561”
สำหรับการต่อยอดแอปพลิเคชันในอนาคตเพื่อขยายการใช้งานบนแพลตฟอร์ม ทั้งการเพิ่มภาษาของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ที่เข้ามาในไทยจำนวนมาก เช่น ภาษาจีน หรือการสำรวจความคิดเห็นและทำโพลต่างๆ ภายในงานแบบเรียลไทม์ซึ่งมีผลต่อการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ร่วมงาน ทำให้เกิดความต้องการที่จะกลับมาร่วมงานใหม่ในครั้งต่อไป รวมทั้งช่วยส่งผลให้มีจำนวนวันในแต่ละทริปที่ยาวขึ้น และมียอดการใช้จ่ายต่อทริปเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยให้เทียบเท่าตามมาตรฐานการจัดงานในระดับโลกอีกด้วย
“ขณะนี้ธุรกิจไมซ์ของไทยพัฒนาจนอยู่ใน Ranking เดียวกับสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอังกฤษ โดยเฉพาะการนำดิจิทัลและนวัตกรรมมาพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับงานไมซ์ที่จัดในประเทศไทยให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งผู้จัดงานและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในยุคมิเลนเนียลได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการมีส่วนร่วมหรือโต้ตอบระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ เพื่อให้เลือกประเทศไทยเป็น Destination ของการเดินทางมาประชุมสัมมนาหรือร่วมงานแสดงสินค้าในครั้งต่อๆ ไปให้เพิ่มมากขึ้น”