ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขึ้นแท่นประเทศที่มีมูลค่าธุรกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม B2C ที่โดดเด่นจนเป็นผู้นำของอาเซียน ซึ่งนอกจากเชิงมูลค่าที่เติบโตทุกปีแล้ว ยังได้เห็นพัฒนาการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่พัฒนามากขึ้นด้วยเช่นกัน ประกอบกับการเกิดผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ส่งผลให้ Ecosystem นี้แข็งแรงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและพยายามเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ หรือเสียโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ตัวเลขธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% มาโดยตลอด โดยคาดว่าสิ้นปี 2560 นี้ จะเติบโตได้สูงสุดถึง 14% หรือมีมูลค่าประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มจากมูลค่าใน 2 ปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 2.5 ล้านล้านบาท และ 2.2 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะในกลุ่ม B2C ที่มูลค่าการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มนี้ของประเทศไทยนั้นสูงที่สุดในอาเซียนเลยทีเดียว
“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยยังอยู่ในช่วงของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 10% ในปีต่อๆ ไป โดยเชื่อว่าในปี 2561 มูลค่าธุรกิจจะแตะ 3 ล้านล้านบาทได้อย่างแน่นอน เนื่องจาก การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟน จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 60% ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งประเทศ รวมทั้งการทำอีคอมเมิร์ซในรูปแบบใหม่ เช่น การเกิดโซเชียลคอมเมิร์ซ ผ่านแชท ผ่านไลน์ จากที่ก่อนหน้านี้จะซื้อขายผ่านเว็บ หรือมือถือในรูปแบบของ M-Commerce เป็นหลัก รวมทั้งการพัฒนาด้าน E- Payment ตามยุทธศาสตร์ Cashless Society ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อระบบความปลอดภัยมากขึ้น และการเติบโตของ E Logistic ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในกลุ่มธุรกิจขนส่ง แต่ยังรวมถึงการลงทุนศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จากต่างประเทศที่ให้ความสนใจกับตลาดประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับตัวเลขข้างต้นนี้ ยังไม่ได้รวมมูลค่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากฝั่งของ Digital Content ที่เติบโตมากขึ้นเช่นกัน และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าในสิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า 7.5 แสนล้านบาท ซึ่ง ETDA มีแผนที่จะทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่ม Digital Content อย่างจริงจังในปีหน้า เพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด พร้อมทั้งประเมินรายได้ในภาพรวมทั้งที่เกิดจากมิติของผู้ประกอบการในรูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และจากฝั่งของผู้บริโภคผ่านการบริโภค Digital Content ต่างๆ อาทิ การดาวน์โหลดเพลง สติ้กเกอร์ หนัง รวมไปถึงเม็ดเงินโฆษณาที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทั้งหมดด้วย
คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตทำ E-Commerce มากขึ้น
จากการสำรวจของ ETDA เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทยที่มีจำนวนกว่า 38 ล้านคนในปัจจุบัน ยังสะท้อนถึงการ Educated ที่มากขึ้นของผู้บริโภค โดยปีที่ผ่านมาเริ่มพบพฤติกรรมใหม่ๆ ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทย เช่น การใช้เพื่อทำธุรกิจด้าน E-Commerce ที่เข้ามาติด Top 5 เป็นครั้งแรก จากที่ก่อนหน้านี้ คนไทยส่วนใหญ่จะใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร เช่น แชท โซเขียล ค้นหาข้อมูล และเพื่อความบันเทิงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภาพรวมทั้งประเทศเติบโตได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ การระมัดระวังในเรื่องของ Privacy & Security ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทยนั้น มีระดับที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เป็นครั้งแรก จากที่ปีก่อนๆ จะมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% โดยเฉพาะในกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ เช่น Gen Y Gen Z ที่ตัวเลขในการให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูงมาก
“หลายฝ่ายที่เป็นห่วงว่าเด็กรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ Mobile First จะมีความเสี่ยงในการถูกหลอก หรือเชื่อคนง่าย แต่จากการสำรวจพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ และมีความระมัดระวังตัวอย่างดี สอดคล้องกับการจัดอันดับจาก ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 22 จากกว่า 130 ประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการตระหนักและระมัดระวังในเรื่องของ Privacy & Security และภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ โดยทาง ETDA จะเร่งรณรงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น และสามารถไปอยู่ในประเทศ Top 20 ให้ได้ภายในปีหน้า ซึ่งจะขยับไปอยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย”
การขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเป็นภาพใหญ่เพื่อผลักดันในเชิงยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ทั้งสังคมเกิดการตระหนัก ทั้งในส่วนของผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องของระบบ และการตื่นตัวของผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป การออกเป็นกฎหมายต่างๆ มาควบคุม หรือขยายความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งการนำระบบความปลอดภัยด้านข้อมูลที่มีมาตรฐานสูง เช่น ในกลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคารไปปรับใช้ในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถ Response ต่อภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เดินหน้าจัด Thailand e-Commerce Week 2017
ETDA มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้มีความแข็งแรง มีองค์ความรู้ และเกิดการพัฒนาอย่างจับต้องได้ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสและความสามารถให้กับทุกคนที่ต้องการการเข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงได้จัดงาน Thailand e-Commerce Week 2017 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยปีนี้จัดภายใต้คอนเซ็ปต์ “Online, Shall We GO… วิ่งให้ทันโอกาส เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไม่รอใคร” สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ คนที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้ว ไปจนถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนของธุรกิจตลอด Supply Chain
นอกจากนี้ยังมีวิทยากรจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจทั้งของไทยและระดับโลก ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการขยายธุรกิจมาสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ เช่น บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด และ JD.com จากประเทศจีน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจ รวมทั้งสร้างโอกาสจากการจัด Business Matching ภายในงานอีกด้วย
“งานครั้งนี้ได้รวบรวมทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซฺไว้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ E-Marketplace ทั้งของไทยและในระดับโกลบอล เช่น Weloveshopping, tarad.com, 11street ผู้ให้บริการ Payment เช่น ธนาคารพาณิชย์ และ PayPal ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้า เช่น Kerry, ไปรษณีย์ไทย, Lalamove ผู้ให้บริการทางด้านการทำการตลาดดิจิทัล ผู้ให้บริการหีบห่อสำหรับบรรจุสินค้าเพื่อจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการบริหารจัดการคลังสินค้าแบบครบวงจร รวมทั้งผู้ให้บริการทางด้านการถ่ายภาพสินค้า โดยงานจะจัดขึ้นระหว่าง 24-26 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องเพลนารี่ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”
ETDA คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 1 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 100% ขณะที่จะมีผู้ประกอบการจากทุกกลุ่มมาออกบูธไม่ต่ำกว่า 100 ราย โดยเฉพาะในกลุ่ม E-Logistic ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานด้วยสัดส่วนมากกว่า 50% และเชื่อว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจเพื่อเสริมความเข้มแข็งระหว่างกัน รวมทั้งโอกาสได้พบปะหารือกับบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่จากต่างประเทศ เช่น บริษัทนำเข้าจากจีนและฮ่องกง ที่ต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพจากผู้ประกอบการไทย ส่วนผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจก็จะได้รับองค์ความรู้และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปก็สามารถเข้ามาหาความรู้ต่างๆ ได้ภายในงาน เพื่อการเริ่มต้นได้อย่างถูกต้องภายใต้แนวทางและคำแนะนำจากกูรูผู้เชี่ยวชาญอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางรางวัล Thailand e-Commerce Awards: People’s Choice 2017 สำหรับธุรกิจออนไลน์ขวัญใจคนไทยแห่งปี ซึ่งเฟ้นหาจากการเสนอชื่อของมหาชน จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านอีคอมเมิร์ซจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย กูเกิล เฟชบุ๊ก ไลน์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
เครดิตภาพเปิด : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand