ตลาดเบียร์ 100,000 ล้านบาทในไทย ระอุอีกรอบส่งท้ายปี เมื่อ “สิงห์” กำลังซุ่มทดลองพัฒนาเบียร์พรีเมียมน้องใหม่ ชื่อ “Snowy Weizen by EST.33” หลังจากก่อนหน้านั้นได้แจ้งเกิด “U Beer” ที่สร้างกระแส Talk of the town ให้กับวงการเบียร์ในไทยมาแล้ว โดยวัตถุประสงค์ของการปั้นแบรนด์ และสินค้าใหม่ครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้าง “ทางเลือกใหม่” ให้กับตลาดเบียร์ ที่ในปัจจุบันยุคดิจิทัล ผู้บริโภคมีความเป็น “ปัจเจกบุคคล” มากขึ้น นั่นคือ การแสวงหาความแปลกใหม่ ทางเลือกใหม่ ไม่ยึดติดในแบรนด์ และเลือกในสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวเอง
ปัจจุบัน นอกจากเบียร์กระแสหลักที่ Dominate ตลาด ไม่ว่าจะเป็น สิงห์ ลีโอ ช้าง ไฮเนเก้น ที่จำหน่ายตามช่องทางขายทั้ง On Premise และ Off Premise ทั่วประเทศ เวลานี้ยังเกิด “เบียร์ทางเลือกใหม่” ทั้งเบียร์นำเข้า และคราฟต์เบียร์มากมาย แม้จะยังมีสัดส่วนตลาดเล็ก เมื่อเทียบกับเบียร์กระแสหลักที่อยู่ในตลาดไทยมานาน แต่ทว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การมี “ตัวเลือกใหม่” ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
เรามาทำความรู้จักแบรนด์ “Snowy Weizen by EST.33” กันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ?!?
– “Snowy Weizen by EST.33” อ่านว่า สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส สามสาม ส่วนบนแพ็คเก็จจิ้งใช้ภาพวาดหมีขั้วโลกและต้นสน เพื่อต้องการสื่อสารถึงชื่อแบรนด์ โดยศิลปินผู้วาด คือ Alfred Bash ชาว Albanian อยู่ที่ อิตาลี
– แบรนด์ใหม่นี้ เป็นเบียร์ประเภท Weizen Beer หรือเบียร์ที่ผลิตจากมอลต์ที่ทำจากข้าวสาลี ทำให้มีรสชาติเบาที่ดื่มง่ายขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์การดื่มเบียร์ในยุคนี้ ที่เบียร์รสชาติเบา ดื่มง่าย กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค
– วัตถุประสงค์ของการพัฒนาแบรนด์ใหม่ เพราะสิงห์ มองว่าถึงเวลาแล้วที่ “ตลาดเบียร์” ในไทยต้องมีความหลากหลาย มีทางเลือก ให้กับผู้ดื่ม
– นอกจากนี้จะเป็นสินค้าสำคัญในการขยายฐานไปสู่กลุ่มผู้ดื่มคนรุ่นใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้การทำตลาด U Beer เป็นสินค้าทำให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
– ในการทำตลาด และการขายในเบื้องต้น เปิดตัว Pack Size กระป๋องขนาด 490 มิลลิลิตร
– หนึ่งในช่องทางการขายสำคัญที่พลาดไม่ได้ คือ “เซเว่น อีเลฟเว่น” วางราคาขายไม่เกิน 60 บาท โดยเป็นการมองเห็น “ช่องว่างราคาในระดับ 55 – 60 บาท” เนื่องจากปัจจุบัน U Beer จำหน่ายในราคา 50 บาท / ช้าง 50 บาท / ลีโอ 52 บาท / ไฮเนเก้น 61 บาท
– “Snowy Weizen by EST.33” นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ “สิงห์” ในการบุกตลาดพรีเมียม เซ็กเมนต์ หลังจากก่อนหน้านี้สิงห์ เคยรุกตลาดเบียร์พรีเมียมมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งในตลาดนี้ “ไฮเนเก้น” ยึดครองตำแหน่งอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด
– กลยุทธ์ปั้นแบรนด์ในช่วงแรก เจาะตรงเข้าถึง Influencer สายเบียร์ เช่น เพจเบียร์ต่างๆ เพื่อช่วยโหมกระพือข่าวให้เกิดกระแส Talk of the town ซึ่งกลยุทธ์นี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วกับการสร้างแบรนด์ “U Beer” ให้ติดตลาด กลายเป็นที่พูดถึง
– ปัจจุบันมูลค่าตลาดเบียร์ในไทย 100,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดตามเซ็กเมนต์ต่างๆ ดังนี้ เบียร์พรีเมียม 5% / เบียร์เมนสตรีม 90% / เบียร์เซพวิ่ง 5% คาดการณ์ทั้งปี 2560 เติบโต 6%
– สัดส่วน Pack Size ที่ขายในไทย แบ่งเป็นขวดไซส์ใหญ่ 60% ขณะที่รูปแบบกระป๋อง มีเพียง 10% เท่านั้น