Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของ “MUJI” มีสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น มีแผนจะปรับลดราคาสินค้า “MUJI” ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ซึ่งการปรับราคาลงครั้งนี้ จะครอบคลุมเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหาร ของใช้ภายในบ้าน และสินค้าหมวดอื่นๆ จำนวน 2,400 รายการ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 เป็นต้นไป
ตัวอย่างสินค้าที่ปรับราคา เช่น กลุ่มสินค้าที่นอน ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีของ “MUJI” จากเดิมที่ขายในราคา 35,000 เยน หรือ 308 ดอลลาร์สหรัฐ จะปรับลงมาอยู่ที่ 29,900 เยน ขณะที่กระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ลดลง 1,000 เยน ขายในราคา 2,990 เยน และถุงเท้าแบบแพ็ค 3 คู่ จะขายในราคา 890 เยน ซึ่งลดลงไป 100 เยน เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น ผงแกงกะหรี่และชา ก็จะถูกปรับราคาลงเช่นกัน
ปัจจุบัน “MUJI” มีสาขาโดยรวมทั้งในญี่ปุ่น และนอกญี่ปุ่น มากกว่า 850 สาขา โดย “Ryohin Keikaku” ได้กำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจชัดเจนว่าจะเปิดสาขาใหม่ทั้งในญี่ปุ่น และต่างประเทศ โดยเน้นไปที่ต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ต่ำกว่า 50 – 60 สาขาต่อปี
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การปรับลดราคา แน่นอนว่าเป็นหมัดเด็ดในการดึงผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าที่ร้าน ในปริมาณที่มากขึ้น-ซื้อถี่ขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร
ในขณะที่ “MUJI” มองว่า แผนการปรับราคาลงครั้งนี้ จะเพิ่มปริมาณการขายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการจัดซื้อ โลจิสติกส์ และด้านบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าในราคาถูกลง เพราะก่อนหน้าที่จะประกาศแผนดังกล่าว “MUJI” ได้ทดลองปรับราคาลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ายอดขายสาขาเดิม เติบโตขึ้น 7% ขณะที่จำนวนลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น 6% และการใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ยังเห็นการขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ และการกลับมาซื้อซ้ำของกลุ่มลูกค้าเก่า
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค้าปลีกในญี่ปุ่นเวลานี้ หลายเชนสโตร์ กำลังใช้นโยบายปรับลดราคา เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon.com โดยนอกจาก MUJI แล้ว ยังมี Ikea ในญี่ปุ่น และ Aoyama Trading ได้สิทธิ์ในแบรนด์ American Eagle Outfitters ที่ญี่ปุ่น ใช้นโยบายปรับราคาหน้าร้านลงเช่นกัน (Aoyama Trading เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจหลากหลาย เช่น ธุรกิจแฟชั่น เครดิตการ์ด สื่อและสิ่งพิมพ์ ธุรกิจบริการซ่อมแซมครบวงจร และธุรกิจร้านอาหาร)