HomeBrand Move !!“MBK” มัดใจ “คนมิลเลนเนียล” ไม่เดินศูนย์ฯ ผุดธุรกิจใหม่ “MBK Digital” เชื่อมต่อคนรุ่นใหม่

“MBK” มัดใจ “คนมิลเลนเนียล” ไม่เดินศูนย์ฯ ผุดธุรกิจใหม่ “MBK Digital” เชื่อมต่อคนรุ่นใหม่

แชร์ :

หนึ่งในธุรกิจหลักภายใต้ “MBK Group” คือ “ศูนย์การค้า MBK Center” หรือที่ใครหลายคนยังคงติดปากเรียกว่า “ศูนย์การค้ามาบุญครอง” เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรกๆ เมื่อเอ่ยชื่อนี้ คือ ศูนย์รวมสินค้าไอที, นักท่องเที่ยวต่างชาติ, ร้านค้าเล็กๆ มากมาย ที่มีขายตั้งแต่ของกินของใช้ ของฝาก ไปจนถึงร้านจิวเวลรี่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ทุกวันนี้ภายใน “ศูนย์การค้า MBK” ยังคงคึกคักด้วยลูกค้า โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มองว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการช้อปปิ้งที่ต้องแวะมาเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย และภายในศูนย์ฯ เต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย

แต่รู้หรือไม่ว่า “โจทย์ใหญ่” ประการหนึ่งที่ “MBK” กำลังเผชิญอยู่ คือ ผู้บริโภคไทยกลุ่ม Millennials ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ยุคนี้ มาเดิน MBK Center ลดลง ในขณะที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น !! แตกต่างจากยุคเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลานั้น “MBK” เป็นหนึ่งในสถานที่นัดพบปะกันของ “วัยรุ่นไทย” ไม่น้อยไม่กว่าย่านสยาม ที่มีศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และโรงภาพยนตร์ 3 โรงใหญ่ (สยาม, ลิโด, สกาลา) เป็นแม่เหล็กดึงคน (อ่านเพิ่มเติมจุดเปลี่ยนธุรกิจ MBK Center และภารกิจเพิ่มฐานลูกค้าไทย)

นี่จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวธุรกิจใหม่ “MBK Digital” ที่จะแสดงพลัง Synergy ธุรกิจในเครือ “MBK Group” ที่มีหลากหลายธุรกิจ ครอบคลุมทั้งธุรกิจศูนย์การค้า, โรงแรม, อาหาร, กอล์ฟ, อสังหาริมทรัพย์, การเงิน ฯลฯ มาผนึกกำลัง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซ และจะใช้ “MBK Digital” เชื่อมต่อเข้าถึง “คนรุ่นใหม่” ให้เข้ามาซื้อสินค้า-บริการใน Business Ecosystem ของ MBK Group

“MBK มีสโลแกน “Happiness for All” หรือ “ความสุขของคนทุกวัย” ซึ่งคุณสุเวทย์ (คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี จึงมีนโยบายตั้งธุรกิจใหม่เป็น “MBK Digital” เพื่อทำให้การ Transform ของ MBK Group สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น” คุณยศสันธ์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด เผยหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการจัดตั้งบริษัทใหม่

“MBKgo.com” โปรเจคนำร่องธุรกิจดิจิทัลของ MBK

โมเดลธุรกิจที่ “MBK Group” กำลังจะมุ่งไปนับจากนี้ คือ “O2O” หรือ “Offline to Online” หรือที่เรียกว่า “Omni-channel” โดยต้องการเชื่อมต่อ Physical Business ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจศูนย์การค้า, โรงแรม, กอล์ฟ, อาหาร ที่ “MBK Group” มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ผสานเข้ากับ Online Business เพื่อขยายฐานไปยังผู้บริโภคกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ดังนั้น การตั้ง “MBK Digital” จึงเป็นขาหนึ่งที่จะเชื่อมต่อกับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ และรองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดกว่า 2,812,592 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,133,729 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้อีคอมเมิร์ซ แข่งขันกันรุนแรง เพราะฉะนั้น “ก้าวแรก” ของการเข้าสู่ดิจิทัล “MBK Digital” จึงเลือกโฟกัสที่ “อีคอมเมิร์ซกลุ่มท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์” ก่อน เนื่องจากมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 677,847 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปีหน้า จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 740,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็น “จุดแข็ง” ของกลุ่ม MBK

เมื่อตัดสินใจโฟกัสที่ Leisure Industry แล้ว จึงมองหาช่องว่างในอุตสาหกรรมนี้ กระทั่งพบว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการช้อปดีลรูปแบบ “e-Exhibition” (งานแสดงสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์) มากนัก จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเว็บไซต์ “MBKgo.com” เป็นช้อปดีลรูปแบบ “e-Exhibition”  ถือเป็น Pilot Project แรกของการก้าวเท้าเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ของ MBK Group

โดยในเบื้องต้น นำเสนอช้อปดีล 3 กลุ่มหลัก คือ คือ 1. ร้านอาหาร 2. โรงแรม รีสอร์ท และ 3. กิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่างๆ เนื่อจากทั้ง 3 ส่วนนี้ สอดคล้องกับธุรกิจของ MBK ที่มีในปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งกลุ่มธุรกิจ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของ “MBK Group” ให้มากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับ Roadmap การดำเนินธุรกิจของ “MBKgo.com” วางเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก ปีนี้ (เปิดตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม) เป็นช่วงทดสอบตลาด โดยโฟกัสที่ผู้บริโภคไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

จากนั้นเฟสสอง ในปี 2561 จะทำแคมเปญ เพื่อรุกขยายตลาดทั่วประเทศ และต่อด้วยเฟสสาม ในปี 2562 ขยายเข้าสู่ตลาด Inbound Traveler

ขณะที่โมเดลการสร้างรายได้มาจาก 3 ทาง ประกอบด้วย 1. เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย หรือ Transaction Fee 2. รายได้จากค่าโฆษณา และ 3. Value Added Service ต่างๆ ซึ่งขณะนี้รายได้ที่เข้ามายังมาจากเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย

“MBK Group มีรายได้รวมต่อปีหลักหมื่นล้านบาท และมีความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพราะฉะนั้นในส่วนธุรกิจใหม่ “MBK Digital” เป็นพอร์ตโฟลิโอเล็กๆ ในเครือ ซึ่งงบลงทุนเบื้องต้นของธุรกิจนี้อยู่ที่ 80 ล้านบาท ใช้สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์ม การตลาด และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอื่นๆ เช่น ด้านบุคลากร ระบบซัพพอร์ตร้านค้าที่ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา และถ้าหลังจากเราเปิดตัวออกไป ภาพธุรกิจชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปทาง MBK Group สามารถเพิ่ม Funding ได้”

การันตีผู้บริโภค ด้วยชื่อ “MBK” และแตกต่างจาก “เว็บดีล”

อย่างไรก็ตามด้วยโมเดล e-Exhibition ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยในกลุ่มผู้บริโภคไทยวงกว้างมากนัก ทำให้มองดูเผินๆ อาจถูกมองว่าเป็นโมเดลธุรกิจ “เว็บดีล” ที่คนไทยหลายคนเคยมีประสบการณ์ไม่ประทับใจกับเว็บดีล ทั้งกรณีคนที่ซื้อคูปองดีลไป แต่กลับนำไปใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้ แต่มีเงื่อนไขมากมาย ไปจนถึงเหตุการณ์ปิดตัวลง ที่เป็นข่าวดังก่อนหน้านี้

ผู้บริหาร MBK Digital ย้ำว่า “e-Exhibition แตกต่างจากเว็บดีลทั่วไป และไม่ใช่ e-Marketplace นั่นเพราะ e-Exhibition มีช่วงระยะเวลาการจัดอีเว้นท์บนออนไลน์ชัดเจน ทำให้มีวันเริ่มต้น และมีวันจบงานอีเว้นท์ โดยเว็บไซต์ “MBKgo.com” กำหนดระยะเวลาการจัดไว้อยู่ที่ 12 วันต่อหนึ่งอีเว้นท์ และทั้ง 3 Category จะมีอีเว้นท์ออนไลน์ใหม่ตลอดทุกสัปดาห์

ในขณะที่เว็บดีลทั่วไป ช่วงระยะเวลาการขายดีล จะยาว 3 – 4 เดือน หรือบางดีลขายไปเรื่อยๆ จนกว่าคูปองดีลจะหมด
ขณะเดียวกัน Revenue Model ของ MBKgo คือ เฟสแรก มาจากเปอร์เซ็นต์ยอดขาย หรือ Transaction Fee เป็นหลัก เพื่อสร้าง Win-Win-Win ให้กับทั้งเว็บไซต์เอง พาร์ทเนอร์ร้านค้า และผู้บริโภคได้ส่วนลดดีลต่างๆ แตกต่างจากผู้เล่นเว็บดีลอื่นๆ ที่ไม่สามารถเป็น Win-Win ได้ทุกฝ่าย เพราะร้านค้าที่มาดีลด้วย ไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากผู้ให้บริการเว็บดีล เก็บ Margin เยอะ

นอกจากนี้ผู้บริโภครู้จัก และคุ้นเคยกับ MBK มานาน เราอยู่ในธุรกิจค้าปลีกกว่า 30 ปี มีความน่าเชื่อถือ จึงเป็นที่มาของชื่อ “MBKgo.com” ทำให้เมื่อผู้บริโภคเห็น ก็นึกถึง MBK ได้ทันที”

หลังจากทดสอบตลาด 3 เดือน (สิงหาคม – ตุลาคม) พบว่า กลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้หญิง และโดยเฉลี่ยเป็น Generation Y อายุ 25 – 34 ปี รองลงมาเป็น Generation X อายุ 35 – 44 ปี โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยม คือ กลุ่มอาหาร และผู้บริโภคนิยมเข้าเว็บไซต์ผ่านแพลตฟอร์ม “Mobile Device” มากที่สุด (80%) ส่วนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 20% ตอกย้ำให้เห็นว่าการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบ UI และ UX ให้รองรับ Mobile Device ขณะที่พฤติกรรมการชำระเงิน ลูกค้าส่วนใหญ่ เลือกชำระผ่านบัตรเครดิตมากที่สุด

4 เคล็ดลับความสำเร็จ e-Exhibition

ปัจจัยที่จะทำให้เว็บไซต์ e-Exhibition แจ้งเกิด และผู้บริโภค – ร้านค้าให้การตอบรับ ต้องประกอบด้วย

1. “โปรดักต์” ที่นำเสนอต้องน่าสนใจ
2. “โปรโมชั่น” ดี ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้
3. การใช้งานแพลตฟอร์ม e-Exhibition ต้องใช้งานง่าย เข้าใจง่าย
4. การสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ ให้คนรู้จักมากขึ้น

เพราะฉะนั้นแบรนด์พาร์ทเนอร์ที่จะมาอยู่บนแพลตฟอร์มของ MBKgo.com จะเลือกแบรนด์เป็นที่รู้จักระดับหนึ่ง และแบรนด์นั้นต้องมีความน่าเชื่อถือ

ในขณะที่ฝั่งผู้บริโภค จะพิจารณาว่าโปรดักต์ที่นำเสนอ ตอบโจทย์หรือไม่ ควบคู่ไปกับการพิจาณาโปรโมชั่นน่าสนใจไหม และคนขายคือใคร

“เราวางแผนจำนวน e-Exhibition ทั้งปีที่จัดขึ้น อยู่ที่ 100 อีเว้นท์ ขณะเดียวกันเราเพิ่มความสนใจของอีเว้นท์ที่จัด ด้วยการเพิ่มจำนวนบูธที่เข้าร่วมอีเว้นท์ออนไลน์ อย่างในปีนี้ 1 อีเว้นท์ มี 500 บูธ แต่ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 1,500 บูธต่ออีเว้นท์ที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง

ส่วนจำนวนผู้เข้าชมงาน e-Exhibition ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 500,000 คนต่องาน และคาดว่ามูลค่าดีลในปีหน้า จะอยู่ที่ 250 ล้านบาท ขณะที่ต่อไปถ้าเราต้องการทำให้การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า-บริการออนไลน์นี้ มี Entertainment มากขึ้น จะต้องเพิ่มกลุ่มสินค้า-บริการที่มากขึ้นกว่า 3 หมวดที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้ MBKgo.com กลายเป็น e-Exhibition ใหญ่ที่สุดของประเทศ”

ไม่หยุดแค่ e-Exhibition พร้อมเล็งขยายพอร์ต “ธุรกิจดิจิทัล” หลากหลาย

ไม่เพียงแต่การเปิดตัวเว็บไซต์ e-Exhibition เท่านั้น ต่อไปในอนาคต หน่วยธุรกิจใหม่ “MBK Digital” วางแผนขยายพอร์ตโฟลิโอ “ธุรกิจดิจิทัล” อื่นๆ ที่มีโอกาส และศักยภาพทางการตลาด เพื่อ Diversify ให้มีความหลากหลาย

เพราะวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งบริษัทย่อยนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจของ MBK Group ในการขยับเข้าสู่ยุค Omni-channel โดยใช้พลัง Synergy ธุรกิจในเครือ รวมทั้งเพื่อขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

“MBKgo.com แบรนด์แรก และธุรกิจแรกที่อยู่ภายใต้ MBK Digital ถือเป็น Pilot Project เพื่อทำให้บริษัทได้เรียนรู้ แชร์องค์ความรู้ร่วมกันระหว่างบริษัทในเครือ และทำให้เราได้ฐานลูกค้าใหม่เข้ามา จากนั้นต่อไปเราจะขยายธุรกิจดิจิทัลไปสู่สเต็ป 2 – 3 – 4… ภายใต้แบรนด์อื่นๆ เช่น ธุรกิจ e-Marketplace หรือแม้แต่ธุรกิจดิจิทัลอื่นๆ ที่สามารถขยายออกไปได้อีกมาก” คุณยศสันธ์ สรุปทิ้งท้าย

 


แชร์ :

You may also like