Facebook ทุกวันนี้ โพสต์ที่เป็นวิดิโอคลิปสั้นๆ มักจะได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นพิเศษ และรู้หรือไม่ ? ว่าการลงทุน boost โพสต์ที่เป็นวิดีโอนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่ำกว่า ประหยัดคุ้มค่ากว่าโพสต์ที่เป็นรูปและข้อความแบบเดิมๆ
เหตุผลคือทาง Facebook กำลังเน้นให้ความสำคัญกับโพสต์ที่เป็นวิดีโอเป็นพิเศษ ฉะนั้นลงแล้วคนก็เห็นเยอะกว่า (Reach เยอะกว่า) ใส่เงินโฆษณาก็ Cost ต่างๆต่ำกว่า และอีกหลายๆ ข้อดี ฯลฯ
ล่าสุดเว็บไซต์ MarketingLand ได้ลงบทความใหม่ สอนให้รู้จัก 4 ตัวเลขวัดผล (metric) เบื้องต้น และเทคนิคที่ห้ามลืม ในการลงคลิปบนเฟซบุ๊กเพื่อใช้เป็นโฆษณา
1. “View-through Rate”
คือเปอร์เซ็นต์อัตราส่วน “คนดู” เทียบกับ “คนเห็น” คิดมาจากจำนวนคนที่ “ดู”คลิปในจอเกิน 3 วินาที (นับเป็น View) ไม่ว่าจะเปิดเสียงหรือไม่เปิดเสียง เทียบกับ(หารด้วย)คนทั้งหมดที่เห็นโพสต์นี้ (นับเป็น Reach) แต่อาจจะแค่เลื่อนผ่านจอไปอย่างรวดเร็วไม่ถึง 3 วินาที
ยกตัวอย่างเช่น โพสต์วิดีโอของคุณถูกส่งขึ้นไปบนจอของคน 1 หมื่นคน(Reach) แล้วมีคนดูเกิน 3วินาทีอยู่ 3 พันคน ก็ถือว่าคุณได้ View Through Rate ที่ 30% เป็นต้น
ค่า Reach นั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากับจำนวน Fan ทั้งหมดของเพจเรา เพราะแต่ละเพจมี “บุญเก่า” ต่างกัน เช่นเพจไหนที่ลงเรื่องน่าสนใจ ถูกใจแฟนๆเป็นประจำ โพสต์แต่อะไรแต่ละครั้งก็มักจะได้ Reach สูงกว่าเพจที่มี “กรรมเก่า” เยอะ เช่นโพสต์อะไรน่าเบื่อ หรือนานๆโพสต์ที หรือกลับกันก็โพสต์ถี่เกินจนคนรำคาญ กดเลิกติดตามหรือแจ้งสแปมกันรัวๆ
ส่วนค่า View นั้น ก็ขึ้นอยู่กับภาพตัวอย่างคลิป และภาพเฟรมแรกๆของวิดีโอตัวนั้นเลยว่าน่าสนใจแค่ไหน และอย่าลืม *ใส่ชื่อเรื่อง หรือคำอธิบาย* ไว้ด้วย เพราะตลิปในเฟซบุ๊กนั้นเมื่อเลื่อนผ่านจะถูกปิดเสียงไว้เป็นอัตโนมัติ นอกจากคนดูจะกดเปิดเอง
สำหรับตัวเลข View-through Rate นี้ทางผู้เชี่ยวชาญแห่งเว็บไซต์ MarKetingLand บอกว่าควรจะได้ 30% ขึ้นไป
2. “10-Second Views”
นี่คือตัวเลขจำนวนคนที่ดูคลิปคุณนานเกิน 10 วินาที ซึ่งถ้าดูนานขนาดนี้แปลว่าพวกเขาหรือเธอได้รับสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อแล้ว และส่วนใหญ่ก็คงจะเปิดเสียงแล้วด้วย ซึ่งสำหรับโฆษณาส่วนใหญ่แล้ว ตัวเลขนี้น่าจะสำคัญและยึดเป็นหลักมากกว่าตัวแรก
3. Engagement
แปลง่ายๆ คือการผูกพันมีส่วนร่วมของผู้ชม ซึ่งก็ไม่ต้องตกใจ ในเฟซบุ๊กมันก็คือการ Like, Share, และ Comment ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะสนใจเชิงปริมาณตัวเลขแล้ว อย่าลืมไล่อ่านกันให้ครบด้วย ว่าผลตอบรับตรงโจทย์ที่เราต้องการหรือไม่ และมี feedback เชิงลบหรือไม่ และที่สำคัญถ้ามีใครถามอะไรก็ต้องตอบให้ครบและไม่ดราม่า
4. Video average watch time
ดูกันอย่างเจาะจงไปเลยว่าคลิปนั้นๆ ของเรา คนดูเฉลี่ยนานกี่วินาที หรือกี่นาที ซึ่งตัวเลขนี้ก็สำคัญ ใช้เทียบกันระหว่างคลิปได้ เผื่อว่าคุณมีหลายเวอร์ชั่น หรือใช้เทียบโฆษณาใหม่กับโฆษณาเก่าก็ได้ แต่อย่าลืมดูปัจจัยเรื่องจำนวน Fan ที่ต่างกันด้วย เช่น ตอนนี้จำนวนแฟนเพิ่ม 2 เท่าจากตอนนั้นแล้วเป็นต้น
..
ต่อไปก็มาถึง 2 สิ่งที่เว็บ ทาง MarketingLand แนะว่าต้องทำ
ข้อแรก *ต้องใส่คำบรรยาย* หรือ caption หรือ subtitle ไปด้วย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าบนเฟซบุ๊กนั้นคลิปต่างๆจะถูกปิดเสียงอัตโนมัติมาก่อน นอกจากคนดูจะเปิดเอง ฉะนั้นในหลายๆ วินาทีแรกของคลิปเรานั้นคนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่เปิดเสียงกัน
ข้อสอง *คลิปอย่ายาวเกิน 90 วินาทีถ้าจะเป็นโฆษณา* เพราะว่าถ้ายาวเกินก็จะเป็นได้แค่ Boost Post ไม่สามารถไม่เป็นโฆษณาอยู่ในตำแหน่งอื่นๆได้
…
บทความนี้สำคัญกับทั้งแม่ค้าพ่อค้าที่ขายของทางโซเชียลมีเดีย ร้านออนไลน์ ออฟไลน์ ไปถึงบริษัทใหญ่ๆ จะใส่เงิน Boost Post เป็นโฆษณา
เพราะจะลงทุนโฆษณาบนสื่อออนไลน์ทั้งที ต้องรู้วิธีวัดผล จะได้รู้ว่าเมื่อโฆษณาตัวนั้นๆ เวิร์คแค่ไหน จะได้เก็บมาปรับปรุงแก้ไขถ้ามันแป้ก หรือใส่เงินเพิ่มถ้าผลออกมาดี
แปลและเรียบเรียงโดย: Somkid Anektaweepon