ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การตรวจสอบความถูกต้องหรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลกลับทำได้ยาก เนื่องจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นระบบอิสระ หลายครั้งที่ข้อมูลด้านสุขภาพถูกเผยแพร่ออกมาไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้นำข้อมูลไปใช้หรือบริโภค
ด้วยความห่วงใยในสุขอนามัยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน AIS จึงได้พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมไทย “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” ให้เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มงานด้านสาธารณสุขสำหรับสื่อสารข้อมูลในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน ระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน รวมถึงกลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก รวมทั้งนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปเผยแพร่ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของคนในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อประชาชนมีสุขภาพดี และสามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
บทบาทสำคัญของอสม. ต่องานสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของไทย
จิตอาสาอสม. เป็นเครือข่ายที่สำคัญต่อระบบงานสาธารณสุขของไทย อสม.จะเป็นผู้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และรพ.สต.กับประชาชนในชุมชน โดยจะทำหน้าที่ในการดูแล ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยเพื่อสุขภาพของตนเอง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ทำให้คนในชุมชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงงานบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดความดันโลหิต การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งติดตามและฟื้นฟูผู้ป่วยในชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง รวมทั้งจะต้องสำรวจสถานการณ์สุขภาพ โรคระบาด และการเก็บข้อมูลประชากรในชุมชน เช่น ข้อมูลคนท้อง คนป่วย หรือเด็กที่ต้องมาฉีดวัคซีน เพื่อส่งรายงานไปยังรพ.สต. ทุกเดือน
บทบาทของ อสม. ออนไลน์ แอปพลิเคชันเฉพาะทางด้านสาธารณสุข
ด้วยภาระหน้าที่ของจิตอาสาอสม. ที่ต้องดูแลสุขภาพคนในชุมชนในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งมีข้อจำกัดในการทำงานหลายอย่าง โดยเฉพาะในการเดินทาง ไปแจ้งข่าวโรคระบาด และเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเหล่านี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ AIS มองเห็นและคิดค้นพัฒนา “แอปฯ อสม. ออนไลน์” ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การทำงานของอสม. คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แอปฯ อสม. ออนไลน์ จะเข้ามาช่วยส่งเสริมและบริหารจัดการการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนและช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เช่น การนัดประชุม ก็สามารถแจ้งนัดหมายสมาชิกอสม.ให้รับรู้พร้อมกันได้ในคราวเดียว มีระบบตอบรับและปฎิเสธการเข้าร่วมประชุม ทำให้รู้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ลดความสิ้นเปลืองในการจัดเตรียมเอกสาร หรือเมื่อมีเหตุการณ์โรคระบาดเกิดขึ้น หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ก็สามารถแจ้งข่าวโรคระบาดได้ทันที ทำให้อสม.รับรู้ข่าวสารที่มีข้อมูลถูกต้องแม่นยำ ขณะเดียวกัน อสม.ก็สามารถแจ้งสถานการณ์โรคระบาดในพื้นที่กลับมาให้หน่วยบริการระดับปฐมภูมิได้รับรู้เช่นกัน ซึ่งต่างจากการทำงานในอดีตที่หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ต้องใช้โทรศัพท์แจ้งนัดประชุม หรือแจ้งข่าวโรคระบาดผ่านไปยังประธานอสม. และประธานอสม. ในแต่ละหมู่ก็จะโทรแจ้งสมาชิกอสม. ในพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเอง ทำให้เสียเวลาและเกิดความล่าช้า และบางครั้งก็เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด นอกจากนี้ แอปฯ อสม.ออนไลน์ ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งรายงานด้วยภาพถ่าย ข้อความ และกำหนดพิกัดบนแผนที่ได้ ทำให้หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ได้รับข้อมูลเร็วขึ้น เห็นภาพชัดเจน รับทราบตำแหน่งของผู้ป่วย ทำให้สามารถให้คำแนะนำแก่ อสม.ในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานสาธารณสุข
แอปฯ อสม.ออนไลน์ จึงถูกออกแบบมาเฉพาะกลุ่มให้มีความสอดคล้องกับวิถีการทำงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเน้นความเรียบง่าย การใช้งานไม่ซับซ้อน เมนูเป็นภาษาไทยที่ง่ายต่อความเข้าใจ ทำให้สมาชิกในเครือข่าย อสม. ออนไลน์สามารถรับรู้ข่าวสารและเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขภายในชุมชนของตนเองได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและถูกต้อง ซึ่งจะสร้างความอุ่นใจให้กับคนในชุมชนและสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่สนใจนำแอปฯ อสม.ออนไลน์ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข สามารถดูข้อมูลรายละเอียดที่ www.ais.co.th/aorsormor หรือโทร 06 2520 1999