ผลวิจัยล่าสุดของวีซ่า บริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลระดับโลก เผยให้เห็นว่าสามในสี่ (74 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ทำแบบสำรวจในประเทศรู้จักการชำระเงินด้วย QR code ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกือบครึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) ต้องการที่จะชำระด้วยวิธีนี้ในชีวิตประจำวัน
Quick Response Payments หรือการชำระเงินด้วย QR code นั้นเป็นที่นิยมในกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) โดย 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมดเคยชำระเงินด้วย QR code แล้ว โดยในกลุ่มที่เคยชำระเงินด้วยวิธีนี้ ผู้ใช้ในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายนิยมใช้มากที่สุด (53 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับผู้ใช้ในกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (29 เปอร์เซ็นต์)
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์การชำระเงินด้วย QR code ชื่นชอบวิธีการนี้ โดยกว่าครึ่งระบุว่า “มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานดีเยี่ยม” (47 เปอร์เซ็นต์) มีเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่บอก “ไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้”
สืบเนื่องจากผลตอบรับจากประสบการณ์การใช้ที่ดีของผู้บริโภค วีซ่าได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรจากหลากหลายสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่าสามารถใช้งาน QR code ได้อย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2561
คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อต้นปีเราได้มีการเปิดตัว ‘QR Code มาตรฐาน’ เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับการชำระเงินด้วย QR code จากทุกสถาบันได้โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน โซลูชั่นการชำระเงินแบบเต็มรูปแบบที่ยึดเอาผู้ใช้เป็นสำคัญและสามารถใช้งานร่วมกันได้ในทุกแพลตฟอร์มนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การชำระเงินด้วย QR code ประสบความสำเร็จในทุกภาคส่วน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลในยุคที่มีการเชื่อมต่อสูงไปพร้อมกัน”
ภายหลังจากความสำเร็จในการเปิดตัวและเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National ePayments Plan) ทำให้ QR code เป็นที่จับตามองเพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถช่วยขยายการชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และด้วยความต้องการของคนในการชำระด้วย QR code มีเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้โซลูชั่นนี้ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีผู้เล่นมากกว่า 20 สถาบันการเงินและธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน อาทิ เครือข่ายโทรคมนาคม ที่ให้บริการชำระเงินด้วย QR code ซึ่งหลายแห่งยังเป็นระบบปิดที่ไม่รองรับการชำระเงินจากแพลตฟอร์มอื่น
“การสร้างแรงจูงใจให้ทุกกลุ่มผู้บริโภคหันมาลองใช้ QR Code มาตราฐานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง นอกจากผู้บริโภคต้องการจุดชำระเงินทั้งในและต่างประเทศ และความปลอดภัยระดับสากลแล้ว พวกเขายังต้องการเพลิดเพลินไปกับสิทธิประโยชน์ที่เครือข่ายระบบชำระเงินดิจิตอลอย่างวีซ่าคัดสรรมาให้ เช่น สิทธิพิเศษ โปรโมชั่น และโปรแกรมรีวอร์ดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรวีซ่าในชีวิตประจำวัน” คุณสุริพงษ์ กล่าวเสริม
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงสามหมวดหมู่หลักๆที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการชำระด้วย QR code คือ การชำระบิลต่างๆ (50 เปอร์เซ็นต์) การชำระเงินในร้านสะดวกซื้อ (39 เปอร์เซ็นต์) และในร้านขายของชำ (36 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า มีผู้คนส่วนมากพร้อมที่จะชำระเงินด้วย QR code ในชีวิตประจำวัน
คุณสุริพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า “ถ้าผู้คนต้องการชำระเงินด้วย QR code เป็นประจำ สิ่งที่สำคัญคือ แหล่งที่มาของเงินที่ชำระเงินของผู้ใช้งานไม่ควรถูกจำกัดด้วยช่องทางใดช่องทางหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในขั้นต่อไปของการพัฒนาระบบการชำระเงิน ผู้บริโภคควรสามารถเลือกได้ว่าจะชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือบัตรพรีเพด ที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ของพวกเขาได้ และไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกชำระผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือบัตรพลาสติก ความต้องการของผู้บริโภคต้องมาก่อนเสมอ”
ความต้องการในการชำระด้วย QR code ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่จะเป็นที่นิยมนั้น 54 เปอร์เซ็นต์เจาะจงว่าต้องง่ายต่อการใช้งานและขั้นตอนน้อย ขณะที่ 52 เปอร์เซ็นต์ต้องการความความรวดเร็วเพื่อประหยัดเวลา และ 36 เปอร์เซ็นต์ต้องการวิธีการใช้งานที่สนุกและน่าสนใจ อย่างไรก็ดีความปลอดภัย (36 เปอร์เซ็นต์) ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้การชำระเงินแบบ QR code
ไม่นานมานี้ วีซ่าเพิ่งได้ประกาศประกาศรับใบอนุญาตเป็นเครือข่ายจัดการธุรกรรมการเงินผ่านบัตรเดบิตในประเทศไทยจากธนาคารแห่งประเทศไทย ใบอนุญาตเดบิตที่วีซ่าได้รับ ช่วยให้วีซ่าสามารถเข้าร่วมในตลาดเดบิตในประเทศไทยได้อย่างเต็มรูปแบบและผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการชำระด้วย QR Code มาตรฐาน ผ่านบัตรวีซ่าเดบิต