HomePR Newsทีเส็บ เปิดตัวพ็อกเก็ตบุ๊ก “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” เล่าเรื่องไมซ์ผ่านมุมมองและประสบการณ์จริง [PR]

ทีเส็บ เปิดตัวพ็อกเก็ตบุ๊ก “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” เล่าเรื่องไมซ์ผ่านมุมมองและประสบการณ์จริง [PR]

แชร์ :

ทีเส็บ เปิดตัวพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่รับปี 61 “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” หนังสือเล่มแรกของเมืองไทยที่เล่าเรื่องอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างครบถ้วน เล่มขนาดกะทัดรัด ดีไซน์ทันสมัยและอ่านง่าย นำเสนออย่างสนุกสนาน น่าสนใจ พร้อมรวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงไมซ์กว่า 11 คน สร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดสร้างคนพันธุ์ไมซ์รุ่นใหม่ให้กับประเทศ ได้เข้ามาช่วยพัฒนาไมซ์ของไทยให้เติบโต พร้อมเป็นศูนย์กลางไมซ์แห่งเอเชีย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นายจิรุตถ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า “ไมซ์เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่ทั้งนานาชาติและประเทศไทยต่างให้ความสำคัญ ในฐานะอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ของโลกมีขนาดใหญ่ถึงเกือบสี่แสนล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่แล้วไมซ์สร้างรายได้ทั้งจากการเดินทางของคนเข้ามาจัดงานจากต่างประเทศ และคนไทยที่จัดงานในประเทศรวมแล้ว 36.3 ล้านคน สร้างรายได้ 1.79 แสนล้านบาทจากปัจจัยดังกล่าวนี้เอง สสปน.จึงเกิดแนวคิดการจัดทำ “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกของเมืองไทย ที่รวบรวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับไมซ์ในมุมต่างๆ มาเล่าอย่างเข้าใจง่าย  อ่านตามไปได้อย่างเพลิดเพลิน เปี่ยมอรรถรส จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ เป็นการจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ มาร่วมสร้างสรรค์ไมซ์ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ต่อยอดสร้างคนพันธุ์ไมซ์รุ่นใหม่ให้กับประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการในธุรกิจไมซ์ หรือคนที่สนใจอยากเข้ามาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ รวมไปถึงนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป”

สำหรับเนื้อหาภายในพ็อกเก็ตบุ๊ก “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” นั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่q ได้แก่ ส่วนแรก KNOW MICE นี่ล่ะ…ไมซ์ แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับธุรกิจไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นความหมายที่แท้จริงของหัวใจ 4 ห้องที่สำคัญของไมซ์ Meetings, Incentive Travels, Conventions และ Exhibitions แล้วยังทำให้เรารู้ด้วยว่า ธุรกิจที่พักแนวใหม่ Airbnb ซึ่งฉีกกรอบการเข้าพักแบบเดิมๆ ได้แนวคิดมาจากงานประชุมสัมมนาด้านการออกแบบที่ซานฟรานซิสโกในปี 2007 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ  Airbnb เกิดจากธุรกิจไมซ์นั่นเอง  นอกจากนั้นยังได้รวบรวมเทรนด์ใหม่ๆของไมซ์ที่ห้ามพลาด อาทิ Sport Event หรือ Smart MICE ที่มีการนำดิจิทัลหรือการนำ Mobile Application มาใช้เพื่อสร้างสีสันให้ไมซ์ รวมไปถึงการนำเสนอเรื่องจัดตั้งเมืองไมซ์หรือ MICE Cities อย่างเป็นทางการได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่นและพัทยา เป็นต้น

ส่วนที่สองได้แก่ THE MIGHTY MICE เมื่อไมซ์เข้ามา จงเปิดประตู เป็นการถอดบทเรียนการประมูลสิทธิ์ การดำเนินงานเป็นเจ้าภาพจัดงานของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยนำเสนอทั้งหมด 7 งานด้วยกัน ได้แก่ Organo Gold Asia Convention ซึ่งถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาของการจัดงานประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2558 และปี 2560, การจัดประชุม Quantum FY18 Sales & Partner Kick off 2017 ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เลือกเชียงใหม่เป็นปลายทางการประชุมที่ทุกอย่างในงานได้เตรียมไว้ให้ทุกคนร้อง“ว้าว”, การประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก, งาน FDI Annual World Dental Congress 2015 ครั้งที่ 103 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค เป็นงานประชุมทันตแพทย์โลกขององค์กรสหพันธ์ทันตกรรมโลก ที่มีคนเข้าร่วมงานเป็นหมื่นคน ประเทศไทยใช้เวลาเตรียมงานนี้ถึง 2 ปีเต็ม, Future Energy Asia 2018 งานประชุมพลังงานระดับโลกซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในต้นปี 2561 มีคนเข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1,500 คน และคาดว่าจะมีคนเข้าชมงานจัดแสดงสินค้าไม่น้อยกว่า 15,000 คน, งาน  VIV Asia  เป็นงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และจัดขึ้นในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสุดท้ายงาน  Harmony World Puppet Carnival in Bangkok Thailand 2014 งานเทศกาลหุ่นโลกที่หุ่นจากนานาประเทศกว่า 80 ประเทศได้พากันเดินขบวนพาเหรดอย่างยิ่งใหญ่และยาวเหยียดรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร

ในส่วนสุดท้ายของพ็อกเก็ตบุ๊ก MICE ไม่ได้แปลว่าหนู มีชื่อว่า WHEN MICE MEETS MASS บทเรียนนอกตำราจากคนพันธุ์ไมซ์  เป็นบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงไมซ์กว่า 11 คน ได้แก่ ดร.ประสาน ภิรัช บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ที่ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับไมซ์ไทยไว้ว่า “เมืองไทยมีศักยภาพมากสำหรับธุรกิจไมซ์ แต่ต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เดินทางสะดวกกว่านี้ ปลอดภัยและมีวินัยมากขึ้น ประเทศไทยโดดเด่นในแง่ของวัฒนธรรมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา กรุงเทพฯ เป็น vibrant city หรือเมืองที่มีชีวิตชีวา เราต้องใช้ประโยชน์จากคำนี้ให้มาก” ส่วนนายทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า(ไทย) กล่าวว่า “เอ็กซิบิชันเติบโต 3-5% ทุกปี สิ่งที่ต้องการคือเรื่องสถานที่จัดแสดง ล่าสุดขอนแก่นได้เปิดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่นหรือ KICE ขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งเอ็กซิบิชันที่เหมาะกับขอนแก่นน่าจะเป็นเรื่องโลจิสติกส์ ถ้าเป็นเชียงใหม่เหมาะกับเรื่องเกษตรกรรมและหัตถกรรม ความพร้อมของไทยในการจัดแสดงสินค้าระดับโลกในตอนนี้อาจยังไปไม่ถึง น่าจะเริ่มจากการเป็นผู้นำในอาเซียนก่อน อยากให้ทีเส็บส่งเสริมให้ความรู้ให้คนรู้จักไมซ์มากยิ่งขึ้น”

ด้านนายลอย จุน ฮาว (Mr. Loy Joon How) ผู้จัดการทั่วไปชาวสิงคโปร์ของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า “อิมแพ็คจะเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์ไมซ์ หรือ MICE Venue  เป็นเมืองไมซ์แบบครบวงจร หรือ Integrated MICE Cityด้วยการผสมผสานการใช้งานอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วเข้ากับสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพื่อความบันเทิงใหม่ๆ” ส่วนนายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหารดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ไมซ์ควรเป็นนโยบายหลักของประเทศ เราไม่ใช่แค่ผู้นำระดับอาเซียน แต่สามารถเป็นผู้นำไมซ์ของเอเชียได้ เมืองไทยเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยว สถานที่เพียงพอต่อการประชุม อาหารอร่อยและบริการดี เราต้องกระจายธุรกิจไมซ์ไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้นดูเยอรมันเป็นแบบอย่าง ต้องสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านไมซ์ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจไมซ์”

นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)  องค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ในเมืองไทย แนะว่า “ความหลากหลายของเมืองไทยคือข้อได้เปรียบที่ทำให้เมืองไทยรองรับ MICE ได้เกือบทุกประเภท แต่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด และสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้ที่มาเยือน แต่อยากให้คนไทยเก่งเรื่องภาษาให้มากขึ้นและอยากให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักไมซ์อย่างถูกต้อง” สำหรับ   ผศ.ร.ท. (หญิง)  ดร.  เกิดศิริ เจริญวิศาล ผู้ปลุกปั้นสร้างคนไมซ์ กล่าวว่า “ตอนนี้ได้พัฒนาหลักสูตรไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมีการนำงานวิจัยต่างๆมาเป็นองค์ความรู้ และพยายามถ่ายทอดความรู้เรื่องไมซ์ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ โดยมุ่งไปที่กลุ่มอาชีวะ อาจเพิ่มไปในรายวิชา เช่น วิชาเอกเรียนช่าง วิชาโทไปเรียนช่างของไมซ์ ช่างของโรงแรม ตรงนี้จะทำให้เราได้คนเฉพาะทางของธุรกิจไมซ์”นอกจากนั้น นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน หนึ่งในผู้สร้าง Index ได้กล่าวว่า “หัวใจของการทำงานอีเวนต์ระดับแนวหน้า คือวิสัยทัศน์ที่ดีและการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งอีเวนต์ก็เหมือนตัวแทนของไมซ์” ส่วนนายเบิด จำเริญนุสิต ผู้บริหารของ Pacific World บริษัทชั้นนำระดับโลกในวงการธุรกิจไมซ์ด้านการจัด Incentive Travel ซึ่งมีเครือข่ายกว่า 44 ประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงจุดขายของประเทศไทยในการทำทริปท่องเที่ยวเพื่อรางวัลว่า “การที่มีตัวเลือกโรงแรมเชนหลากหลายลูกค้า มองว่า “Good value for money” แต่ควรใส่ความครีเอทีฟ ขายความพิเศษลงไปตลอดทริป ทุกอย่างต้อง WOW Factors ซึ่งมีทั้งว้าวกับการตกแต่งที่อลังการไปจนถึงว้าวกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น มีโลโก้บริษัทลูกค้าในถุงกล้วยแขกที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือมีธงบริษัทติดอยู่กับรถตุ๊กตุ๊ก”

นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike สตาร์ทอัพซึ่งเกิดขึ้นจากการมองเห็นอนาคตของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ได้ฝากข้อคิดไว้ในหนังสือว่า “ไมซ์ไม่ได้อยู่เฉพาะศูนย์ประชุมหรือโรงแรม แต่คำทุกคำของไมซ์  MICE สามารถทำกับชุมชนได้ เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะประยุกต์ ไม่มีห้องประชุม ไปใช้โรงเรียนหรือศาลาชุมชนได้ไหม มันคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์” ส่วนนายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ปั้นเมืองสู่ไมซ์ ให้เป็นมากกว่าเมืองท่องเที่ยว ได้กล่าวว่า “ในอดีตพัทยาเน้นขายครอบครัว ทำแบบวาไรตี้ เวลาจะขายเฉพาะกลุ่มขายยาก จึงปรับกลยุทธ์ใหม่ สร้างเป็น Pattaya City Definitely More เมืองพัทยามีมากกว่าที่คุณคิด แบ่งหมวดหมู่เป็นกรุ๊ปว่ามีอะไรเป็น CSR อันไหนเป็นวัฒนธรรมหรือพื้นที่ไหนขายธรรมชาติ ซึ่งทำให้ได้รับตอบรับที่ดีขึ้น” และสุดท้ายเป็นบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารทีเส็บ นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รักษาการ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรมของทีเส็บ ซึ่งกล่าวปิดท้ายว่า “การกระตุ้นประเทศไทยไปสู่ 4.0 แบบก้าวกระโดด เวทีที่ง่ายและเร็วที่สุดคือไมซ์ เพราะไมซ์สามารถสร้างอิมแพ็คที่สุดแล้วสำหรับตอนนี้ ความฝันของเราคืออยากให้มี Year of MICE เป็นวาระแห่งชาติ”

สำหรับประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไมซ์ในอาเซียนตัวจริง โดยวัดจากการจัดประชุมสัมมนา ระดับนานาชาติในปี 2559 ได้จัดงานไปทั้งหมด 174 งาน มากกว่าประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเพียง 151 งาน ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศไมซ์ของโลกอันดับที่ 24 ในขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 27 ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ….. MICE ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่หนูตัวเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ   หากสนใจและไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างไร พ็อกเก็ตบุ๊ก “MICE ไม่ได้แปลว่าหนู” คืออาวุธทางความคิดอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนให้รู้จักกับไมซ์มากขึ้นได้อย่างแน่นอน สามารถเป็นเจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มนี้ที่ร้านนายอินทร์ทุกสาขา ร้านหนังสือ B2S และร้านหนังสือทั่วไป ในราคาเล่มละ 265 บาท


แชร์ :

You may also like