เมื่อโลกหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ “คอมพิวเตอร์” กลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการทำงาน-การเรียน ขณะที่ “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของคน ทั้งโทรศัพท์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แชทคุยกับเพื่อน และคุยงาน สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงิน อ่านข่าวสาร ค้นหาข้อมูล เป็นกล้องถ่ายรูป-วิดีโอ เครื่องอัดเสียง ไปจนถึงสมุดบันทึกดิจิทัล
ทำให้หลายคนมองกันว่าจะเข้าสู่ยุค “Paperless” ที่การใช้ “กระดาษ” น้อยลงไปเรื่อยๆ และจะทำให้การใช้สมุด หรือกระดาษจะลดลงไปด้วยเช่นกัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว “สมุด และเครื่องเขียน” ยังคงอยู่ได้ท่ามกลางการไหลบ่าของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตที่ทุกคนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตลอดเวลา นั่นเพราะสมุดและเครื่องเขียน ยังคงมี “เสน่ห์” เฉพาะตัว และทุกตัวอักษรที่จดบันทึกลงไป ยังสร้าง “คุณค่าทางจิตใจ” และ “ความทรงจำ” เมื่อวันเวลาผ่านไป แล้วเราได้มาย้อนมาอ่านบันทึกนั้นอีกครั้ง
Brand Buffet หยิบกรณีศึกษา “Moleskine” (โมเลสกิน) แบรนด์สมุดและเครื่องเขียนพรีเมียม สัญชาติอิตาลี ที่ไม่ยอมแพ้ต่อการเข้ามาของยุคดิจิทัล หากแต่ได้ “ปรับตัว” เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยการไม่หยุดตัวเองอยู่แค่การเป็นแบรนด์ Stationery เท่านั้น แต่ได้ยกระดับสู่การเป็น “Lifestyle Brand” ที่สินค้าและบริการจะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน
ดังความตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ “มร.อาร์ริโก้ เบอร์นี, ซีอีโอ Moleskine SpA” ที่กล่าวไว้กับสื่อ Wall Street Journal ไว้ว่า “Molekskine คือ ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถช่วยให้ผู้ครอบครองเคลื่อนย้ายข้อมูลของพวกเขากลับไป-มาได้ระหว่างรูปแบบ Analog และ Digital เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการอุปกรณ์ดิจิทัล ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่พวกเขาเองก็ยังคงสนุกกับการได้ใช้สมุดบันทึก และสมุด Journal ต่างๆ พวกเขายังคงต้องการสิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองโลกนี้”
ทำความรู้จัก “Moleskine” สมุดบันทึกที่ครีเอทีฟ – นักคิด – นักเขียนทั่วโลกมีไว้ครอบครอง
เส้นทางกว่าจะมาเป็นแบรนด์ “Moleskine” ในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงต้นตำรับดั้งเดิมมากกว่าสองศตวรรษ ที่มีจุดเริ่มต้นในร้านเย็บเล่มหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ได้ผลิต “สมุดบันทึกสีดำขนาดเล็ก” ให้กับร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนในกรุงปารีส นับจากวันนั้น “สมุดบันทึกสีดำขนาดเล็ก” กลายเป็นสหายของเหล่านักคิด นักเขียน ที่พกติดตัวไปไหนมาไหนทุกที่ เพื่อจดบันทึกเรื่องราว รวมไปถึงร่างภาพสเก็ตซ์ และแนวคิดต่างๆ
แต่แล้วเมื่อถึงช่วงกลางยุค 1980s การผลิต “สมุดบันทึกสีดำขนาดเล็ก” ได้หายสาบสูญไปอย่างฉับพลัน กระทั่งต่อมา “Bruce Chatwin” (บรูซ แชทวิน) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Songlines” ตีพิมพ์ในปี 1986 ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสมุดบันทึกเล่มโปรดของเขา ซึ่งตอนนั้นเขาให้ชื่อเล่นของสมุดบันทึกนี้ว่า “Moleskine”
กว่าสิบปีผ่านไป…มีบริษัทเล็กๆ ในประเทศอิตาลี ตัดสินใจพลิกฟื้นการผลิต “สมุดบันทึกขนาดเล็ก” ขึ้นใหม่ และให้ชื่อว่า “Moleskine” ตามที่ Bruce Chatwin เรียก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “Moleskine” ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1997
ต่อมามีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส เข้ามาช่วยขยายกิจการ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอิตาลี และพาแบรนด์ “Moleskine” สยายปีกออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย “บริษัท คอมเมอร์เชียลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด”
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี และไม่ว่าจะขยายตลาดไปยังประเทศใดในโลก จุดยืนของแบรนด์ “Moleskine” ไม่เคยแปรเปลี่ยน ยังคงชัดเจนในการเป็นแบรนด์ที่สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความทรงจำ การเดินทาง และปัจจุบันได้เพิ่มความเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ที่เชื่อมโยงระหว่างชีวิตในโลก Analog กับโลก Digital เข้าด้วยกัน
ผนวกกับการรักษา “อัตลักษณ์” ที่ใครเห็น รู้ทันทีว่าคือ สมุดบันทึกในตำนานแบรนด์นี้ เพราะด้วยการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น
– ใช้กระดาษถนอมสายตา สี Ivory
– ดีไซน์สมุดขอบโค้งมน
– มีสายยางรัด
– มีลูกเล่นที่เขียนไว้หน้าแรกว่า “In case of loss, please return to : ______ และ As a reward $ ______
– ด้านหลังมีช่องกระดาษไว้สำหรับใส่กระดาษเอกสารแผ่นเล็กๆ
“Moleskine ไม่ได้วางตำแหน่งเป็น Luxury Brand เราเป็น Premium Journey Brand ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Moleskine เป็นสมุดบันทึกคู่กายของนักคิด นักเขียน นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ดีไซเนอร์ทั่วโลก เพราะตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการผลิตสมุดบันทึกขนาดเล็ก คนที่ใช้สมุดบันทึกแบบนี้ เป็นกลุ่มคนเหล่านี้ และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็น Influencer ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และทุกวันนี้นอกจากลูกค้ากลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ นักคิด นักเขียนแล้ว เรามีลูกค้ากลุ่มใหญ่คือ คนทำงานทั่วไป” คุณภัสสริน ลิมปนวงศ์แสน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท คอมเมอร์เชียลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าถึงที่มาของ “Moleskine” เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเขียน นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ
โลกดิจิทัล ไม่ได้ทำให้คนใช้ “สมุด” น้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี
ในช่วง 5 – 10 ปีมานี้ จะเห็นปรากฏการณ์ “Digital Disruption” กระทบต่อกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่เป็น Analog หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ “ธุรกิจเพลง” ที่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ทำลายล้างเทคโนโลยีเก่าเกือบทั้งหมด นับตั้งแตแผ่นเสียงไวนิล คาสเซ็ทเทป ซีดี จนมาถึง MP3 และปัจจุบันเป็นยุค Music Streaming แต่ทว่าในอีกมุมหนึ่งของคน ยังคง “ถวิลหา” ความเป็น Analog สิ่งที่จับต้องได้ ทำให้เวลานี้แผ่นเสียงไวนิลที่เกือบจะเลือนหายไปจากวงการเพลง กำลังกลับมาได้รับความนิยมจากคอเพลงอีกครั้ง หรือแม้แต่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น นิตยสารที่สำนักพิมพ์ค่ายใหญ่ในตำนานหลายเล่ม ต้องทยอยปิดตัวไป เพราะไม่อาจต้านแรงกระแสออนไลน์
ขณะที่กรณีของสถานการณ์ตลาด “สมุด” แตกต่างจากสินค้า Analog อื่นๆ ตรงที่ยังเป็นสิ่งของใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของทุกคนเสมอ และ Usage หรือการใช้สมุดในภาพรวมทั่วโลก ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี
“การเกิดขึ้นของดิจิทัล ไม่ได้ทำให้การใช้งานสมุด หรือการเขียนบนกระดาษตกลงแม้แต่น้อย ทั่วโลกอัตราการใช้สมุด เติบโตโดยเฉลี่ย 3 – 5% ทุกปี คนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ก็ยังคงไม่เลิกใช้สมุด เช่น ญี่ปุ่น เป็นประเทศเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีการใช้สมุดจดบันทึกมากที่สุดในเอเชียเช่นกัน หรืออเมริกา มีการใช้สมุดเยอะมาก ขนาดร้านขายของจิปาถะยังขาย Moleskine
เช่นเดียวกับภาพรวมของประเทศไทย การจดบันทึก หรือเขียนลงสมุดยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไป และคนไทยให้คุณค่ากับ “ดีไซน์” ค่อนข้างมาก จากเท่าที่คุยกับลูกค้า คนที่เป็นดีไซเนอร์ อยู่บ้าน และออฟฟิศใช้สมุดอื่น แต่ออกมาประชุมต้องติด Moleskine มาด้วย เขามองว่าเป็นแบรนด์อย่างหนึ่งที่บ่งบอก Status ของเขาได้
การเขียนลงบนสมุด เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ให้ความรู้สึกต่างกับการพิมพ์ข้อความ หรือเขียนลงในสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต อย่างเวลาประชุมงาน การเขียน หรือจดรายละเอียดเนื้อหาการประชุมลงในสมุด ทำให้ภาพของคนๆ นั้น ดูดีกว่าการที่เราพิมพ์ข้อความลงในแท็บเล็ต ที่ดูแล้วเหมือนกับเรากำลังแชทอยู่ตลอด และในงานครีเอทีฟ การสเก็ตซ์บนเนื้อกระดาษ ให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการเขียนบนแท็บเล็ต”
ขณะเดียวกันในโลกดิจิทัล ส่งผลให้สถานการณ์ร้านหนังสือ (Physical Book Store) ทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทยมีแนวโน้มเติบโตลดลง การทำร้านหนังสือให้อยู่รอดในยุคนี้ จึงต้องปรับพื้นที่ภายในร้าน ด้วยการลดพื้นที่ขายหนังสือ แล้วไปเพิ่มพื้นที่ขายเครื่องเขียน และ Gadget ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเข้ามาเสริม เมื่อพื้นที่เครื่องเขียนมากขึ้น ช่วยกระตุ้นความสนใจผู้บริโภคที่มาเดินในร้าน จึงเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น
ความสำเร็จบนความแตกต่าง
หัวใจสำคัญที่ทำให้ “Moleskine” ประสบความสำเร็จในตลาดสมุด โดยไม่ต้องทุ่มทุนสื่อสารการตลาดมากนัก มาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ
1. ความครบวงจรของการเป็นผู้ผลิตสมุดประเภทต่างๆ มีทั้งสมุดบันทึก ไดอารี สมุดแพลนเนอร์ สมุดวาดระบายสีน้ำ สเก็ตซ์บุ๊ค สมุดเจอร์นัล
2. การออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งาน มีทั้งลูกเล่น และตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ใช้จริง เช่น สายยางรัดสมุด มีที่มาจากเวลาสมุดถูกใช้ไปนานๆ สมุดจะบวม และบานออก การมีสายยางรัดจึงช่วยให้สมุดไม่กางออกมา หรือช่องใส่กระดาษที่อยู่ปกหลัง เพื่อให้ผู้ใช้ใส่นามบัตร หรือกระดาษโน้ตแผ่นเล็ก พร้อมด้วยคุณภาพของสินค้า สิ่งเหล่านี้ทำให้สินค้าขายได้ด้วยตัวมันเอง
3. การวางตำแหน่งเป็น “Creative Brand” พร้อมทั้งยังคงรักษา “กลุ่มสินค้าคลาสสิก” ขายดีตลอดกาล เช่น หน้าปกสีดำ สีแดง สีขาว ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จะมีฐานลูกค้าประจำที่กลับมาซื้อซ้ำ
ควบคู่กับการทำ “Collaboration” กับแบรนด์ดังระดับโลก ร่วมกันดีไซน์คอลเลคชั่นพิเศษที่เป็น Limited Edition ทุกปี โดยใส่สีสัน และความเป็นแฟชั่นเข้าไป เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ให้เข้ามารู้จักแบรนด์ Moleskine และอยากทดลองใช้ อีกทั้งยังเป็นกลยุทธ์ win-win ที่ทำให้ได้ลูกค้าใหม่ที่เป็นแฟนคลับของแบรนด์ที่ทำ Collaboration สนใจมาทดลองซื้อใช้
เช่น คอลเลคชั่น Peanuts, Star Wars, Snow White, Doraemon เป็นคอลเลคชั่นที่ใช้กลยุทธ์ Localize ในญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเขียน-การจดบันทึกที่ติดตัวคนญี่ปุ่น
นอกจากนี้ได้สร้าง Gimmick ให้สินค้า ด้วยการให้ลูกค้าสามารถ Personalize ชื่อได้บนหน้าปก สำหรับซื้อให้ตัวเอง หรือซื้อเป็นของขวัญให้คนอื่น
4. จัดกิจกรรมรูปแบบ Travelling Exhibition ในชื่อ “Detour” เป็นนิทรรศการที่ให้ศิลปินออกแบบสมุดทำมือ นำเสนอเรื่องราวและเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง จากนั้นสมุดที่ศิลปินแต่ละคนออกแบบ จะนำไปจัดแสดงที่งาน โดยวางไว้ในกล่องใส คนที่เข้าไปดู ต้องใส่ถุงมือ เหมือนกับการไปดูงานศิลปะ โดยหมุนเวียนจัดขึ้นในเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆ เช่น นิวยอร์ก และลอนดอน
ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วจัดขึ้นในไทย ภายใต้ชื่องาน “Moleskine Journey Exhibition” แต่ได้ประยุกต์ให้เข้ากับตลาดไทยและเปลี่ยนจากสมุด เป็น “กระเป๋า” เนื่องจากคนส่วนใหญ่รู้จัก Moleskine ในฐานะแบรนด์เครื่องเขียนอยู่แล้ว ขณะที่สเต็ปการทำตลาดในไทยเวลานี้ ต้องการขยายไปยังกระเป๋า
โดยจับมือศิลปินไทยแนวหน้า นำโดย “ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง” (ปอม ชาน), “วสุ วิรัชศิลป์” และ “สรวิศ ประคอง” ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และแรงบันดาลใจจากการเดินทาง ลงสู่กระเป๋าคอลเลกชันคลาสสิก (Moleskine Classic Bags Collection)
5. การผสานระหว่างโลก Analog เข้ากับโลก Digital ด้วยการออกสินค้า “Smart Writing Set” ที่เชื่อมโยงการเขียนบนกระดาษ เข้าสู่การแชร์ในโลกดิจิทัล ประกอบด้วย สมุด “Paper Tablets” ปากกาอัจฉริยะ “PEN+” ติดตั้งกล้องในปากกา เพื่อแปลงข้อมูลที่เขียนลงบน “Paper Tablets” ให้กลายเป็นตัวพิมพ์ และไฟล์ดิจิทัล, แอปพลิเคชัน “Moleskine Notes” สำหรับแก้ไขไฟล์ และส่งเข้าเมล์ หรือแชร์ให้คนอื่น พร้อมทั้งสื่อสารแบรนด์และสินค้าผ่าน Social Media และเปิดช้อป ทั้งแบบ Physical และออนไลน์
ปัจจัยเหล่านี้ สร้าง Brand Value ให้กับ “Moleskine” ทั้งในการสร้าง Brand Love ในกลุ่มลูกค้าประจำที่มีความภักดีในแบรนด์สูง และการสร้างฐานลูกค้าใหม่ได้รู้จัก และเริ่มทดลองใช้ พัฒนาไปสู่การเป็นลูกค้าประจำในที่สุด
ยกระดับเป็น “Lifestyle Brand” เพื่อเป็นมากกว่าสมุดบันทึก
จากจุดเริ่มต้นมาจากการทำ “สมุดบันทึก” แล้วค่อยๆ ขยายโปรดักต์ไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียน เช่น ปากกา ดินสอ และเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น เคสโทรศัพท์มือถือ กระเป๋า อุปกรณ์การเดินทาง จนเมื่อปี 2015 ได้ทดลองเปิด “Moleskine Café” ซึ่งเป็น Pilot Concept ที่สนามบินนานาชาติเจนีวา หลังจากนั้นในปี 2016 ได้เปิดรูปแบบ Stand Alone แห่งแรกที่มิลาน อิตาลี จากนั้นขยายมายังตลาดเอเชีย ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน
“Moleskine Café ไม่ได้เป็นร้านกาแฟธรรมดา จะกึ่งๆ เป็น Co-working Space ที่มีพาร์ทเนอร์ธุรกิจมาดูแลในส่วนอาหารและเครื่องดื่ม และภายในร้าน ยังมีโซน Gallery และ Workshop เพื่อต้องการให้สถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ลูกค้าได้มาเจอประสบการณ์ใหม่ๆ และทำให้คนเข้ามาสร้าง Community ของเขาเอง เพราะแบรนด์มองว่า Community เป็นสิ่งที่เราสร้างไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสร้างได้คือ แพลตฟอร์ม หรือสื่อกลางให้คนเข้ามาพบปะพูดคุยกัน แชร์ไอเดีย แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน”
สำหรับช่องทางจำหน่ายสินค้า Moleskine ในเมืองไทย ขณะนี้มี 80 – 90 จุดขายในศูนย์การค้า เช่น ในร้านหนังสือ Asia Books, Kinokuniya, Siam Discovery, LOFT, BeTrend, B2S, Open House, ร้าน iStudio (Copperwired), ร้าน The Travel Store และล่าสุดทำ Pop-up Store แห่งแรกในเมืองไทยที่เกษรวิลเลจ โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งจำหน่ายผ่านช่องทาง “ออนไลน์” เช่น เว็บไซต์ youmakeithappen.com
ปัจจุบันสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย ครบทุกหมวดแล้ว ทั้งกลุ่มสมุด ปากกา-ดินสอ กลุ่มสินค้าเดินทาง เช่น กระเป๋า และสินค้ากลุ่ม Smart Writing Set
ส่วนถ้าจะเปิดรูปแบบช้อปในไทย คุณภัสสริน บอกว่า โลเคชั่นต้องอยู่ใจกลางเมือง คนเดินทางมาสะดวก มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ซึ่งการมีช้อป จะสามารถนำเสนอประสบการณ์ “Moleskine” ได้ดีกว่า ทั้งความครบวงจรในที่เดียว ทำให้ลูกค้ามองหาสินค้าได้ง่ายกว่าจุดขาย เพราะปัจจุบันจุดขายแต่ละที่มีของไม่เหมือนกัน อีกทั้งการเปิดช้อป จะทำให้จัดกิจกรรม และมีลูกเล่นให้กับลูกค้าที่มาร้าน อย่างช้อปในต่างประเทศ จะมี Passport Stamp เพื่อเวลาลูกค้าไปช้อป Moleskine ประเทศต่างๆ ก็นำไปแสตมป์สัญลักษณ์ของเมืองนั้นๆ
“ความท้าทายในการทำตลาดเครื่องเขียนในไทย เมืองไทยมี Stationary หลายแบรนด์ ดังนั้นเราต้องทำให้แบรนด์ Moleskine แข็งแรง ทำให้คนรู้จัก Moleskine ในภาพของความเป็น “Lifestyle Brand” ที่ทุกคนเข้ามาซื้อสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากสมุด และให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในแบรนด์ เพื่อทำให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้รู้จัก และสัมผัสแบรนด์เรา เราไม่ใช่แบรนด์ที่เข้าถึงยาก ได้เห็นตัวตนของแบรนด์ เห็น Brand Value ที่เรานำเสนอ เช่น ดีไซน์คอลเลคชั่นใหม่ เขาจะตัดสินใจซื้อ และกลับมาซื้อซ้ำ และอยากให้เวลาเดินไปตามสถานที่ต่างๆ เห็นคนถือกระเป๋า ใช้เคสมือถือของ Moleskine มากขึ้น” คุณภัสสริน กล่าวทิ้งท้าย