แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) จัดงานสัมมนาประจำปีในหัวข้อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียโดยได้รับเกียรติจาก ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากวงการสถาปัตยกรรม ออกแบบ การดูแลผู้สูงอายุ สาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้บริโภค
โดยเหตุผลของการจัดงานในครั้งนี้ คุณรัช ตันตนันตา ประธานผู้อำนวยการบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของ MQDC กล่าวว่า “เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความมุ่งมั่นที่จะร่วมปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความยั่งยืนเป็นค่านิยมหลักในการใช้ชีวิตทั้งในเรื่องส่วนตัวและในการประกอบอาชีพ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มีความสำคัญมากท่ามกลางกระแสโลกปัจจุบัน ไม่ว่าปัญหาจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงภาวะสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของชุมชนเมือง การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิต”
ในขณะที่ คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าวว่าความตื่นตัวของกระแสตอบรับต่องานสัมมนาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรับรู้ของสังคมว่าสิ่งที่สังคมต้องการขณะนี้คือการจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่ ให้ความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนเป็นอันดับแรก
“MQDC ดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจหลักที่ต้องการผลักดันให้เรื่อง “ความเป็นอยู่ที่ดี” เป็นประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่กับมนุษย์แต่กับทุก ๆ สรรพสิ่งที่มีชีวิต เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมนำเสนอวิธีใหม่ ๆ เพื่อให้มีการนำไปใช้แก้ไขปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เพื่อทุกๆ ภาคส่วนต่างสามารถนำไปใช้ได้”
“การสัมมนาครั้งนี้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นในประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความยั่งยืน MQDC รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ จากทั่วโลกเพื่อมาช่วยทำให้โครงการของเราร่วมสร้างชีวิตที่ดีและความยั่งยืนมากขึ้น การสัมมนานี้ได้รวบรวมผู้รู้และมีความเชี่ยวชาญจากหลากสาขาเข้ามาช่วยกันให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้เห็นว่าเราสามารถผนวกเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีและความยั่งยืน เข้าไปในงานวิชาการและสาขาอาชีพต่างๆ ได้อย่างไร”
รับรู้แนวคิดเจ้าภาพของงานไปแล้ว ก็มาถึงผู้เชี่ยวชาญที่ทาง MQDC ได้เชื้อเชิญมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในวันนี้ประกอบด้วย คุณโทบี้ บลันท์ หุ้นส่วนอาวุโสและรองหัวหน้าสตูดิโอชื่อดังจากอังกฤษ ฟอสเตอร์แอนด์พาร์ทเนอร์ส คุณบิล โคน กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง ไอเทค เอ็นเทอเทนเมนท์ รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ของ MQDC ดร.วิลเลี่ยม ริชแมน จากศูนย์ดูแลรักษาผู้สูงอายุ เบย์เครสจากแคนาดา และ ศ. จอห์น ดี. สเปงเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที.ชาน. สคูล ออฟ พับลิคเฮลท์ แถมท้ายความพิเศษของงานสัมมนาในครั้งนี้ก็คือ ในช่วงเสวนาที่กูรูทุกท่านได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างออกรส ผ่านการถามคำถามของ Moderator กิตติมาศักดิ์ คุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งรับหน้าที่ถามคำถามแทนผู้ฟังได้อย่างดีเยี่ยม
Toby Blunt: สถาปัตกรรมที่ยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่ Master Plan
Toby ใช้ประสบการณ์ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการที่ Masdar, Abudabi มาพูดคุยบนเวที เขาชี้ให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนมากกว่าที่คิด และนับวันการขยายตัวยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการขยายตัวของเมือง (Urban) ซึ่งทรัพยากรหลายอย่างไม่ได้เติบโตตามในสัดส่วนที่สมดุลกัน ดังนั้น สิ่งที่นักพัฒนาจะต้องคิดก็คือ “Master Plan” เพื่อทำให้การเติบโต และการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีความสุข
“การสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมที่ดีต้องเริ่มต้นจาก Master Plan ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทาง เช่น สิ่งที่คุณออกแบบจะนำพาให้คนเดินทางด้วยจักรยานหรือว่ารถยนต์ เพราะจะส่งผลกับการใช้พลังงานของเมือง รวมทั้งการใช้พลังงานของมนุษย์ อย่างโครงการที่ Masdar ต้องคิดเรื่องเหล่านี้อย่างมาก ในเมื่อบางเวลาอุณหภูมิของเมืองสูงถึง 39-52 องศา เราจึงต้องวางแผนเอาไว้ก่อน”
“และการออกแบบต่างๆ ต้องมีความงามเป็นองค์ประกอบ ทำให้คนอยากอยู่อาศัย ใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่คำนึงถึงประเทศ Sustainability เพียงอย่างเดียว ต้องคิดเรื่องแสง (Light) พื้นที่ (Space) ความกว้างของถนน การใช้งานพื้นที่สาธารณะที่จะทำให้รู้สึกชื่นชอบ แล้วมีช่วงเวลาที่จะออกมาทำกิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่ง Master Plan นี่แหละ ที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง”
Bill Coan: เอนเตอร์เทนเมนต์ คือการสร้างประสบการณ์
Bill Coan เขาเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง ไอเทค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ บริษัทที่ปรึกษาของดิสนี่ย์แลนด์ เขาเริ่มต้นโดยการบอกว่าเขามาจาก Entertainment Business และเอนเตอร์เทนเมนต์นี่แหละที่เป็นองค์ประกอบของประสบการณ์ของทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคลและพื้นที่ที่แชร์กันในสาธารณะ และความบันเทิงจะนำพาทุกคนไปสู่ความสุข
“Entertainment และ Experience เป็นส่วนหนึ่งของการดีไซน์ทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ ในขณะที่ Retail Business กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจาก Online Retail ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้วิธีการเพิ่มประสบการณ์ที่ออนไลน์ให้ไม่ได้”
“สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Toby ได้เล่าเรื่อง Master Plan ไปแล้ว โดยมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ตั้งต้น สิ่งที่ผมเข้ามาแล้วเพิ่มเติมก็คือประเด็นของการเพิ่มประสบการณ์ที่ทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยนานๆ ก็สามารถสร้างความทรงจำขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการดีไซน์ที่มี Iconic หรือมี Theme ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในการสร้างสรรค์ Disney Spring รวมทั้งใส่เรื่องราว(Story) เข้าไป เป้าหมายของผมก็คือการสร้างความสุข”
ดร.สิงห์: Well-Being หมายถึงความสุขของคนสรรพสิ่ง ไม่ใช่แค่ “มนุษย์”
“ในกรุงเทพฯ เรามีพันธุ์นกมากกว่าแค่นกพิราบที่เราคิดกันนะครับ แต่เรากลับไม่สังเกต” ดร.สิงห์ เริ่มต้นอย่างสนุก เพื่อปูความรู้สึกให้ผู้ฟังรู้สึกว่าความสุขที่เขามองนั้นเป็นความสุขที่ต้องผสานความต้องการของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างรวมกัน ไม่ใช่แค่ “มนุษย์” เท่านั้น
“ทั่วโลกมีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือว่าความพยายามมากมายที่จะทำให้เมืองแต่ละเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีที่ใดที่ประสบความสำเร็จ และก็คงจะไม่สำเร็จถ้าหากว่าเรายังสร้างไม่หยุด การสร้าง Well-Being เราต้องมองให้กว้างมากกว่าแค่ Human-Centric ที่ผ่านมา เราเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ในกรุงเทพฯ ที่ๆ มีคลองเราก็เอาคลองมาสร้างถนน สร้างตึก แล้วดินก็หายไป ดินหายไปก็แปลว่าแมลง หนอน สรรพสัตว์ และระบบนิเวศก็หายไป แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ”
Dr.William Reichman: เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินจิกรรมได้
ดร.วิลเลี่ยม ริชแมน ชี้ให้เห็นว่า “ผู้สูงอายุ” ก็เหมือนกับพวกเรานั่นเอง พวกเขาต้องการกิจกรรม ต้องการพื้นที่ และการสร้างสรรค์องค์ประกอบเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเอื้อกับการใช้ชีวิตของพวกเขา จงอย่าสร้างทางเดินที่ไกลเกินกว่าพวกเขาจะเดินไหว แล้วกลายเป็นไม่กล้าเดิน
“เราต้องคิด และออกแบบทางเดินเพื่อที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในชุมชน การทำให้คนแก่สามารถช่วยเหลือตัวเอง เดินทาง และยังใช้ชีวิตได้ เป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่าแค่มาคิดถึงเวลาที่พวกเขาป่วยแล้ว แล้วหาวิะธีรักษา ซึ่งนั้นก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากกว่า และเป็นปัญหากับลูก-หลานที่ต้องมาดูแล มาพาไปหาหมอ ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุที่แท้จริง นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมแล้ว ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขายังคงมีคอนเนกชั่นกับสังคมภายนอก”
Prof. John Spengler: GDP ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ศ.จอห์น นำเสนอตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจจนมี GPD สูง แต่เมื่อนำเอาดัชนีความสุข (Happiness Index) มาวัดกลับไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สอดค้ลองกัน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาตรฐานการครองชีพดี แต่ดัชนีความสุขอยู่อันดับที่100กว่า ขณะที่ประเทศไทย มี Happiness Index อยู่ในอันดับ 9 ของโลก เนื่องจากมีการพิจารณาถึง Ecological footprints ดังนั้น ประเทศที่ใช้ทรัพยากรในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งถูกฉุดดัชนีความสุขไปด้วย
ในแต่ละประเทศนับวันยิ่งเผชิญหน้ากับความท้าทายจากภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่าที่แคลิฟอเนีย พายุเฮอริเคนในรัฐฟลอริด้า อุทกภัยในบังกลาเทศ เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความกังวลใจให้กับคนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ
ภายในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ทาง MQDC เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ที่เข้าฟังสัมมนา ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การผสานความคิดเพื่อร่วมมือกันพัฒนาประเทศและ “เมือง” ของไทย ให้น่าอยู่และยั่งยืน