ใน Ecosystem อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา นอกจากแพลตฟอร์มสื่อประเภทต่างๆ – ลูกค้าลงโฆษณาสินค้าและบริการ – คนสร้างสรรค์คอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นนักโฆษณา นักการตลาด ยังมีอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ “คอนเทนต์” ของแบรนด์ ไม่ว่าจะในรูปแบบหนังโฆษณา ข้อความ โปรโมชั่น ฯลฯ ส่งไปถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพ และนำพาแบรนด์บรรลุเป้าหมายด้านยอดขาย นั่นคือ “การวางแผนสื่อ” (Media Plan)
เรามาดูพัฒนาการ “กลยุทธ์การวางแผนสื่อโฆษณา” ใน 3 ยุคกว้างๆ นับตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็น “โลกอนาล็อก” ที่สื่อมีเพียงไม่กี่ประเภท โดยมีสื่อหลัก คือ “ทีวี” ต่อมาเข้าสู่ยุค “IMC” ผสานสื่อแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน กระทั่งเมื่อโลกขยับไปสู่ยุค “ดิจิทัล” การทำคอนเทนต์ และกลยุทธ์วางแผนสื่อยิ่งซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต
คอนเทนต์ในยุคดิจิทัล ต้องสามารถดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ภายใน 8 วินาทีแรก ถ้าเกินกว่านั้น ผู้บริโภคจะข้ามไปทันที เท่ากับว่าแบรนด์ไม่สามารถสื่อสารแมสเสจไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จ ขณะที่การใช้สื่อ เพื่อส่งแมสเสจแบรนด์ หรือนำเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า จะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (Personalization) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแมสเสจ และสิทธิประโยชน์นั้นๆ ตรงกับความต้องการของลูกค้าคนนั้นๆ และที่สำคัญ Media Plan ในยุคนี้ต้องสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของแบรนด์ นั่นคือ ปิดการขาย พร้อมกับการรักษาฐานลูกค้าเก่า และขยายฐานลูกค้าใหม่
เรามาเจาะลึกรายละเอียดกันว่าความเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคเป็นอย่างไร และกลยุทธ์ Media Plan ในยุคดิจิทัล ให้ตอบโจทย์ “การขาย” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกแบรนด์ที่ใช้สื่อ จะต้องทำอย่างไร มาติดตามกัน
ยุคแห่งการต่อสู้กับรีโมททีวี
ในยุคที่ยังไม่มี “สื่อออนไลน์” หรือ “สื่อดิจิทัล” การวางแผนสื่อของแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ เป็นไปในรูปแบบใกล้เคียงกัน นั่นคือ เริ่มต้นด้วยยิงโฆษณาลงบน “สื่อทีวี” เนื่องจากเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสร้าง Brand/Product Awareness ครอบคลุมทั่วประเทศ จากนั้นไปสิ้นสุดที่สื่อในสโตร์ (In-store Media) เพื่อ Remind Brand กับผู้บริโภคอีกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ
แม้ในอดีตสถานีโทรทัศน์ในไทย มีเพียงแค่ 6 ช่อง แต่ความท้าทายของการวางแผนสื่อในช่วงเวลานั้นคือ การต่อสู้กับรีโมททีวี เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจะถือรีโมทไว้ในมือ หรือวางไว้ใกล้ตัวเวลาดูทีวี ทำให้เมื่อถึงช่วงโฆษณา คนจะหยิบรีโมทเปลี่ยนช่องที่กำลังดู ไปยังช่องอื่น หรือลุกออกจากตรงนั้น เพื่อไปทำอย่างอื่น แล้วกลับมานั่งเมื่อรายการมา
ทำให้ครีเอทีฟ นักวางแผนสื่อ นักการตลาด หรือเจ้าของแบรนด์สินค้า จึงต้องพยายามสร้างหนังโฆษณาให้ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมให้ได้ ทำให้ในยุคหนึ่งวงการโฆษณาไทย เต็มไปด้วยการนำเสนอมุม Emotional ทั้งแนวตลก เฮฮา เรียกเสียงหัวเราะ และแนวซึ้ง กินใจ เรียกน้ำตาคนดู ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นยุคโฆษณาไทยกวาดรางวัลบนเวทีโฆษณาทั้งระดับเอเชีย และระดับโลกมาแล้วมากมาย
ขณะที่ “กลยุทธ์วางแผนสื่อ” ในยุคนี้ ใช้วิธีซื้อสื่อโฆษณาแต่ละช่องทีวีในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น แบรนด์สินค้า A ซื้อสื่อโฆษณาช่วงเวลา Prime Time (18.00 – 22.00 น.) เมื่อถึงช่วงละครหลังข่าว คนดูเปิดละครช่อง 3 ขณะที่เข้าช่วงโฆษณา คนดูหยิบรีโมทเปลี่ยนไปช่อง 7 ดูได้ไม่นาน จะตัดเข้าโฆษณา และเจอหนังโฆษณาสินค้า A เหมือนกับที่ออนแอร์อยู่บนช่อง 3
เพื่อทำให้โฆษณาสินค้านั้นๆ ผ่านตาผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด แล้วจะนำไปสู่การจดจำ ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ จะจดจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเห็นอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไป เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามีโฆษณาหลายตัว ที่เราไม่ค่อยสนใจดู แต่เมื่อเห็น หรือได้ยินบ่อยๆ จะเกิดการจดจำได้ในที่สุด
ยุคผสานสื่อจากในบ้าน – นอกบ้าน – ณ จุดขาย
เมื่อการสื่อสารการตลาดเข้าสู่ยุค “IMC” (Integrated Marketing Communication) เป็นยุคที่สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์มีหลากหลายประเภท ทั้ง “สื่อในบ้าน” เช่น ทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ – “สื่อนอกบ้าน” (Out of Home Media) เช่น บิลบอร์ด ป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ การจัดอีเว้นท์ รวมถึงสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ถูกพัฒนาให้มีลูกเล่นที่ดึงความสนใจคนได้มากขึ้น – “สื่อในสโตร์” หรือ “สื่อ ณ จุดขาย” (In-store Media)
ด้วยความที่สื่อแต่ละประเภท มีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น สื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดการรับรู้ในแบรนด์ หรือสินค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่สื่อนอกบ้าน เป็น Touch Point หนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นการจดจำ และเมื่อมาถึงสโตร์ เจอสื่อ ณ จุดขาย ช่วย Remind Brand และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ
ยุคดิจิทัล คอนเทนต์ดึงความสนใจคนใน 8 วินาที + Big Data พลิกโฉมวางแผนสื่อต้องเฉพาะเจาะจง
มาถึงยุคปัจจุบัน ที่เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้ Customer Journey ไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงเหมือนในอดีตที่เริ่มจากรับสื่อโฆษณาทีวี ออกไปข้างนอก เจอสื่อนอกบ้าน เมื่อเข้าร้านค้าปลีก เจอสื่อในสโตร์
แต่ในยุคนี้ผู้บริโภค ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันทีทันใด และมี Demanding สูงกว่าในอดีต ประกอบกับการเกิดขึ้นของ “สื่อดิจิทัล” และ “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นสื่อหลักในการสร้าง Engagement กับผู้บริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้ Customer Journey สลับซับซ้อน การรับสื่อของผู้บริโภคอาจเริ่มจากสื่อมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แล้วไปซื้อสินค้าที่สโตร์ หรือคลิ๊กสั่งซื้อออนไลน์
ในยุคดิจิทัล เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 2 ส่วนด้วยกัน คือ
1. คอนเทนต์ต้องดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ภายใน 8 วินาที !!
ด้วยความที่ผู้บริโภคยุคดิจิทัล มีลักษณะ NOWISM คือ ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันทีทันใด หากไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ เขาพร้อมไปทันที เพราะแบรนด์ต้องตระหนักว่าผู้บริโภคยุคนี้มี “ทางเลือก” มากมาย
เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์ คอนเทนต์ต้องดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ภายใน 8 วินาที !!
“เมื่อก่อนแบรนด์จะมีแคมเปญสื่อสาร จะลงโฆษณาตามปกติ และจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลประชากร (Demographic) เช่น อายุ เพศ พื้นที่ แต่พอมี “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” กลยุทธ์สื่อสารการตลาดไม่ใช่แค่ใช้ Demographic เท่านั้น แต่แบรนด์สามารถทำคอนเทนต์ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้แบบ “Targeted” ได้ในระดับ Personalization เช่น ผู้บริโภคค้นหาข้อมูลอะไร ในยุคดิจิทัลจะแสดงโฆษณาสินค้า-บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ต่อไปในปี 2020 จะหมดยุคการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบ Demographic และทุกอย่างจะอยู่บนสมาร์ทโฟน ในขณะที่แบรนด์มีเวลาแค่ 8 วินาทีในการดึงความสนใจของผู้บริโภค ซึ่ง 8 วินาทีในทีนี้ ไม่ได้หมายความถึงความสั้น-ยาวของคอนเทนต์ แต่คือ การทำคอนเทนต์ที่ดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ในช่วง 8 วินาทีแรก (Attention Plan) ถ้าไม่สามารถดึงผู้บริโภคให้สนใจคอนเทนต์ของแบรนด์ภายในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ผู้บริโภคจะไม่สนใจ และไปทันที เพราะผู้บริโภคไม่ได้อยู่กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งตลอดเวลา” คุณปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
คอนเทนต์ที่จะดึงความสนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ได้ภายใน 8 วินาที ในเบื้องต้นเจ้าของแบรนด์ นักการตลาด ครีเอทีฟ ต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการสื่อสารคือใคร และสิ่งที่เขาสนใจ หรือต้องการ หรือเป็นสิ่งที่เขากำลังประสบปัญหาอยู่คือเรื่องอะไร ซึ่งจะทำให้การทำคอนเทนต์มีความชัดเจนขึ้น และมีความหมายอยู่ในการจดจำของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
ทว่าแบรนด์จะรู้ได้ถึง Demand หรือแม้แต่ Pain Point ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้นั้น สิ่งสำคัญต้องมี “Big Data”
2. Big Data พลิกโฉมกลยุทธ์ทำคอนเทนต์ – วางแผนสื่อต้องเฉพาะเจาะจง
หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้สื่อติดอันดับต้นๆ คือ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ ดังนี้
– ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ยังคงเดินหน้าขยายสาขา ขณะเดียวกันช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ทั้งจากสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน และช่องทางการซื้อที่หลากหลาย ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคสูงมาก
– เส้นทางการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หรือ Customer Journey ไม่ได้เริ่มจากบ้าน แล้วตรงมาซื้อที่จุดขายอีกต่อไป แต่มี Customer Journey และวิธีการตัดสินใจเลือกซื้อที่ซับซ้อน และหลากหลายมากขึ้น โดยแต่ละคนมีวิธีการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกันออกไป
– พฤติกรรมผู้บริโภคสลับสับเปลี่ยนเลือกซื้อสินค้าหลากหลายแบรนด์มากขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภค 50% จะมี Second Brand หรือแบรนด์อีกทางเลือกให้กับเขา และมีผู้บริโภค 25% ที่จะ Switching Brand ไปใช้แบรนด์อื่นเลย ส่งผลให้ Brand Loyalty ลดลง ขณะเดียวกันการสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ในยุคดิจิทัล ทำได้ยากขึ้น พอๆ กับการดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
เพราะฉะนั้นในยุคดิจิทัล ผู้บริโภค interact กับสื่อออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้แบรนด์ และร้านค้าปลีกมี “Big Data” ที่จะศึกษา และทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ และความต้องการของผู้บริโภคลงลึกระดับรายบุคคล เพื่อทำการตลาด และวางแผนสื่อได้แบบ “Targeted Media” หรือเฉพาะเจาะจง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ในระดับที่เรียกว่า “Personalized Approach”
“ในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย โดยธรรมชาติของสินค้า จะได้ “ลูกค้าใหม่” เข้ามาเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่แบรนด์อาจมองข้ามคือ การรักษาฐาน “ลูกค้าเก่า” เพื่อป้องกันการไหลออกไปยังแบรนด์อื่น ซึ่ง Switching Brand ของผู้บริโภค มีทั้งเปลี่ยนแบรนด์ แต่ยังอยู่ใน Category เดิม กับ ไหลออกไปจาก Category นั้นๆ เลย
วิธีการดีที่สุด คือ แบรนด์ต้องมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง และต้องทำให้แบรนด์เราเป็น 1 ในดวงใจลูกค้า เพราะฉะนั้นการสร้าง Engagement จึงสำคัญมาก และในยุคดิจิทัล Engagement ของผู้บริโภคไม่ได้เริ่มจากโฆษณาทางสื่อทีวีเสมอไป แต่เริ่มจาก “สมาร์ทโฟน” ได้เช่นกัน
ดังนั้น เจ้าของแบรนด์สินค้า นักการตลาด นักวางกลยุทธ์สื่อโฆษณาต้องเข้าใจว่า Big Data กำลังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนโลกแห่งการโฆษณา แบรนด์ต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจขั้นตอนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าทั้งในช่องทาง Offline และ Online ตั้งแต่เริ่มรู้จักผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเลือกแบรนด์ ตลอดจนการตัดสินใจเลือกแบรนด์ และซื้อสินค้าจากแบรนด์นั้นในที่สุด” คุณธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ ประธานกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ดันน์ฮัมบี้ จำกัด (dunnhumby) เผยถึงความสำคัญของ Big Data
dunnhumby เก็บข้อมูลจาก Loyalty Card ของค้าปลีกในไทย จำนวน 15 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนครัวเรือนในไทยที่มี 22 ล้านครัวเรือน สามารถแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มใหญ่ เมื่อดูจากช่องทางการซื้อสินค้า FMCG ได้แก่
1. กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากร้านค้า
2. กลุ่มลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์
3. กลุ่มลูกค้าที่ซื้อจากทั้งสองช่องทาง (ร้านค้า และออนไลน์)
โดยกลุ่มที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจเรื่อง “คุณภาพ” และ “ความสะดวก” มากกว่า “ราคา” และมองหาสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าที่จำหน่ายในสโตร์
ขณะที่กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าในสโตร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ มองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้ง “ราคาและคุณภาพ” และผู้บริโภคกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก (Price Sensitive) ยังคงนิยมไปซื้อของที่ร้านค้า เพราะต้องการเปรียบเทียบราคาสินค้า ณ จุดขาย
ส่วนกลุ่มคนที่ซื้อทั้งสองช่องทาง (Multi-channel/Omni-channel) มีทั้งกลุ่มรายได้สูง และกลุ่มรายได้ปานกลาง
วางแผนกลยุทธ์สื่อสาร และโฆษณายุคดิจิทัล ต้องเข้าใจ 5 ขั้นตอน
กลยุทธ์วางแผนสื่อโฆษณาในปัจจุบัน ให้มีประสิทธิภาพ เจ้าของแบรนด์สินค้า นักวางแผนสื่อโฆษณา นักการตลาดต้องเข้าใจ 5 ขั้นตอนนี้
1.ต้องเข้าใจ Brand DNA เช่น กลุ่มลูกค้าของแบรนด์คือใคร เป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ – กลุ่มเก่า หรือเป็นลูกค้าที่หายไป หรือไม่เคยเป็นลูกค้าของเราเลย
2. ศึกษาช่องทางการซื้อสินค้าของลูกค้า เช่น ซื้อผ่าน Offline, Online หรือซื้อทั้งสองช่องทาง (Multi-channel) เพื่อแบรนด์จะได้วางกลยุทธ์ Engagement และนำเสนอสินค้า-บริการ โปรโมชั่น สิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าได้ตรงความต้องการของคนๆ นั้น
3. ทำความเข้าใจว่าลูกค้าซื้อสินค้าผ่าน Store Format ใด เช่น ชอบซื้อที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือชอบไปซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต หรือซื้อจากร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก หรือซื้อผ่านช่องทางออนไลน์
4. วางแผน Communication Strategy การมี big data ทำให้เจ้าของตราสินค้า นักการตลาด นักวางแผนสื่อโฆษณา รู้ถึง “ปัญหา” ของแบรนด์ที่กำลังเจอ รวมถึงรู้ถึง “วัตถุประสงค์” ของแบรนด์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สามารถวางแผนสื่อสารการตลาดได้ว่าแคมเปญไหน ช่วงเวลาใดจะสื่อสารแบบ Mass Communication หรือทำแบบ Targeted Communication ที่เลือกเจาะจงไปยังผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเลือกสื่อสารเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้หว่านทั่วประเทศแบบสมัยก่อน ซึ่งจะทำให้แบรนด์นำเสนอสินค้า แมสเสจ คูปองส่วนลด หรือโปรโมชั่นให้กับผู้บริโภคได้ลงลึกระดับ Personalization
5. วัดประสิทธิภาพของการทำแคมเปญในแต่ละครั้ง เช่น ยอดขาย การเพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่ การรักษาฐานลูกค้าเก่า หรือป้องกันการไหลออกของลูกค้าเก่า
“การวางแผนสื่อโฆษณาในยุคนี้ สามารถลงข้อมูลได้ในเชิงลึก โดยมี Big Data ที่ได้มาทั้งจาก Loyalty Card ที่มีข้อมูลพฤติกรรมการซื้อ และข้อมูลจากการใช้งาน Social Media ของผู้บริโภค เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ให้กับลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละคน” คุณธีรเดช ขยายความเพิ่มเติม
เมื่อผู้บริโภคช้อปทั้งร้านค้า-ออนไลน์ ต้องผนึก “สื่อโฆษณา ณ จุดขาย + ออนไลน์”
ด้วยพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคในปัจจุบัน มองหา “ความสะดวก” เป็นหลัก ช่องทางการซื้อสินค้าจึงเป็น Multi-channel ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ สะท้อนให้เห็นว่า “Physical Store” สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงมีบทบาทสำคัญสำหรับลูกค้าไทย และผสานการใช้สื่อร่วมกันทั้ง “สื่อโฆษณา ณ จุดขาย” กับ “สื่อออนไลน์” จะเพิ่มโอกาสแบรนด์ปิดการขายได้มากขึ้น
เนื่องจากการช่องทางออนไลน์ ช่วยสร้าง Engagement และ Awareness กับแบรนด์-สินค้า ขณะที่สื่อโฆษณา ณ จุดขาย มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่จัดขายเพิ่มมากขึ้น
โดยผลการวิจัยของ dunnhumby พบว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าและเห็นโฆษณา ทั้งที่ร้านค้า และผ่านทางออนไลน์ จะนำคูปองส่วนลดมาซื้อสินค้าที่ร้านค้ามากกว่า 43% เมื่อเทียบกับอัตราการนำคูปองส่วนลดมาซื้อสินค้าที่เห็นโฆษณาผ่านทางช่องทางเดียว
“เป้าหมายสำคัญของนักโฆษณา และนักวางแผนสื่อโฆษณา คือ การรักษากลุ่มลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ พร้อมกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ และการดึงดูดลูกค้าที่ยังคงซื้อสินค้าสลับไปมาหลายแบรนด์ให้หันมาซื้อแบรนด์ของเราเป็นประจำ โดยในท้ายที่สุดแล้วการสื่อสาร และการใช้สื่อโฆษณา ต้องนำไปสู่การปิดการขายได้สำเร็จ
เพราะฉะนั้นแบรนด์จะปิดการขายได้ กลยุทธ์การสื่อสารและโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจง (Personalization) โดยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data จะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีขึ้น ด้วยเนื้อหาและช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อแบรนด์เราในที่สุด และทำให้แบรนด์สามารถดึงดูด พร้อมทั้งรักษาลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์ได้ต่อไปในระยะยาว” คุณธีรเดช สรุปทิ้งท้าย
Credit Photo (ภาพเปิด, ภาพดูทีวี, ภาพสมาร์ทโฟน) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand