หลังการเปิดตัว Digital free trade zone กับรัฐบาลมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Alibaba กำลังขยับความร่วมมือไปอีกขั้นหนึ่ง
Alibaba Cloud ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจระบบคลาวด์ของบริษัท ประกาศในวันนี้เกี่ยวกับโครงการริเริ่มใหม่ของบริษัทกับ Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) และ Dewan Bandaraya Kuala Lumpur (DBKL) ซึ่งเป็นสภาผู้แทนในเขตเมืองหลวง โปรเจคดังกล่าวถูกเรียกว่า “Malaysia City Brain” โครงการใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปัญหาการจราจร ติดตามการเคลื่อนตัวของยานพาหนะและพัฒนาปรับปรุงการวางผังในเมืองทั่วประเทศ
Smart City สเต็ปแรกใช้ควบคุมการจราจร
การใช้เทคโนโลยี data mining ที่ผสานกับเทคโนโลยีการรับรู้ภาพและวิดีโอของ Alibaba Cloud จะช่วยให้เมืองในมาเลเซียสามารถติดตามปริมาณรถและความเร็วของรถ เพื่อวิเคราะพ์สภาพการจราจร ไปจนถึงรับ-ส่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ บนท้องถนน แล้วใช้ข้อมูลดังกล่าวมาช่วยปรับความคล่องตัวของการจราจรอย่างอัตโนมัติ
นับว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของ Alibaba ในการรุกสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในส่วนของบริการอื่นๆ นอกเหนือจาก E-Commerce ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์สมาร์ทไอพีของ Alibaba มีการใช้งานนอกประเทศจีน โดยในมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จะเป็นเมืองแห่งแรกที่ทดลองระบบ City Brain นี้
วิธีการทำงานของบริการบริหารเมืองนี้ ในช่วงแรกของโครงการ บริษัทจะทำงานร่วมกับ DBKL เพื่อรวบรวมข้อมูลจากกล้องมากกว่า 500 ตัวจาก 281 แยกในเมืองหลวงของประเทศและให้การวิเคราะห์แบบเรียลไทม์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูล
ขั้นตอนที่สองจะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมมาใช้มากขึ้นเช่น GPS และระบบควบคุมไฟจราจร โฆษกของ Alibaba Cloud กล่าวว่า “การที่ Malaysia City Brain เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและแอปพลิเคชั่น ride-hailing เพื่อทำให้แพลตฟอร์ม City Brain มีความชาญฉลาดมากขึ้น”
ในอนาคตภาคเอกชน คู่ค้าในอุตสาหกรรม และสถาบันการวิจัยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มได้ รวมทั้งใช้อัลกอริธึมของตัวเองมาช่วยให้ระบบมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับ Digital Free Trade Zone in Malaysia ในมาเลเซียซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่ให้บริการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการ City Brain สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการแผ่ขยายอิทธิพลของ Alibaba ในภูมิภาคนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีนนี้ยังถือครองหุ้นในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Lazada เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังลงเงินจำนวน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในไซต์อีคอมเมิร์ซ Tokopedia ของอินโดนีเซีย
Charlie Dai นักวิเคราะห์ของ Forrester กล่าวว่า “มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiatives” และเสริมว่า Alibaba ได้สร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับรัฐบาลมาเลเซียในหลายภาคส่วนเช่นอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์
“เป็นทางเลือกปกติสำหรับ Alibaba ในการทำให้มาเลเซียเป็นประเทศแรกในการขยายการให้บริการ Smart City ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก” เขากล่าว “โครงการ Malaysia City Brain อาจช่วยให้ Alibaba สร้างชื่อเสียงและความไว้วางใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตลาดโลกในฐานะการเป็นประภาคารจากทั้งเทคโนโลยีและมุมมองทางการเมือง”
AI-as-a-Service
Alibaba Cloud ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทคอมพิวเตอร์คลาวด์เจ้าเดียวที่มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการเมือง Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายใหญ่ที่สุดในโลกก็มีชุดผลิตภัณฑ์สำหรับการสร้าง Smart City เช่นกัน ลูกค้าของบริษัทได้แก่ หน่วยงานขนส่งทางบกของสิงคโปร์ รวมทั้งกรมขนส่งของนิวยอร์ก
การสร้าง vertical products อย่างเช่นบริการ AI สำหรับเมือง ธุรกิจค้าปลีกและการเงิน อาจเป็นจุดสำคัญสำหรับการเติบโตของ Alibaba Cloud ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศและแข่งขันกับ Microsoft Azure และ Amazon Web Services
ตามรายงานของ Gartner ในปี 2016 Alibaba Cloud ได้ขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ในตลาดคลาวด์ทั่วโลก หลังจากทำรายได้แซง Google Cloud (IaaS)
ในเมืองหางโจวบ้านเกิดของ Alibaba ซึ่งบริษัทกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ City Brain ได้เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลขึ้น 15 % ในบางเขตการปกครอง นอกจากนี้ยังตรวจหาและรายงานการละเมิดกฎจราจรและการเกิดอุบัติเหตุต่อตำรวจในแต่ละวันโดยอัตโนมัติวันละ 500 กรณีเลยทีเดียว
หน่วยประมวลผลระบบคลาวด์ได้ผลักดันให้เกิด AI Solution อื่นๆ อีก ในประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ การจัดการข้อมูลในภาคการผลิตและการลดความล่าช้าของเที่ยวบินที่สนามบิน
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM