หลังพัฒนาแพลตฟอร์ม Line TV ให้เป็นอีกหนึ่งบริการเพิ่มเติมบน Line Thailand มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ซึ่งถือเป็นวิดีโอแพลตฟอร์มแบบ Local Initiative หรือบริการที่ริเริ่มขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในแง่ Awareness, User Download รวมทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาในแพลตฟอร์มซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ไลน์ทีวีกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เรียกได้ว่า Fast Growth เพราะในระยะเวลาเพียง 3 ปีกว่า ก็สามารถขึ้นเป็นผู้นำในแพลตฟอร์มดูทีวีย้อนหลัง (TV Rerun) ของประเทศไทยได้สำเร็จ (ข้อมูลจาก Nielsen) ด้วยจุดแข็งในการเป็น Exclusive Channel ที่สามารถดูคอนเทนต์ย้อนหลังได้เร็วที่สุดกว่าช่องทางอื่นๆ ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ขั่วโมงหลังจากมีการออกอากาศสด
Top Form ทั้งเงิน และกล่อง
คุณกวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ Line Thailand สรุปความสำเร็จ Line TV ในปีที่ผ่านมา อาทิ
– จำนวน User Download ทะลุ 20 ล้านครั้ง ขณะที่ Time Spend เกือบ 3 ชั่วโมงต่อวัน (176 นาที) ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของระยะเวลาที่ผู้ชมใช้ในการรับชมทีวีทั่วไป (ข้อมูล Nielsen) โดยมีจำนวน Active User ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและน่าพอใจ
– จำนวนพันธมิตรที่นำคอนเทนต์มาเผยแพร่ผ่าน Line TV เพิ่มขึ้นถึง 90% โดยปัจจุบันมี Content Partner 161 ราย ครอบคลุมผู้ผลิตรายใหญ่ๆ รวมทั้งช่องรายการหลักๆ ไว้ได้เกือบครบ รวมไปถึงค่ายเพลง หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
– ในแง่เม็ดเงินโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มก็แข็งแรงมากขึ้น ด้วยอัตราการเติบโตจากปีที่ผ่านมาถึง 100% ตามทิศทางการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจและจำนวนพันธมิตร และเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยับให้เติบโตได้มากขึ้น ตามสัดส่วนของงบโฆษณาที่ลงผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 10%
นอกจากนี้ ยังได้เห็นการต่อยอดแพลตฟอร์มไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเริ่มแล้วในไต้หวัน ขณะที่บริษัทแม่ก็กำลังให้ความสนใจในการศึกษาแพลตฟอร์มไลน์ทีวีเพื่อนำไปต่อยอดใช้งานในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
ความสำเร็จที่สามารถครองผู้นำแพลตฟอร์ม TV Rerun ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ทำให้ไลน์ทีวีเร่งเครื่องเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ด้วยเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำในแพลตฟอร์มวีดีโอคอนเทนต์ออนไลน์ทุกรูปแบบของประเทศไทย ภายใต้การพัฒนาคอนเทนต์ให้ครอบคลุมทุกๆ Category ใน 7 หมวดหมู่หลักๆ ไม่ว่าจะเป็น Drama, Music, Lifestyle, Entertainment, Animation, Sport รวมไปถึงการถ่ายทอดสด หรือ Live
โฟกัส Original Content พิชิตผู้นำวิดีโอแพลตฟอร์ม
ความสำเร็จของ Line TV หัวใจสำคัญมาจากคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ทั้งการมี Exclusive Content ไม่ว่าจะเป็นการได้สิทธิจากพาร์ทเนอร์ที่เป็นช่องทีวีต่างๆ ในการใช้ไลน์ทีวีเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรีรันหลังออกอากาศจบ หรือแม้แต่การออกอากาศคู่ขนานไปพร้อมกับช่องหลัก (Simulcast) รวมไปถึงการร่วมกับพันธมิตรในการผลิตคอนเทนต์เพื่อออกอากาศเฉพาะในไลน์ทีวีเท่านั้น
ขณะที่สัดส่วนคอนเทนต์บน Line TV ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นในกลุ่มดราม่าและซีรีส์ และถือเป็นกลุ่มที่ดึงดูดคนดูมากที่สุดคิดเป็นการชมคอนเทนต์ในกลุ่มนี้ประมาณ 70% ของยอด View บนแพลตฟอร์มโดยรวม ขณะที่คอนเทนต์ 80% จะเป็นคอนเทนต์ประเภท Rerun และอีก 20% จะอยู่ในกลุ่ม Original Content ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้ไลน์ทีวีมีความแข็งแรงและแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งจากนี้ไปไลน์ทีวีจะให้น้ำหนักในการพัฒนาคอนเทนต์ในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวน และคุณภาพคอนเทนต์
“สำหรับไลน์ทีวี เปรียบคอนทนต์ในกลุ่ม TV Rerun มีความสำคัญไม่ต่างจากหัวใจ ขณะที่ Original Content เป็นเหมือน DNA ของแพลตฟอร์ม นอกจากนี้จะเสริมความแข็งแรงให้กับคอนเทนต์ในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น MUSIC ที่จะให้ความสำคัญกับการสร้าง Music Experience ที่ให้มากกว่าแค่การฟังเพลง แต่จะสามารถติดตามเรื่องราวศิลปิน การแสดงโชว์ต่างๆ ได้แบบสดๆ รวมทั้งคอนเทนต์อื่นๆ ที่ปัจุจบันอาจจะยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่สนใจและติดตาม เช่น E-Sport เป็นต้น”
คุณกวิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป้าหมายในการขึ้นเป็นผู้นำในวิดีโอแพลตฟอร์มของไลน์ทีวี จะวัดในมิติของ Top of Mind เมื่อผู้บริโภคต้องการดูวิดีโอออนไลน์จะนึกถึงไลน์ทีวีเป็นแพลตฟอร์มแรก ขณะที่คู่แข่งโดยตรงของไลน์ทีวี แบบที่เรียกว่า Direct Competitor นั้น ยังไม่มี เพราะด้วยลักษณะคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน โดยคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดจะมี Content ในกลุ่มที่ให้ผู้ใช้สร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเอง หรือ User Generated Content (UGC) ขณะที่ไลน์ทีวีจะไม่มี UGC แต่จะเน้นคอนเทนต์ที่ Exclusive และ Selected เพื่อต้องการคัดเลือกเฉพาะคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคเท่านั้น
เป้าหมายต้อง Double Growth
เมื่อต้องการคอนเทนต์ที่มีความ Special และ Exclusive ทำให้ความสำคัญที่ไลน์ทีวีจะโฟกัสมากขึ้นคือ การร่วม Invest ใน Original Content ต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น ทำให้บทบาทและภาพของการเป็น Content Creator จะชัดมากขึ้นผ่าน Business Model ในการร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม และเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่จะดึงให้พันธมตรเข้ามาร่วมมือกับไลน์ทีวีเพิ่มมากขึ้น
“ไลน์ทีวีไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มพันธมิตรในเชิงปริมาณ แต่ให้ความสำคัญกับมิติของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมากกว่า ทั้งจำนวนคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะประเภทของละคร หรือรายการวาไรตี้ต่างๆ โดยเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้จะพยายามผลักดันการเติบโตให้เพิ่มขึ้นได้เป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่ของ Users ปริมาณคอนเทนต์ หรือเม็ดเงินโฆษณา”
ปัจจุบันไลน์ทีวีมีพันธมิตรทั้งในกลุ่มช่องทีวีหลักๆ อาทิ ช่อง 3 เวิร์คพอยท์ และช่อง 8 เพื่อนำเสนอละครย้อนหลัง นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรอย่างช่อง one31 และ GMM TV สำหรับการรับชมคอนเทนต์ย้อนหลังก่อนแพลตฟอร์มอื่นๆ
รวมทั้งจะเพิ่มความร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรเพื่อลงทุน Original Content มากขึ้น ทั้งในส่วนของรายการที่ร่วมมือกับ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด, Bear Cave, บริษัท โนแมดิค โปรดักชั่น จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด และ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างสรรค์ซี่รี่ส์อย่าง Together With Me: The Next Chapter, GGEZ, It’s Complicated, Hipster or Loser, The Deadline และรายการต่างๆ อย่าง Dance Dance Dance, The Hidden Songs, Food Tribe, ก็กูทำไม่เป็น และ Drag Race Thailand
“การมี Original Content มากขึ้น จะช่วยเพิ่มคอนเทนต์ที่มีคุณภาพบนแพลตฟอร์ม และยังเป็นช่องทางในการพัฒนา Local Content เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคตได้ด้วย ขณะที่ความกังวลในการแย่งฐานผู้ชมจากช่องทางหลักนั้น มองว่าไลน์ทีวีจะเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์มาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มโอกาสในการสร้าง Awareness รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างเรตติ้งของคอนเทนต์ให้เพิ่มสูงมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตไปได้พร้อมกันมากว่าแข่งขันกัน ซึ่งการเติบโตทั้งในแง่ของพันธมิตรและจำนวนคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าผู้ผลิตและช่องหลักมีความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างดี”
YouTube – Facebook – LINE เปิดศึกในยุคผสานสื่อ
ในระยะหลังผู้ผลิตคอนเทนท์เองเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของสื่อ และพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ต้องใช้โซเชี่ยลมีเดียเข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตหลายรายเดินหน้าใช้โซเชี่ยลมีเดียเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการเผยแพร่คอนเทนท์ไปแล้ว ในขณะที่เจ้าของแพล็ตฟอร์ตเอง ก็ทราบดีว่า คอนเทนท์ วิดีโอเป็นคอนเทนท์ที่สำคัญที่จะเข้าถึงผู้ใช้งาน และทำให้ผู้ใช้งานท่องความบันเทิงอยู่ในแพล็ตฟอร์มของตัวเอง ดังนั้นในระยะหลังเจ้าของแพล็ตฟอร์ตต่างก็งัดเอาไม้เด็ดออกมาเพื่อจูงใจทั้งฝั่งผู้สร้างสรรค์งาน และฝั่งผู้ชมให้อยู่กับแพล็ตฟอร์มของตัวเอง เช่น YouTube มีพื้นที่และคอร์สจัดอบรมให้กับ Content Creator รายเล็กอยู่เรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิด Local Content รวมทั้งผู้ผลิตคอนเทนท์รายใหญ่ก็มีการให้สิทธิพิเศษในรูปแบบของการแบ่งรายได้ จนเป็นที่มาของการแข่งกันให้มียอด Subscriber ในส่วนของ Facebook ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่การสร้างพันธมิตรระดับโลก เช่น CNN, Newyork Times รวมทั้งสื่อดิจิทัลอย่าง Mashable, The Huffington Post ไปจนถึงนักกีฬาชื่อดังหลายคน ในขณะที่ประเทศไทย Facebook พยายามจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนท์บางราย เช่น รายการของวูดดี้เวิร์ด แต่ดูเหมือนว่าการเจาะเข้าสู่คอนเทนท์ท้องถิ่นยังไม่กว้างขวางนัก ในส่วนของ LINE TV ได้เปรียบที่การจับมือกับพันธมิตรทั้งหลายตามที่กล่าวมาแล้ว เพื่อทำให้มี Exclusive Content ที่ถึงแม้จะรับชมคอนเทนท์นั้นแล้วทาง TV ก็มาดูได้อีกกับ LINE TV เพื่อดูตอนเฉพาะที่ไม่ออกอากาศในช่องทางปกติ หรือบางรายการก็ดัดแปลงฉายใน LINE TV เท่านั้น
นับว่าการรุกของโซเชี่ยลมีเดียเหล่านี้ มีผลกระทบต่อวงการสื่อของประเทศไทยและผู้บริโภคอย่างมาก และถ้าหากว่ามองในมุมของผู้ชมแล้ว เรายังมีทางเลือกอีกมากมากมาย เช่น บริการ Video Streaming ที่ในระยะหลังก็ทำตลาดมากขึ้นในประเทศไทย และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน “สงครามแพล็ตฟอร์ม” ที่ต้องแย่งชิงเวลาของผู้ชม จึงเป็นสมรภูมิสุดมันที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกมากขึ้นทั้งคอนเทนท์และแพล็ตฟอร์ต ผู้ชมก็ดูกันวนไปค่ะ ส่วนผู้ผลิตน่ะเหรอ…อ่อนแอก็แพ้ไปค่ะ