HomeBrand Move !!CIMB THAI ประกาศยุทธ์ศาสตร์ ปี 61 ตั้งเป้า “ธนาคารแข็งแกร่งที่สุดเรื่องอาเซียน”

CIMB THAI ประกาศยุทธ์ศาสตร์ ปี 61 ตั้งเป้า “ธนาคารแข็งแกร่งที่สุดเรื่องอาเซียน”

แชร์ :

จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวปี 2559 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดตัวลงของโรงสีเนื่องจากปัญหาราคาข้าว กลไลตลาด และวิกฤติปัญหาทางการเมือง ทำให้การเจริญเติบโตของสินเชื่อ 2-3 ปีหลังลดต่ำลง อยู่ราวๆ 1 เท่า จากปกติจะเติบโต 1.5 – 2 เท่าของ GDP ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ในด้านของ NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของทุกธนาคาร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากธุรกิจที่ชะลอตัวลง ในปีที่ผ่านมาทางธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีการขาย NPL ออกไปถึง 2 ครั้ง ภาพรวมเศรษฐกิจของปีที่แล้วดูเหมือนว่าจะเติบโตขึ้น แต่ผลกระทบด้านบวกส่วนใหญ่จะตกไปอยู่กับพวกบริษัทขนาดใหญ่  อัตราการเติบโตส่วนใหญ่ปีที่แล้วมาจากธุรกิจรายย่อยเป็นหลัก loan growth อยู่ที่ 10%

อย่างไรก็ตาม นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยในปี 2560 โดยภาพรวมถือว่าน่าเป็นที่น่าพอใจ ธนาคารมีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 3.2% ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 4.4% ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเติบโตของสินเชื่อในระดับนี้ถือว่าค่อนข้างดี ขณะที่กำไรก่อนหักสำรองของปี 2560 ปรับเพิ่มขึ้น 5% จาก 5.5 พันล้านบาท เป็น 5.7 พันล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 

มองอนาคตเศรษฐกิจปี 2561

เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเร่งตัวขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเติบโตได้ดีจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในช่วงครึ่งหลังของปีจะเริ่มเห็นกำลังซื้อและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดขึ้น คาดว่าโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ภาครัฐกำลังเดินหน้า เพื่อมุ่งสร้างพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยรุดหน้าไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการผลิตขยายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SME ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้ธุรกิจขนาดใหญ่

ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน จากอานิสงส์ของเศรษฐกิจที่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสำคัญๆ เป็นการเติบโตจากภาคการส่งออกในปีที่แล้วซึ่งเติบโตทั้งปี และเป็นการเติบโตในอุตสาหกรรมหลักๆ แบบกระจายตัว โดยรวมปี 2561 จะค่อยๆ เป็นบวกมากขึ้น แม้จะไม่ดีขึ้นแบบทันทีทันใด แต่น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ

 

เป้าหมายอนาคต ซีไอเอ็มบี ไทย ปี 2561

สำหรับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารทำผลงานได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และปี 2561-2562 นับเป็นก้าวแรกของโครงการ FAST FORWARD คือ การเดินหน้าสู่เป้าหมายของการก้าวขึ้นเป็นธนาคารระดับกลางที่แข็งแกร่งที่สุดด้านอาเซียนในประเทศไทย โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษี 12,000 – 15,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเราทำได้ 2,000 ล้านบาท แต่ทางซีไอเอ็มบี ไทยเชื่อว่าจะสามารถเติบโตไปถึง 8,000 – 10,000 ล้านบาทได้ไม่ยากเพราะยังมีช่องว่างของธุรกิจที่ธนาคารยังเข้าไม่ถึงอีกเป็นจำนวนมาก

ด้านธุรกิจรายย่อย ธนาคารทำได้ดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายหลักของตลาด Wealth ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ซับซ้อน และตอบความต้องการของลูกค้าที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากฝั่งธุรกิจบริหารเงิน ขณะเดียวกัน ในฝั่งของสินเชื่อรายย่อย ธนาคารเป็นที่จับตาของตลาด จากจุดแข็งของการเดินหน้าทำ risk based pricing ทำให้สามารถตอบแทนลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ดังนั้น ธุรกิจรายย่อยถือเป็นตลาดที่ธนาคารมีศักยภาพในการแข่งขัน ธนาคารจะเดินหน้าบุกตลาดนี้ต่อไปภายใต้ความท้าทายที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น

นายกิตติพันธ์ กล่าว “ปีที่แล้วธนาคารได้ปรับฐานภายในโดยค้นหาวิธีที่เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน คู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถของคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งธนาคารได้ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดูทุกจุดในกระบวนการทำงาน ซึ่งในปี 2561 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้เข้าสู่โครงการ FAST FORWARD เต็มตัว และจะทยอยทำตามแผนที่วางเอาไว้ตลอดปีนี้และปีหน้า แม้อาจไม่เห็นกำไรที่พุ่งขึ้นทันที แต่การปรับฐานอย่างต่อเนื่องจะเริ่มส่งผลในปลายปี 2562-2563 ทำให้เห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ”

พร้อมยืนยันไม่มีนโยบาย ลดสาขาและพนักงานลง จากจำนวนกว่า 80 สาขาทั่วประเทศ แต่จะมีการเพิ่มพนักงานให้มากขึ้น เพื่อรองรับการขยายการเติบโตของธนาคารในสายงานต่างๆ เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นธนาคารขนาดกลางภายใน 5 ปีนี้

สำหรับเป้าหมายปี 2561 ธนาคารจะขยายสินเชื่อและเงินฝากให้เติบโตประมาณ 5% และจะรักษาระดับ NIM ให้อยู่ราวๆ 3.8% พร้อมกับควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 5%

นอกจากนี้ นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ยังเผยถึงการทำ Digital Banking  ที่จะเปิดตัว Application ออกมาให้ได้ใช้กันภายในกลางปีอย่างแน่นอน นอกจากบริการด้านการโอนเงิน, Payment, QR Code, E-wallet ที่เป็นบริการพื้นฐานที่ทุกธนาคารต่างต้องมีแล้ว ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงเน้นจุดแข็งในเรื่องของสินเชื่อ การสมัครสินเชื่อด้วยตัวเอง เพิ่มเติมการบริการด้านสินเชื่อจากการมีตู้คีออสเพื่อให้ลูกค้าสามารถสมัครขอสินเชื่อได้เอง โดยไม่ต้องมาที่สาขาหรือมีพนักงาน และการให้พนักงานออกไปอนุมัติสินเชื่อให้ได้ทันทีผ่าน Tablet ในปีที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารได้มากขึ้น พร้อมลุยตลาดแบงก์กิ้ง เอเย่นต์ เพื่อเพิ่มความสะดวก และให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้าที่อยู่ห่างไกล

คงต้องมาดูกันว่าการปรับฐานในโครงการ FAST FORWARD เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรที่ถือเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาศักยภาพจากภายในสู่ภายนอก เมื่อจบปี 2018 ทางซีไอเอ็มบี ไทย จะมีการเจริญเติบโตสูงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ การเจริญเติบโตที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป และ Mobile Application ที่จะเปิดตัวกลางปีนี้ ก็เป็นที่น่าจับตามองว่า นอกจากเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการบริการแล้ว จะเพิ่มฐานลูกค้าและอัตราการเจริญเติบโตในส่วนของสินเชื่อให้กับธนาคารมากน้อยเพียงใด


แชร์ :

You may also like