HomeStartup“ติดกระดุมเม็ดแรกผิด” เหตุผลให้คนทำธุรกิจดาวรุ่งอย่าง Coworking Space “ไม่รุ่ง” อย่างที่ฝัน

“ติดกระดุมเม็ดแรกผิด” เหตุผลให้คนทำธุรกิจดาวรุ่งอย่าง Coworking Space “ไม่รุ่ง” อย่างที่ฝัน

แชร์ :

หากเริ่มต้นด้วยการ “ติดกระดุมเม็ดแรกผิด” แต่หวังจะให้ได้เสื้อผ้าที่เรียบร้อยสวยงามคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะสุดท้ายแล้วเสื้อผ้าที่ได้ก็คงจะบิดๆ เบี้ยวๆ ดูไม่เข้าชุดเข้าทรงอย่างที่ตั้งใจ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ Coworking Space ที่แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่เพิ่งแจ้งเกิดได้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการเบ่งบานถึงขีดสุดของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการขยายตัวของ Sharing Economy จนกลายเป็นหนึ่งธุรกิจดาวรุ่งที่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ สนใจและเข้ามาเปิดบริการจำนวนมาก และคาดว่าอาจจะมีผู้ประกอบอยู่ในธุรกิจนี้เป็นหลักร้อย แต่ขณะเดียวกันกลับมีผู้รอดและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงจากการทำธุรกิจแบบนี้นับรายได้  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

วิธีคิดที่ผิดทางมาตั้งแต่เริ่มต้น

ขณะที่การประเมินแนวโน้มธุรกิจ Coworking Space ของไทย จากความเห็นของ คุณกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง โกลว์ฟิช (Glowfish) หนึ่งในผู้ประกอบการที่ยังคงแข็งแรง จากความสามารถในการปรับตัวและหาโอกาสต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง มีมุมมองว่า หาก Coworking Space ไม่ปรับเปลี่ยนมาสู่ Business Model ใหม่ๆ ก็จะได้เห็นผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ตายกันไปอีกมากในเวลาไม่นาน เพราะโมเดลแบบเดิมๆ ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้อีกต่อไป เนื่องจากทุกวันนี้คนทั่วไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรีเทลรายใหญ่ๆ ต่างก็จัดพื้นที่ให้คนมานั่งทำงานได้แบบฟรีๆ จึงไม่มีเหตุผลที่คนเหล่านี้จะต้องเข้ามาใน Coworking Space แถมยังต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับการได้เข้ามาใช้สถานที่แค่เพียงเท่านั้น

“มีผู้ประกอบการหลายๆ รายที่เริ่มต้นทำ Coworking Space ด้วยวิธีคิดและวัตถุประสงค์ที่ผิด โดยเฉพาะความเข้าใจผิดจากชื่อเรียก Coworking Space ทำให้มองว่าธุรกิจนี้คือการนำเสนอพื้นที่ ส่วนใหญ่จึงตั้งต้นธุรกิจด้วยการมีพื้นที่ก่อน โดยที่เราอาจจะลืมไปว่าไม่มีอะไรที่จะไป Co กับพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่เป็นแค่สถานที่แห่งหนึ่ง ไม่ได้มีความสามารถที่จะสร้างสิ่งใดๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง แม้แต่ผู้ประกอบการรีเทลใหญ่ๆ บางรายที่อาจจะมีพื้นที่เหลือจากการขาย หรือมีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรก็จะนำพื้นที่เหล่านี้มาทำเป็นโคเวิร์กกิ้งเพราะเห็นว่าอาจจะช่วยดึงให้คนเข้ามาเพิ่มได้ โดยเน้นแค่การตกแต่งพื้นที่ให้สวยงามเป็นหลัก เพื่อให้ถ่ายรูปออกมาแล้วสวย แต่ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษและแตกต่างไปจากที่อื่น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถดึงให้คนเข้ามาได้อยู่ดี”

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมาจากส่วนใหญ่โฟกัสอยู่แค่เรื่องของ Hardware หรือว่า “พื้นที่” แต่เพียงอย่างดียว โดยที่อาจลืมคิดว่าทุกวันนี้คนนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อสามารถนั่งทำงานในร้านกาแฟ หรือตามศูนย์การค้าทั่วๆ ไปได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องเข้ามาใน Coworking Space ทำให้ในอนาคตจะมีธุรกิจที่ไปไม่รอดอีกจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ Software ให้ความสำคัญกับการสร้าง Community หรือสร้างความพิเศษอะไรบางอย่างให้กับคนที่เข้ามาใช้บริการให้ได้ เช่น เข้ามาแล้วมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น หรือสามารถต่อยอดการเติบโตได้จากทางใดทางหนึ่ง เพื่อทำให้เห็นความสำคัญและเกิดความต้องการที่จะมาหาเรา

“ผู้รอด” ต้องหา New Business Model

สิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจและเห็นได้อย่างชัดเจนคือ โมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่สามารถสร้างรายได้อีกต่อไปแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็น Coworking Space มีรายได้จากการเก็บค่าใช้บริการ แบบรายชั่วโมง รายวัน สำหรับให้กลุ่มฟรีแลนเซอร์ หรือคนทำธุรกิจเล็กๆ ที่อาจจะมาเช่าเป็นออฟฟิศชั่วคราวแบบรายเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้โมเดลลักษณะนี้อาจจะเคยสร้างรายได้ได้ แต่จากนี้ไปโมเดลเดิมๆ แบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เวิร์กอีกต่อไป หากเรายังเป็นได้แค่ Space Provider เพราะตอนนี้มีที่นั่งทำงานฟรีๆ สวยๆ ให้ลูกค้าเลือกนั่งได้กระจายอยู่แทบจะทั่วทุกมุมเมืองแล้ว

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เริ่มมองเห็นสำหรับแนวทางการปรับตัวของคนทำ Coworking Space ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการพื้นที่ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการขายเครื่องดื่มหรืออาหาร โดยที่รายได้ส่วนใหญ่ก็จะมาจากอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ขณะที่ Space ก็จะเป็นเพียงหนึ่งใน Facility ที่ทางร้านมอบให้กับลูกค้า พร้อมรหัส Wifi ที่อาจจะจำกัดจำนวนชั่วโมงตามความเหมาะสม

หนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวได้อย่างเด่นชัด คือ HUBBA (ฮับบ้า) ด้วยฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจ Coworking Space และทำให้คนไทยคุ้นเคยกับธุรกิจแบบนี้จนกลายไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งแนวคิดในการต่อยอดธุรกิจที่ไม่ได้มองอยู่แค่การแชร์พื้นที่ทำงานร่วมกัน แต่มอง Coworking Space เป็นแหล่งรวมคนที่มี Passion ในการทำธุรกิจไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพ ที่ล้วนมีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของตัวเอง

การมองแบบ Beyond ของฮับบ้า นำมาสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมและช่วยสร้างความแข็งแรงให้เกิดขึ้นใน Startup Ecosystem ของประเทศ ทั้งการสร้าง Connection ระหว่างกลุ่มคนสร้างธุรกิจใหม่และ Venture Capital ต่างๆ รวมไปถึงการให้คำแนะนำกลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจหรือการต่อยอดในเรื่องของการระดมทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ขณะเดียวกันก็ยังมีคอนเท็นต์หรือแนวทางหารายได้ที่อาจจะมาจากการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ เวิร์คช็อป สัมนา หรือการจัดเทรนนิ่งต่างๆ ที่เพิ่มมากกว่าแค่การเก็บรายได้จากการเข้ามาใช้พื้นที่แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการก้าวข้ามจากโมเดลธุรกิจเดิมๆ มาได้ นอกจากจะทำให้ HUBBA สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้แล้ว ยังทำให้ฮับบากลายเป็น Hub ของธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศได้เป็นผลสำเร็จในปัจจุบัน

Glowfish ขยับสู่ Lifestyle Workspace

ขณะที่ Glowfish อีกหนึ่งผู้ประกอบการ Coworking Space ที่ต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ทำมากว่าสิบปีอย่าง Service Office และปรับมาสู่การทำ Coworking Space เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของคนทำงานรุ่นใหม่ โดยรูปแบบอาจจะต่างจากโคเวิร์กกิ้งทั่วๆ ไป ที่จะเน้นแต่ผู้เช่าประจำหรือระยะยาว โดยต้องเช่าอย่างน้อย 3 เดือน และสร้างความต่างด้วยการเพิ่มพื้นที่สำหรับธุรกิจไลฟ์สไตล์ต่างๆ มาไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างด้วยการสร้างเซ็กเม้นต์ใหม่อย่าง Lifestyle Workspace ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนทำงานยุคใหม่ได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

กลุ่มเป้าหมายของ Glowfish อยู่ที่กลุ่ม Young Entrepreneur หรือกลุ่มธุรกิจ SME เพราะความเข้าใจในข้อจำกัดของการทำ Coworking Space ในแบบ Old Model ที่มีข้อจำกัดในการหารายได้ และทำให้คืนทุนได้ช้า จึงวางแนวคิดในการบริหาร Glowfish ให้มีแนวทางใกล้เคียงกับการทำธุรกิจเรียลเอสเตทแบบที่ใช้บริหาร Service Office มาก่อน แต่อาจจะเป็นรูปแบบสเกลที่หลากหลายให้เหมาะกับรูปแบบการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องการผูกมัดในเรื่องสัญญาเช่าระยะยาวหลายๆ ปีแบบในอดีตที่ผ่านมา

ขณะที่การออกแบบพื้นที่สำหรับการทำงานภายใน Glowfish จะให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์สไตล์ในการทำงานของกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน ไม่ว่าจะกลุ่มที่เป็น Introvert ที่ต้องการออฟฟิศที่เป็นสัดส่วน หรือ กลุ่ม Extrovert ที่ชอบสไตล์ การทำงานแบบใช้พื้นที่ร่วมหรือ Collaborative space

“โกลว์ฟิชเริ่มให้บริการที่สาขาอโศก ด้วยจำนวนพื้นที่เช่ารวม 1,500 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อเพิ่มพื้นที่ในอนาคตให้มีไม่ต่ำกว่า 4 พันตารางเมตร รวมทั้งดึงพาร์ทเนอร์ในกลุ่มไลฟ์สไตล์ต่างๆ เข้าไปให้บริการในพื้นที่เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ได้ทำ Pilot Project เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ที่สาขาสยาม ก่อนจะย้ายมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบที่สาธร ติดกับ BTS ช่องนนทรี ด้วยพื้นที่มากถึง 4 พันตารางเมตร ซึ่งในส่วนของ Service Office ทั้ง 26 ห้อง ที่สาธรนี้ มีคนจองพื้นที่ครบทั้งหมดแล้ว”

ความเป็น Lifestyle Workspace จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดเล็ก หรือ Micro-Mixed Use ที่นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับรองรับคนทำงานแล้ว ภายในพื้นที่เดียวกันยังมีโซนร้านอาหารต่างๆ ที่มีความหลากหลายไว้ให้บริการและเน้นอาหารที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน รวมทั้งยังมีฟิตเนสสำหรับผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายและดูแลตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับวีถีชีวิตคนทำงานรุ่นใหม่และกลุ่ม Entrepreneur ในยุค 4.0 ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบการทำงานในรูปแบบเดิมๆ แต่จะให้ความสำคัญทั้งการดูแลคุณภาพชีวิตและการประสบความสำเร็จในการทำงานหรือธุรกิจควบคู่กันไป

 เป้าหมายใหญ่คือการสร้าง Community

สำหรับพื้นที่ทั้ง 4 พันตารางเมตร ของ Glowfish ที่สาขาล่าสุดอย่างสาธรนี้ นอกจากแบ่งเป็นพื้นที่ Office Space โซนร้านอาหารหรือ Dining Space รวมทั้งผู้ให้บริการฟิตเนสต่างๆ แล้ว ยังมีพื้นที่ในส่วน Event Space สำหรับรองรับการจัดงานต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งโมเดลในการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นอีกหนึ่งสาขาที่แข็งแรงของธุรกิจตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอีเวนท์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการจัดงานมีสัดส่วนเท่ากับรายได้จากการให้เช่าพื้นที่คือ 50% ซึ่งในอนาคตรายได้จากส่วนของการใช้พื้นที่เพื่อจัดอีเวนท์ งานปาร์ตี้ งานแถลงข่าว หรือแม้แต่คอนเสิร์ตในระดับ 300-400 คน จะมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากกว่าสาขาของ Service Office ได้อย่างแน่นอน

สำหรับโอกาสเติบโตจากรายได้ในกลุ่มธุรกิจอีเวนท์ นอกจากราคาที่สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับการใช้สถานที่จัดงานตามโรงแรมต่างๆ ยังได้เปรียบที่มีความสะดวกสบายมากกว่า เนื่องจากความพร้อมในเรื่องของระบบเสียง รวมไปถึงการเซ็ตอัพระบบที่ทาง Glowfish จะมีพาร์ทเนอร์อย่างอีเวนท์ป็อปมาช่วยในการบริหารจัดการและดูแลให้ ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้สถานที่สามารถจัดการกระบวนการจัดงานต่างๆ ได้จบในจุดเดียว ไม่ต้องแยกประสานงานจากหลายๆ ส่วน เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่คาดว่าจะช่วยดึงดูดให้มีคนมาใช้สถานที่ของ Glowfish ในการจัดงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

การออกแบบ Glowfish เพื่อต้องการลดจุดอ่อนในธุรกิจ Coworking Space ที่คุณกวินมองเห็นจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ประกอบกับเป็นการมองจากมุมที่เป็น User เองด้วย จึงเข้าใจความต้องการของธุรกิจที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ว่าต้องการอะไร โดยเฉพาะกลุ่ม SME หรือ Entrepreneur ที่ไม่ได้ต้องการแค่พื้นที่ว่างๆ แต่ต้องดูว่าเมื่อเข้ามาอยู่แล้วฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มีตอบโจทย์คนทำงานหรือไม่ และต้องมีมากกว่าการให้ความสำคัญแค่ฮาร์ดแวร์ แต่ต้องมองไปที่ซอฟต์แวร์ต่างๆ ทั้งธุรกิจต่างๆ ที่จะเข้ามาอยู่ร่วมกัน มาเป็นพื่อนบ้านกัน หรือการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เพื่อโอกาสที่จะ Collaborated ธุรกิจร่วมกันในอนาคต

“Glowfish ให้ความสำคัญกับการสร้าง Community ทางธุรกิจ แม้ว่าบางบริษัทอาจไม่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเรา แต่ก็สามารถทำโปรเจ็กต์บางอย่างร่วมกันได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหรือให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะจุดสำคัญในการทำ Coworking Space ต้องเริ่มมาจากจุดเหล่านี้ก่อน ทำให้เรามองข้ามจากแค่เรื่องของการขายพื้นที่ มาเป็นการช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ให้แข็งแรง และเป็นโอกาสในการเรียนรู้ว่าธุรกิจต่างๆ ต้องการอะไร ทำให้ทั้งเราและธุรกิจต่างเติบโตไปพร้อมกัน และเมื่อธุรกิจเหล่านี้แข็งแรงมากขึ้น ก็อาจจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเราในอนาคต เข้ามาช่วยเสริมให้ Community ของเรามีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่รูปแบบในการเข้าไปสนับสนุนก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากการช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด มาเป็นการหาวิธีเพื่อทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้เร็วขึ้น เช่น ช่วยต่อยอดการทำ Business Matching โดยทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากองค์ประกอบสำคัญคือ การสร้างความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเหมือนเพื่อนกัน คอยให้ความช่วยเหลือ ช่วยกันสร้าง Inspired ร่วมกันเรียนรู้และพร้อมจะเติบโตไปพร้อมกัน”

Photo Credit : Facebook Glowfish Offices


แชร์ :

You may also like