เวิร์กเดย์ (Workday) ผู้นำด้านแอปพลิเคชันคลาวด์ระดับองค์กรสำหรับการบริหารการเงินและทรัพยากรบุคคลเผยแพร่ผลการวิจัยหัวข้อ ‘The Drive for the Digitally-enable Workforce’ ระบุว่าร้อยละ 45 ของลูกจ้างในประเทศไทยขาดความมั่นใจว่าตนมีทักษะที่เหมาะสมกับการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
การศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัทการตลาดระดับโลกไอดีซี (IDC) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นลูกจ้างจำนวน 1,404 คนใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาค ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อประเมินทัศนคติและความพร้อมที่มีต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาชีพของตนเองได้รับจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (เช่น อุปสรรคและโอกาส) สิ่งที่ลูกจ้างตั้งใจจะทำ หรือกำลังทำ ซึ่งเกิดจากการรับรู้ของพวกเขา และความท้าทายที่ลูกจ้างจะต้องเผชิญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ผลจากการศึกษาดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่วันนี้ที่งานเวิร์กเดย์ ดิสคัฟเวอร์ ดิจิทัล เฮชอาร์ (Workday Discover Digital HR) ณ กรุงเทพมหานคร
“บริษัททั่วทั้งภูมิภาคมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในธุรกิจต่างๆ โดยที่ผลการศึกษาของไอดีซีระบุว่า ภายในปีพ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 60 ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นประเทศญี่ปุ่น จะมาจากการเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล เนื่องจากการเติบโตในทุกๆ อุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการที่ดีขึ้น การปฏิบัติงานและความสัมพันธ์” นายเดวิด โฮป ประธานบริษัทเวิร์กเดย์ เอเชียแปซิฟิค กล่าว
“ด้วยแนวโน้มนี้ ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย และทั่วเอเชียแปซิฟิกจึงจำเป็นต้องมั่นใจว่าพนักงานของพวกเขายังคงสามารถก้าวเท่าทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัลเป็นแนวทางที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล” นายเดวิดกล่าวเพิ่มเติม
ผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายงานนี้ ประกอบด้วย:
ความสุขคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ใช่หรือไม่
- ประเทศไทยมีพนักงานที่มีความสุขมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิค โดยที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 96 ระบุว่าพวกเขาพึงพอใจและรู้สึกมีส่วนร่วมในที่ทำงาน
- เงินเดือนและผลตอบแทนที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของตลาด คือแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับความสุขและปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานและลูกจ้างในประเทศไทย (ร้อยละ 14) ตามมาด้วยความมั่นคงในการทำงาน (ร้อยละ 12) และโอกาสในการทำงาน (ร้อยละ 11)
สงครามแย่งคนเก่ง
- แม้ว่าพนักงานในประเทศไทยจะความพึงพอใจในงานอยู่ในระดับสูง แต่กลับพบว่าพนักงานมากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 29) มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนงานภายในหนึ่งปีนี้
- สาเหตุหลักที่ดึงดูดในการเปลี่ยนงานในประเทศไทยประกอบด้วย เงินเดือน/ผลตอบแทน (ร้อยละ 20) โอกาสในการทำงานที่มากกว่า (ร้อยละ 17) และสวัสดิการในการทำงาน (ร้อยละ 14)
- ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้พนักงานคิดเปลี่ยนงานคือ ขาดโอกาสในการทำงาน (ร้อยละ 16) เงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 14) และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน (ร้อยละ 13)
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
- ประเทศไทยคือ 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ขาดความมั่นใจในทักษะด้านดิจิทัล (ร้อยละ 45) รองมาจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
- พนักงานร้อยละ 63 ในประเทศไทยคาดหวังความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเทคโนโลยีอย่างชัดเจนในที่ทำงาน ในขณะที่ 2 ใน 5 (ร้อยละ 40) รู้สึกว่าผู้จัดการของพวกเขาไม่มีมาตรการเชิงรุกในการช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องหน้าที่การงานของพวกเขา
- ลูกจ้างชาวไทยมีความเป็นผู้ประกอบการมากที่สุด โดยร้อยละ 35 บอกว่าพวกเขาต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองหากอาชีพของพวกเขาได้รับผลกระทบจากกรเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ (Start-Up) และธุรกิจที่ก่อตั้งมานานแล้วจากธุรกิจหลากหลายขนาดและเป็นบุคคลต่างเพศและวัย ซึ่งรวมถึงพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลส์ร้อยละ 50 เจนเนอเรชัน เอ็กซ์ ร้อยละ 40 และเบบี้ บูมเมอร์ ร้อยละ 10 นอกจากนั้นผู้ตอบแบบสอบถามยังมีทั้งผู้ที่ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญร้อยละ 36 พนักงานระดับธุรการร้อยละ 31 พนักงานฝ่ายขายและบริการร้อยละ 10 และผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 7