อีกไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้อสูงอายุหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างเต็มรูปแบบ ตัวเลขผู้สูงอายุที่คาดการณ์กันไว้ จะเพิ่มขึ้นมีจำนวนกว่า 12.6 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 ส่วนในปี 2573 เพิ่มเป็น 17.6 ล้านคน และในปี 2583 เพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน ปริมาณที่มากขนาดนี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการมองเป็นโอกาสทางการตลาด ผลิตสินค้าและบริการออกมารองรับกับจำนวนลูกค้ามหาศาล ที่คาดกันว่าน่าจะมีความต้องการสินค้า และบริการ รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
แม้แต่ธุรกิจการจัดงาน ก็มองเห็นเป็นโอกาสทางการตลาด ที่จะได้รวบรวมบรรดาผู้ประกอบการ ที่ผลิตสินค้าและบริการ เพื่อรองรับกับกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้จัดงานแสดงสินค้า บริการ และนวัตกรรม เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ ให้กลุ่มเป้าหมายและผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุได้ช้อปปิ้งกันตามความต้องการ อย่าง บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือนีโอ ที่จัดงาน อินเตอร์แคร์ เอเชีย ที่ปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว
คุณสืบพงษ์ สมิตทันต์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ เผยว่า ได้เตรียมจัดงาน อินเตอร์แคร์ เอเชีย 2018 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2561 นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อตอบสนองความต้องการดูแลของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นการช่วยภาครัฐในการเตรียมความพร้อมประชาชนที่จะก้าวเข้าสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานตลอดระยะเวลา 3 วัน มากกว่า 5,000 คน และจะเกิดการซื้อขายภายในงานไม่น้อยกว่า 550 ล้านบาท
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย นอกเหนือไปจากการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กรมกิจการผู้สูงอายุ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีนโยบายและ การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการดูแลและพัฒนาผู้สูงอายุ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนกิจการด้านสุขภาพ ยารักษาโรค เครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนกิจการบริการทางการแพทย์ รวมถึงความพร้อมของภาคเอกชน ซึ่งได้มีการเดินหน้าลงทุนผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีที่แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุของภูมิภาคอีกด้วย โดยภายในงานจะมีผู้ประกอบการชั้นนำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นต้น มาร่วมแสดงสินค้า บริการ และนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ภายในงานครั้งนี้มีสินค้า และบริการอะไรที่น่าใจบ้าง ตามไปดูโซนต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร
โซนที่ 1 Homecare & Equipment ซึ่งจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือ ในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ เช่น วิลแชร์ วอร์คเกอร์ อุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
โซนที่ 2 Rehabilitation จะมีอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการดูแลช่วยเหลือและปกป้องผู้สูงอายุ เช่น หุ่นยนต์ผู้ช่วย ศูนย์กระดูกและข้อ เครื่องช่วยฟัง
โซนที่ 3 Medical Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น สปา ฟิตเนส และสถานบริการนวดแผนไทย Long stay ซึ่งมีหน่วยงานสำคัญอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมาแนะนำซึ่งจะแนะนำตั้งแต่เรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง แผนการเดินทาง การเตรียมร่างกาย และที่สำคัญคือ เส้นทางในการท่องเที่ยวที่น่าประทับใจใน 5 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้กลุ่มคนสูงวัย ที่ยังมีความกังวลในเรื่องการเดินทางหรือสถานที่ท่องเที่ยว กลัวจะไม่เหมาะสมกับช่วงวัยตัวเอง ได้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หรือแม้กระทั่งกลุ่มสูงวัยที่ยังมีใจรักในการท่องเที่ยว และเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีความสะดวกสบายและได้เดินทางหลากหลายมากขึ้น และจะมีการแนะนำสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยว รายการนำเที่ยวด้วย ซึ่งททท. ได้เปิดตัวโครงการ “เก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวไทย” ภายใต้แนวคิด “วัยเก๋า ไม่ใช่วัยที่ไปเที่ยวไหนไม่ได้” โดยได้เตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มวัยเก๋า ไว้อย่างลงตัว เพื่อให้สามารถท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุขและเหมาะสม
โซนที่ 4 Service จะมีสินค้าและสถานบริการสำหรับดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น Nursing Home วีลแชร์ ติดตั้งบนรถสำหรับผู้พิการ โรงพยบาลที่ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
โซนที่ 5 Nutritional Food ซึ่งจะมีสินค้า และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเสริมและสมุนไพร อาหารเฉพาะโรคมาจัดแสดง และมีการจัดแสดงสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย และมีส่วนประกอบที่ป้องกัน ลดความเสี่ยงโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน รวมถึงสามารถย่อยได้ง่ายเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว เป็นต้น รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน ซึ่งต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพ และวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายเริ่มถดถอย
คุณอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุได้ขับเคลื่อนนโยบายในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามแนวทางประชารัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ อาทิ สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกับผู้ประกอบการได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างสูงอายุที่เข้าทำงาน การสร้างที่พักอาศัยพร้อมสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญเพื่อผู้สูงอายุ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชนที่ประกอบการเกี่ยวกับการจัดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการจัดระบบสวัสดิการ และการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
คุณมรกต สุดดี รองผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงวัย (Silver Age) จึงได้ทำเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย หรือกลุ่มวัยเก๋า ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีพร้อมในทุกด้าน ทั้งเรื่องการเงิน เวลา อีกทั้งยังมีความคิด มีเหตุมีผล และมีความเข้าใจในวัฒนธรรม จารีตประเพณีในแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างดี ที่สำคัญเป็นกลุ่มที่พร้อมจะใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพสูง