ดอยซ์ ลุฟท์ฮันซ่า เอจี กลุ่มธุรกิจการบินระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยบริษัทย่อยในเครือและบริษัทร่วมทุนมากกว่า 550 กลุ่ม ซึ่งแบ่งกลยุทธ์การดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.สายการบินที่มีฐานการบินหลักระดับพรีเมียม (Premium Hub Airlines) 2. ธุรกิจของกลุ่มยูโรวิงส์ (Euroeings group) 3.การให้บริการด้านการบินต่างๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาถือว่ากลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่าทำผลประกอบการได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา ด้วยมูลค่ารายได้ 356,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 13.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4%
คุณสเตฟาน โมลนาร์ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สายการบินในกลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่า จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2561 กลุ่มบริษัทลุฟท์ฮันซ่ามุ่งมั่นที่ขยายการเติบโตขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยการนำเสนอบริการและเส้นทางบินใหม่ และได้นำเครื่องบินแอร์บัส เอ380-800 ซี่งมีทั้งหมด 4 ชั้นโดยสาร คือชั้นเฟิร์สคลาส ชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัดพรีเมี่ยม และชั้นประหยัด ที่รองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 509 คน มาให้บริการระหว่างเส้นทางกรุงเทพฯ และเยอรมันนีด้วย
นอกจากนี้ ลุฟท์ฮันซ่ายังมีบริการ ดรีม คอลเลคชั่น (Dream Collection) อุปกรณ์ที่ออกแบบใหม่สำหรับเส้นทางบินขาเข้าและออกจากกรุงเทพฯ ที่นอกจากจะให้บริการปลอกหมอนแบบใหม่และผ้าห่มขนาดใหญ่ที่พร้อมให้ความอบอุ่น ดรีม คอลเลคชั่น ยังมีผ้าปูรองที่นอนที่มอบความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจบนเที่ยวบินระยะไกลอีกด้วย ทั้งยังมีเสื้อใส่นอนจากแบรนด์ Van Laack ที่พร้อมมอบให้ระหว่างเที่ยวบินระยะไกลเพื่อความสบายมากยิ่งขึ้นในระหว่างการเดินทาง
สำหรับสายการบินในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า ที่ประกอบด้วยสายการบินลุฟท์ฮันซ่า สายการบินสวิส สายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์ส และสายการบินยูโรวิงส์ ปัจจุบันให้บริการเที่ยวบิน 29 เที่ยวบินต่อสัปดาห์จากประเทศไทยสู่ยุโรป และในช่วงฤดูหนาวจะให้บริการเที่ยวบินจากประเทศเวียดนามและประเทศไทยสู่ยุโรป จำนวน 31 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกันในช่วงฤดูร้อนนี้ ยูโรวิงส์ได้ทำการเปิดตัวเที่ยวบินระยะไกลบนเส้นทางบินจากมิวนิค สู่ กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สำหรับตารางบินในช่วงฤดูหนาว ยูโรวิงส์จะรวมการให้บริการเที่ยวบินระยะไกลโดยมุ่งเน้นที่เส้นทางบินจากดุซเซลดอร์ฟแทนเที่ยวบินขาออกนอกประเทศจากเมืองต่างๆ ในประเทศเยอรมันนีด้วย ยูโรวิงส์ยังจะให้บริการเส้นทางบินจากดุซเซลดอร์ฟ มายังกรุงเทพฯ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเป็นการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน
คุณสเตฟาน กล่าวอีกว่า กลุ่มลุฟท์ฮันซ่ายังได้ลงทุน 500 ล้านยูโร หรือมูลค่ากว่า 19,255.34 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลเข้ามาเสริมการบริการ นับตั้งแต่เริ่มต้นการซื้อตั่วโดยสารจนถึงการเดินทางสิ้นสุด ซึ่งเป็นงบลงทุนจนถึงปี 2020 อาทิ การให้บริการจองตั๋วโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น การให้บริการไวไฟบนเครื่อง การบริการ Chat bot “Mildred” การมีหุ่นยนต์ให้บริการข้อมูลชื่อ “Peper” เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับ SCB ในการชำระค่าตั๋วโดยสารและค่าบริการด้านสายการบินต่างๆ ด้วย
ขณะเดียวกันยังได้มีการลงทุนอีก 44,000 ล้านยูโร หรือกว่า 1.69 ล้านล้านบาท สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่นต่างๆ เพิ่มจำนวน 252 ลำ ตามแผนธุรกิจปี 2016-2025 โดยแบ่งเป็นเครื่องบินรุ่น Airbus A350-900 จำนวน 25 ลำ รุ่น Boeing 777-9 จำนวน 34 ลำ รุ่น Boeing 777-300ER จำวน 10 ลำ รุ่น Airbus A320/321+NEO จำนวน 152 ลำ รุ่น Bombardier CS100/300 จำนวน 30 ลำ และรุ่น Airbus A330-300 1 ลำ
สำหรับสายการบินออสเตรียนยังได้ทำการอัพเกรดเครื่องบินพิสัยไกลทั้ง 11 ลำด้วยชั้นโดยสารแบบประหยัดพรีเมียมในช่วงต้นปีนี้ โดยชั้นโดยสารแบบใหม่นี้พร้อมให้บริการบนเส้นทางบินระหว่าง กรุงเทพฯ สู่เวียนนา พร้อมเก้าอี้โดยสารที่มอบความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถโหลดกระเป๋าได้ 2 ใบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และบริการอาหารชั้นเลิศระหว่างเที่ยวบิน โดยกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สายการบินออสเตรียนให้บริการบิน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นสายการบินสัญชาติยุโรปที่อยู่ในระดับ 5 ดาวเพียงรายเดียว ก็คือการปฏิวัติตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะส่งมอบประสบการณ์ในการเดินทางที่พรีเมียมแก่ลูกค้าของเรา เราเข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าการนำเอาความต้องการของแต่ละบุคคลมารวมกับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้เดินทางในปัจจุบัน จากแนวคิดดังกล่าว ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าเรามีโครงการที่น่าจับตามองร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งจะพร้อมให้สัมผัสได้ในไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า” คุณสเตฟาน กล่าวในตอนท้าย