ดูเหมือนว่าตลาดน้ำผลไม้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังไม่กลับมาเติบโตเป็นปกติ แต่ภาพรวมตลาดยังคงติดลบในอัตรา 11% หรือมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท ผลกระทบหลักยังคงเป็นเรื่องของกำลังซื้อที่ยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยกับสินค้าที่จำเป็นก่อน ผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำผลไม้จึงต้องปรับตัวเพื่อรักษาการเติบโต ซึ่งกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ถูกเลือกมาใช้เสมอๆ คือ การออกสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความต้องการใหม่ในฐานลูกค้าเดิม รวมถึงอาจจะได้ฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มด้วย แต่การออกสินค้าใหม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่ได้แตกต่างจากสินค้าคู่แข่ง หรือเป็นสินค้าเดิมๆ ที่มีขายทั่วไปในตลาด ความสำเร็จจากกลยุทธ์ดังกล่าวก็อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
Innovate or Die ปั้นนวัตกรรมหนีตาย
แบรนด์น้ำผลไม้ “มาลี” (MALEE) ที่ใช้กลยุทธ์การออกสินค้าใหม่ เพื่อใช้สร้างการเติบโตให้กับบริษัทเช่นกัน แต่หลังจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กำไรกลับลดลง เพราะผลกระทบจากภาวะกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้ภาพรวมธุรกิจในปีนี้อาจจะมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แบรนด์มาลีต้องมองหาทางออกใหม่ให้ธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าใหม่ธรรมดา แต่ต้องเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม และวางอนาคตให้กับธุรกิจ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ “อาหาร” จะเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก รวมทั้งเทรนด์ความใส่ใจเรื่องสุขภาพของผู้คนที่มาแรงและผู้บริโภคให้คุณความสำคัญกับเรื่องนี้
คุณรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายของมาลี กรุ๊ป คือการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพระดับโลก และการจะไปสู่เป้าหมายได้สินค้าจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นการผลิตสินค้าใหม่จะวนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ คือ การออกสินค้าความเข้มข้น 100% ความเข้มข้น 40% หรือ 0% แคลลอรี่ หรือไม่ก็เป็นการผสมน้ำผลไม้หลายๆ รสชาติ ซึ่งสร้างความแตกต่างได้ยาก
ดังนั้นบริษัทจึงได้ลงทุน 30 ล้านบาทจัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท มาลี แอพพลายด์ ไซเอ็นซ์ จำกัด หรือ MAS ขึ้นมาทำหน้าที่สำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตรรมต่างๆ เพื่อแตกไลน์ หรือ Diversify ไปสู่สินค้าใหม่อื่นๆ และเพิ่มมูลค่าสินค้าสินค้าให้มากขึ้น
“MAS จะพัฒนาสินค้านวัตกรรม เป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (High Value Added Products: HVA) สร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตร รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้ซัพพลายเชนในด้านการจัดหาวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มศักยภาพการรับมือกับการแข่งขันและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้มาลีก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก”
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ครีเอท CSR รูปแบบใหม่ที่เป็น CSR In Process เป็นการทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น เป็นการต่อยอดจากแนวคิด “คิดถึงคนอื่นก่อน” จึง “โตไปด้วยกัน” ที่มาลียึดถือและใช้ในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน (Growing Well Together) ไปพร้อมๆ กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภค ครอบครัวมาลี สิ่งแวดล้อม และเกษตรกร
MAS ทำอะไรบ้าง?
MAS จะพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใน 4 กลุ่มหลัก ที่จะเป็นหัวใจสำคัญให้มาลี กรุ๊ปเติบโต คือ
1.Cluster H (Health & Life-Science Products) เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์จากความก้าวหน้าด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง
2.Cluster E (Environment & Energy) เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีของเหลือทิ้ง (0% waste) เสริมความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
3.Cluster V (Visionary Sciences & Advanced Materials) คิดค้นพัฒนาวัสดุอัจฉริยะหรือวัสดุที่มีน้ำหนักเบาจากวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อเป็นวัสดุทางเลือก โดยเฉพาะการพัฒนา Smart Materials ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจ หรือวัสดุที่ใช้ในด้านทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้มากขึ้นหลายเท่าตัว
4.Cluster I (Internet of Thing & Service หรือ IoT) เพื่อสื่อสารและเชื่อมโยงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวันจากทั่วโลก ให้สามารถควบคุมและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัยได้อย่างอัจฉริยะ โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะเริ่มพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญทางด้านการตลาด เพื่อการพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงระบบการบริหารงานขายต่างๆ
Vintico นำ้ส้มสายชูหมักจากน้ำมะพร้าว
ด้าน ดร.ศุภเกียรติ คำบุทอง กรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า ได้เปิดตัวสินค้าแรกที่ MAS ได้พัฒนาและวางจำหน่าย คือ น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำมะพร้าวแท้ 100% แบรนด์ วินติโค (Vintico) ที่พัฒนาขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาการจัดการวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น น้ำมะพร้าวส่วนเกินจากการผลิตน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ที่มีปัญหาเรื่องของความหวานไม่เป็นไปตามกำหนด ซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อรสชาติจึงได้นำวัตถุดิบดังกล่าวมาผ่านกระบวนการวิจัยขั้นสูง และพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน World Food Innovation Awards 2018 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและ รางวัล SIAL Innovation จากงาน SIAL Expo 2018 ประชาชนจีน ในฐานะผลิตภัณฑ์ที่มีความยอดเยี่ยมด้านคุณภาพและการคิดค้นนวัตกรรมที่โดดเด่น
แนวทางการทำตลาดของของแบรนด์วินติโค จะมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลักในสัดส่วน 80% เนื่องจากผู้บริโภคมีความรู้และเข้าใจในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำตลาดหลักในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา ส่วนตลาดในประเทศไทยจะวางจำหน่ายในกูร์เม่ต์ มาร์เก็ต 3 สาขา และในช่องทางออนไลน์ โดยมีราคาพิเศษช่วงเปิดตัวขวดละ 1,590 บาท ซึ่งเป้าหมายในปีแรกคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ครอบคลุมกับเม็ดที่ลงทุนไปในปีแรก
“เดิมวัตถุดิบทางการเกษตรที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า ชาวบ้านหรือเกษตรกรอาจจะนำไปแปรรูปหรือขายโดยที่มีราคาไม่สูง เช่น กะลามะพร้าว อาจจะนำเอาไปเผาถ่านซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 80 บาท แต่หากเอามาพัฒนาและต่อยอดให้เป็นสินค้าใหม่ โดยเฉพาะวัสดุทางด้านการแพทย์ อาทิ Fiber Medical จะทำให้สินค้าดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 400-500 เท่า ซึ่ง MAS จะนำเอาวัตถุดิบมะพร้าวมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าต่างๆ ก่อนในกลุ่ม Health and Medicine นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังมีผลไม้ประเภทสับปะรดและส้ม ที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาได้ทุกส่วนเหมือนกัน”