อเล็กซานดรา ไรช์ เพิ่งรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา นับจากวันนั้นถึงวันนี้(28 สิงหาคม) เท่ากับว่า เธอดำรงตำแหน่ง CEO ของดีแทคเป็นเวลาแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่ช่วงฮันนีมูน พีเรียดของเธอสั้นนัก เมื่อเทียบสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่แสนจะดุเดือดในประเทศไทย รวมทั้งเรื่องใหญ่ที่เธอต้องเผชิญหน้า เมื่อเข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของดีแทค ในช่วงเวลาที่ดีแทคหมดสัมปทานจากคลื่นความถี่ 1800 MHz พอดี จึงเป็นที่มาของ 3 เป้าหมายสำคัญของเธอ ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน
3 เป้าหมายสำคัญของซีอีโอคนใหม่
1.คุ้มครองลูกค้า อเล็กซานดรา กล่าวว่า “ฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดี ฉันเชื่อว่า กสทช. และ กสท.รับทราบและพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้าของเราอยู่แล้ว ดังนั้นก็คงต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานของเรา และรัฐ”
2. พาองค์กรก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และตรงไปตรงมากับลูกค้า
3. มองเป้าหมายระยะยาว ซึ่งซีอีโอคนใหม่ขอเวลาในการเรียนรู้องค์กรดีแทค รวมทั้งตลาดในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ประวัติที่ผ่านมาของเธอ ที่เป็นคนรักความท้าทาย เปลี่ยนงานหรืออย่างน้อยก็ขยับตำแหน่งแทบจะทุกๆ 3 ปี ของเธอก็น่าจะบอกได้เป็นอย่างดีว่า เธอชอบที่จะเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับหน้าที่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งแบรนด์ดีแทค ในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่สุดหิน แต่แบรนด์นี้ก็เป็นแบรนด์ที่ ซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอของเทเลนอร์ ปั้นขึ้นมาเองกับมือ รวมทั้งมีความผูกพันเป็นอย่างยิ่ง การเลือกให้ ซีอีโอ ผู้หญิงที่ชอบเผชิญหน้าความท้าทายเช่นนี้ มานำทัพในช่วงเวลาสำคัญก็น่าจะมีนัยยะสำคัญ
ปลุกจุดแข็งของดีแทค ให้กลับมาฮึดอีกครั้ง
โดยเป้าหมายในระยะยาวของดีแทค ก็คือ การกลับเข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งเริ่มต้นจากการหยุดเทรนด์ที่ตอนนี้ “ดีแทค” กำลังตกเป็นรองคู่แข่งให้ได้ จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด เมื่อดีแทคเพลี่ยงพล้ำชะลอการลงทุนไปพักใหญ่ ทำให้ตกอันดับจากผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาด มาอยู่เบอร์ 3 การจะพลิกสถานการณ์ให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อคู่แข่งก็ไม่แตะเบรคการพัฒนาเช่นกัน
“ฉันเป็นคนชอบการแข่งขัน และเกลียดความพ่ายแพ้ การเป็นเบอร์ 3 มันเฮิร์ต แต่…เราจะโฟกัสที่ผู้บริโภคก่อน และทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจที่สุด” ซีอีโอหญิง ที่อีกด้านหนึ่งเธอเป็นนักกีฬาตัวฉกาจ กล่าว
เพื่อที่จะกลับมาอยู่บนเส้นทางการแข่งขันอีกครั้ง สิ่งที่เธอทำ ก็คือ การตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจลูกค้าเชิงลึก (deep customer insight) ซึ่งหน่วยงานนี้มีความอิสระที่จะครีเอทแนวทางใหม่ๆ คิดอะไรที่ Cross Function รวมทั้งในแง่มุมอื่นๆ ก็จะลดการทำงานที่เป็นแนวดิ่งแบบ Silo ลง เพิ่มแนวคิด Design Thinking ให้กับทีมงาน และคิดจากความต้องการของลูกค้า หรือ Outside-In โดยอาศัยจุดแข็งของดีแทคที่มีฐานลูกค้า 21.6 ล้านรายและพนักงานที่มีคุณภาพ
“ดีแทค มีดีพอที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล”
“จุดแข็งของดีแทคคือเรามีรากเหง้าที่ดี (Great DNA) มีความใส่ใจลูกค้า(Care of Customer) และเป็นคนที่มีพื้นฐานของความสุข (Happiness) ซึ่งหน้าที่ของฉันก็คือ ชักจูงให้พนักงานของเราทุกคนกลับสู่ก้าวย่างของการแข่งขันอีกครั้งให้ได้ และนี่ก็เป็น KPI ของฉันด้วย ซึ่งคงใช้วลาประมาณ 6 เดือน”
“1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันพูดคุยกับผู้คนมากมาย สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพนักงานและวัฒนธรรมของคนไทยก็คือ อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา ซึ่งฉันค้นพบว่า คอนเนกชั่นและความใส่ใจคนในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญของคนไทย ซึ่งใกล้เคียงกับวัฒนธรรมและตัวตนของฉันเช่นกัน ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ที่บ้านเกิด”
โฟกัสลูกค้าต่อเนื่อง
ดีแทคขึ้นชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่พูดถึงเรื่อง “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” (Customer Centric) มาโดยตลอด แต่ อเลกซานดร้า มองว่า อาจจะยังไม่ต่อเนื่องนัก นับจากนี้ก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน และโฟกัสที่ลูกค้ามากกว่าที่เคย
“ถ้าถามว่าเป้าหมายในเรื่องการปกป้องลูกค้า(จากการที่สัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดลง) และการแข่งขัน เราโฟกัสที่เรื่องใดมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการให้บริการลูกค้า เรามองที่ตัวเราเองว่าจะทำอย่างไรเพื่อผู้บริโภค มากกว่าให้ความสนใจคู่แข่ง แต่เราก็รู้ดีว่าครึ่งปีหลังในปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก”
เธอกล่าวถึงลูกค้าดีแทค ปิดท้ายว่า “ฉันอยากบอกว่า เราแคร์คุณมากกกกกกจริงๆ คุณคือคนสำคัญของเรา และฉันสัญญาว่า ดีแทค จะกลับมา ใจดี อีกครั้ง” ซึ่งคำว่า ใจดี ที่เธอพูดนั้น เธอพูดเป็นภาษาไทย