โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้พวกเราทุกคนต้องปรับตัว ธุรกิจก็เช่นกัน โอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกไร้พรมแดนเกิดขึ้นควบคู่กับอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันและรับมือให้ได้
การส่งออกของไทยมีแนวโน้มสดใสในปี 2561
ข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 จากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีการขยายตัวกว่าร้อยละ 8.3 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 20.4 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้ 7 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 10.6 นับว่าสูงสุดในรอบ 7 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังขยายตัวดี โดยเฉพาะญี่ปุ่นและอาเซียน ที่ขยายตัวระดับ 2 หลัก นับเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะดูแล้ว 7 เดือนแรก ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ แม้ตลาดสหรัฐฯ และจีน จะชะลอตัวอยู่บ้าง แต่การกระจายตัวในตลาดใหม่ ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ แอฟริกา รัสเซีย ลาตินอเมริกา และแคนาดา มีการขยายตัวในอัตราสูงและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมแนวโน้มการส่งออกปี 2561 ยังขยายตัวได้ตามเป้าหมาย คือ ร้อยละ 8-9
ก้าวให้ทันเทรนด์การค้าใหม่ๆ พร้อมตั้งรับความเปลี่ยนแปลง
นอกจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม และสินค้าในกลุ่มเกษตร จะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นแล้ว ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้กล่าวถึง 9 เทรนด์อุตสาหกรรมในปี 2561 ที่จะสามารถสร้างมูลค่าและเป็นที่นิยมของกระแสโลก ได้แก่ ศิลปะและหัตถกรรม (Art & Craft) ความงามและแฟชั่น (Beauty & Fashion) สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing) การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ (Transport & Space) อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) ท่องเที่ยว (Travel) สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง (Architecture & Decoration) สื่อและความบันเทิง (Media & Entertainment) และอาหาร (Food)
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างชื่อให้แก่คนไทย ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายราย ที่เดินหน้าจับกระแสโลก และต้องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สินค้าของเราสามารถต่อสู้กับคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เท่าทันคู่แข่ง
4 เปลี่ยน…เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
เมื่อสถานการณ์การส่งออกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับเทรนด์การค้าใหม่ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้ามา สิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกที่จะรับมือกับการแข่งขันในปัจจุบัน คือ การเดินหน้าพัฒนาตนเองเพื่อให้ก้าวทันคู่แข่ง และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจ ด้วยแนวทาง “4 เปลี่ยน” เพื่อการปรับตัว สู่ธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต เตรียมพร้อมทางเลือกใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้าน “ตลาด” “สินค้า” “กลยุทธ์” และ “ช่องทางการตลาด”
เปลี่ยนตลาด ตลาดหลักที่อิ่มตัว ทำให้ต้องขยายตลาดใหม่ ควบคู่ไปกับรักษาตลาดหลักที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงและขยายฐานลูกค้า ดังนั้น เมื่อเราพบว่า ตลาดหลักที่เต็มไปด้วยผู้เล่นหลากหลายเริ่มอิ่มตัว มีการแข่งขันมาก และมีมาตรฐานสินค้าสูง ผู้ส่งออก ควรมองหาตลาดใหม่ซึ่งอยู่ในระหว่างขาขึ้น มีคู่แข่งไม่มาก และเจาะกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น โดยตลาดดาวรุ่ง อาทิ อาเซียน โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ อาทิ อินเดีย และบังกลาเทศ รวมถึงแอฟริกา อาทิ เคนยา และโมซัมบิก
เปลี่ยนสินค้า จากเดิมที่รับจ้างผลิต ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ก็เปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง พัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเน้นแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าราคา รวมถึงสอดคล้องกับกระแสผู้บริโภค อาทิ สังคมสูงวัย และ Internet of Things เป็นต้น สินค้าดาวรุ่ง ได้แก่ สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้า
เปลี่ยนกลยุทธ์ จากเดิมที่เน้นการส่งออกอย่างเดียว หันมาใช้การลงทุนในประเทศปลายทาง และการส่งออกบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อปูทางในการส่งออกสินค้าโดยการพ่วงการขายสินค้าเข้าไปด้วย ถือเป็นการเลี่ยงการกีดกันทางการค้า เลี่ยงปัญหาเชิงโครงสร้าง และขยายโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจ บริการดาวรุ่ง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาหรือจัดงานแต่งงาน การจัดอีเวนท์ ผลิตสื่อดิจิทัล ก่อสร้างงานระบบโรงไฟฟ้า
เปลี่ยนช่องทาง สุดท้ายคือการมองหาช่องทางเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นจากเดิมที่เคยขายผ่านหน้าร้านหรือขายผ่านคนกลางเพียงอย่างเดียวสู่การเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไว้ด้วยกันพร้อมกับการเลือกช่องทางโฆษณาที่เหมาะสมให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซดาวรุ่งในปัจจุบัน ได้แก่ Thaitrade (ก.พาณิชย์) Tmall (Alibaba) และ Amazon
สำหรับแนวคิด “4 เปลี่ยน” ถือเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจก้าวขึ้นมาเป็น Smart Exporter ได้ และในขณะเดียวกันการ เตรียมพร้อมกับความเสี่ยงก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราสามารถหาแนวทางรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเจอ ไม่ใช่เพียงแค่การปรับตัวเท่านั้น แต่ในกระบวนการการส่งออกกลับซับซ้อนมากกว่าที่คิดตั้งแต่การจัดตั้งกิจการ กฎระเบียบที่ต้องรู้ การศึกษาข้อมูลตลาด และมารยาทในการติดต่อธุรกิจ รวมไปถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งเรื่องของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารความเสี่ยงจากการขนส่ง และการบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า
ความยุ่งยากเหล่านี้ อาจบั่นทอนและทำให้ผู้ส่งออกพับเก็บโครงการล่าถอยไป แต่ถ้าหากเรามีเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ส่งออกทำงานได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย” หรือ “EXIM BANK” เป็นสถาบันการเงินที่พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันได้และประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจ
จุดเปลี่ยน EXIM BANK ตอบโจทย์โลกการค้ายุคใหม่
สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารในหลายๆ มิติ อาทิ ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ การขยายสาขาไปต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลมากขึ้น สินเชื่อเพื่อการลงทุนแข่งขันสูง ความท้าทายในการควบคุมคุณภาพหนี้ คู่แข่งมีหลากหลายขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจธนาคารต้องปรับตัว รวมทั้ง EXIM BANK
EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 ให้บริการทางการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อสนับสนุนธุรกิจของคนไทยทั้งในและต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สนับสนุนการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศหรือประหยัดเงินตราต่างประเทศ
ในปี 2560 EXIM BANK ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรโดยมุ่งขยายบทบาทองค์กรให้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยปรับบทบาทไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่าง (Fill Gap) และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Catalyst) เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยในปี 2570 ตามแผนแม่บท 10 ปีของธนาคาร
บริการของ EXIM BANK อาทิ สินเชื่อเพื่อการส่งออก-นำเข้า เพื่อใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก นำไปใช้จัดเตรียมสินค้าหรือบริการทั้งช่วงก่อนและหลังการส่งออก สินเชื่อระยะกลาง-ยาว เพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตการลงทุน เช่น ขยายโรงงาน การซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ บริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ บริการออกหนังสือค้ำประกัน บริการเพื่อการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ บริการรองรับการนำเข้าสินค้าสำหรับใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกหรือนำเข้าเพื่อการพัฒนาประเทศ เพื่อสั่งซื้อสินค้า วัตถุดิบ หรือเครื่องจักรจากผู้ขายในต่างประเทศ บริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน บริการประกันการส่งออกและลงทุน บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ สินเชื่อเพื่อการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เช่น พลังงาน พลังงานทดแทน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสินเชื่อพาณิชยนาวี
ภายใต้บทบาทใหม่ EXIM BANK พัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และบางครั้งการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือที่เพียงพอ ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจได้ ในทางกลับกัน การเตรียมตัวรับมือที่ดี ย่อมสร้างโอกาสที่ดีกว่าคู่แข่งขัน