ธุรกิจอาหาร เรื่องรสชาติ ต้องมาเป็นที่ 1 เพราะถ้าไม่อร่อย คือ จบ!! เครื่องมือการตลาดอะไรก็เอามาเข็นยอดขายไม่ขึ้น แต่จะเอารสชาติเดิมๆ ทำตลาดแบบอยู่ยงคงกระพัน หากินยาวๆ ก็ไม่ใช่แน่ เพราะคนเดี๋ยวนี้เบื่อง่ายหน่ายเร็ว ตัวเลือกก็เยอะ อะไรที่ “ใหม่กว่า-ดีกว่า-อร่อยกว่า” มักมาแทนที่ของเก่า หรือรสชาติเดิมๆ เสมอ สิ่งที่นักการตลาดคิดกันอยู่เสมอ คือ ทำยังไงจะ “รักษาฐานลูกค้าเก่า และขยายฐานได้ลูกค้าใหม่” ธุรกิจอาหารจึงต้องมี “เมนูใหม่-รสชาติใหม่” ออกมากระตุ้นยอดขายกันเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันรสชาติหลักก็ต้องถูกปากนักชิมแบบยาวๆ
แนวคิดดังกล่าวประยุกย์ใช้ได้กับแทบทุกธุรกิจอาหาร ไม่เว้นแม้แต่ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตั้งแต่ต้นปี-ไตรสาม 3 มีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 3-4% แบ่งสัดส่วนเป็นประเภทซอง 45-46% ประเภทถ้วย 51-52% ที่เหลือเป็นกลุ่มสินค้าขายให้กับร้านค้าร้านอาหารต่างๆ แนวโน้มตลาดในปีนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ ออกสินค้าใหม่มาทำตลาด มีแคมเปญส่งเสริมการตลาด ส่งผลให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเลยคึกคักขึ้น ดีไม่ดีตัวเลขจบสิ้นปีนี้อาจจะไปแตะ 20,000 ล้านบาทได้เหมือนกัน แต่คงต้องมาลุ้นโค้งท้ายของปีนี้ ว่าตลาดจะคึกคักแค่ไหน โดยปีที่แล้วตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่า 17,080 ล้านบาท เติบโต 4.3% แบ่งเป็นสัดส่วนประเภทซอง 45.8% และประเภทถ้วย 51.2%
รสใหม่คนไทยนิยมความ “แซบ”
กลยุทธ์การออกสินค้ารสชาติใหม่ เป็นหนึ่งความสำเร็จในการเพิ่มยอดขาย ของสินค้ากลุ่มอาหาร เพราะลูกค้ามักจะชอบลองของใหม่ๆ การออกสินค้าใหม่จึงเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่ทุกแบรนด์ต้องนำมาใช้ แต่ใครจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการวิจัยและพัฒนา ว่าสามารถออกสินค้ามาตอบโจทย์ลูกค้าได้แค่ไหน สำหรับแบรนด์มาม่า ล่าสุดได้ออกสินค้าใหม่ “มาม่าเส้นเล็ก รสเล้งแซบ” ชนิดถ้วย มารองรับกับเทรนด์ปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมกินเล้ง ซึ่งคือต้มซุปกระดูกหมูรสแซบ
คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า เล่าให้ฟังว่า สินค้ารสจัดเป็นเทรนด์การบริโภคยอดนิยมของคนไทยอยู่แล้ว ปัจจุบันคนนิยมกินเล้งและมีร้านเล้งเกิดขึ้นมากมาย มาม่าจึงได้พัฒนาสินค้ารสชาติเล้งแซบออกมาทำตลาดล่าสุด ก่อนจะออกสินค้ารสเล้งแซบ มีการเลือกว่าจะใช้เส้นบะหมี่หรือเส้นขาว ซึ่งปรากฏว่าเส้นเล็กเข้ากับรสชาติเล้งได้ดีกว่า และทำออกมาเป็นชนิดถ้วย เพราะมีเครื่องปรุงและส่วนผสมอื่นๆ ใส่เข้าไปทำให้ได้ความเป็นต้มเล้งแซบมากกว่าชนิดซอง
“การออกสินค้าใหม่คงต้องดูการตอบรับจากลูกค้า อาจจะขายช่วงสั้นๆ หรือขายระยะยาว บางครั้งรสชาติใหม่วางขายสั้นๆ 3 เดือน สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดหลายเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องวางแผนวางสินค้าให้ดี ในอดีตเคยออกรสชาติโป๊ะแตก เดือนแรกสามารถขายได้ถึง 60,000 หีบ จากปกติสินค้ารสอื่นๆ ขายได้ 20,000 หีบ ช่วงนั้นเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ได้ถึง 4-5%”
แข่งกัน “แซบ” เพิ่มยอดขาย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสชาติที่ครองใจและทำยอดขายอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นรสหมูสับและรสต้มยำกุ้ง เป็น 2 รสชาติที่คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบเสมอมา สำหรับแบรนด์มาม่ายอดขายดี 3 อันดับแรกจะเป็น 1.ต้มยำกุ้ง 2.หมูสับ และ 3.ต้มยำกุ้งน้ำข้น ทั้งหมดนี้ทำยอดขายคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของพอร์ตทั้งหมดทุกรสชาติที่มีกว่า 20 รสชาติ แต่จากรสนิยมคนไทย ชื่นชอบความแซบ รสชาติต้องเผ็ดต้องเปรี้ยว ทำให้แม้แต่รสต้มยำ ยังออกลูกออกหลานแตกรสชาติสารพัด นับดูแล้วเป็นชนิดซองไม่ต่ำกว่า 16 รสชาติ และชนิดถ้วยอีกกว่า 12 รสชาติ อาทิ ต้มยำกุ้งเอ็กซ์ตรีม หมูสับต้มยำ หมูต้มยำ และต้มแซบ เป็นต้น
ฝั่ง 2 แบรนด์รอง อย่าง “ไวไว-ยำยำ” แม้ว่าจะวัดระดับความ “แซบ” มีไม่มากเท่าผู้นำตลาดอย่างมาม่า แต่ก็พยายามดิ้นสู้ มีสูตรสินค้ารสแซบที่แตกต่างออกมาแข่ง อย่างไวไว นอกจากรสต้มยำกุ้งเป็นพื้นฐานแล้ว มีรต้มยำพริกเผา ต้มยำมันกุ้ง ต้มโคล้ง หมูสับต้มยำ และกุ้งนึ่งมะนาว ส่วนยำยำ มี 4 รสชาติเหมือนกับมาม่า คือ ต้มยำกุ้ง ต้มยำกุ้งน้ำข้น เย็นตาโฟต้มยำ และผัดขี้เมาแห้ง แต่ก็มีสินค้ารสชาติที่ผู้นำตลาดไม่มี ได้แก่ หมึกมะนาว ต้มยำไก่ซุปเปอร์ ต้มยำทะเลหม้อไฟ สุกี้ทะเล และหมูสับต้มยำ
สู้บะหมี่เกาหลี-พรีเมี่ยม
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บะหมี่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบะหมี่ของเกาหลี เข้ามาบุกตลาดเมืองไทย กินส่วนแบ่งตลาดไปได้ถึง 10% ของตลาดรวม ด้วยรสชาติอันเผ็ดแซบ และขนาดใหญ่ รวมถึงการชื่นชอบในวัฒนธรรมเกาหลี ทำให้คนไทยนิยมหันมากินบะหมี่เกาหลีมากขึ้น แม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะวางตำแหน่งเป็นสินค้าพรีเมียม ด้วยราคาขายมากกว่า 25 บาทก็ตาม คนไทยก็ยังนิยมเลือกซื้อ ซึ่งผู้นำตลาดอย่างแบรนด์มาม่า ก็ลุยมาลงตลาด ส่งแบรนด์โอเค (OK) หรือ โอเรียลทัลคิตเช่น (Oriental Kitchen) มาตั้งรับกับการบุกตลาดของบะหมี่เกาหลี ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว แบรนด์นี้ออกมานับ 10 ปีแล้ว แต่กระแสของคนไทยยังไม่ได้ถูกปลุกให้เกิดความต้องการ
เมื่อลงมาลุยตลาดอย่างเต็มที่ แบรนด์มาม่าจึงออกสินค้าใหม่ในปีนี้ เป็นโอเรียลทัลคิตเช่น 2 รสชาติ คือ รสฮอตโคเรียน และกุ้งผัดซอสต้มยำ ซึ่งยังคงความ “แซบ” แบบฉบับเกาหลีเอาไว้ ตอบรับความต้องการของลูกค้าคนไทยเหมือนเดิม จากก่อนหน้านี้ตระกูล OK มีรสชาติสไปซี่มิโสะ โคเรียลสไปซี่ ฮอตแอนด์สไปซี่ และสไปซี่ซีฟู้ดส์ ทำตลาดอยู่แล้ว โดยภาพรวมปีนี้แบรนด์มาม่าจึงออกรสชาติใหม่มาทำตลาดรวม 3 รสชาติ ซึ่งล้วนแต่ “แซบ” และ “เผ็ดร้อน” ทั้งสิ้น
คงต้องตามลุ้นกันต่อว่า สงครามบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ต่างๆ ในตลาดจะมีรสชาติความ “แซบ” อะไรออกมายั่วน้ำลายคนไทย ซึ่งเชื่อว่าแต่ละแบรนด์ไม่หยุดแค่นี้แน่ เรายังคงขาดรสชาติความแซบอีกหลายอย่าง อย่าง รสหมาล่า นี่ก็ยังไม่เห็น รสพริกกะเหรี่ยงที่อยู่กับคนไทยมานาน ก็ยังไม่มีใครทำออกมา ก็คงต้องรอลุ้นรอชิมกันต่อไป